xs
xsm
sm
md
lg

พบ "แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน" แมงมุมพิษร้ายแรงในถ้ำเขตทหาร จ.กาญจนบุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียนเพศเมีย
พบ "แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน" แมงมุมพิษร้ายแรงสำคัญระดับโลกครั้งแรกในไทย หลังลงพื้นที่สำรวจพบในถ้ำเขตทหาร อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เตือนประชาชนระวังหากโดนกัดอาจเนื้อเยื่อตายเฉพาะส่วน แต่อย่าตระหนกเกิน ระบุโลกยกให้เป็นแมงมุมตัวสำคัญทางการแพทย์

ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพสธ.) แถลงข่าวการค้นพบ "แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน" ครั้งแรกในประเทศไทย ณ ห้อง 217 ตึกเคมี 2 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 ม.ค.59

ดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านกีฏวิทยา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในบริเวณถ้ำภายในพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอัน เนื่องมาจากพระราชดำาริฯ (อพ.สธ.) อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เมื่อช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกีฏวิทยาฯ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นำโดย นายนรินทร์ ชมภูพวง นิสิตระดับปริญญาเอก ได้ค้นพบ "แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน" (Mediterranean recluse spider) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "ลอกโซเซเลส รูเฟสเซนส์" (Loxosceles rufescens) ซึ่งเป็นแมงมุมที่ไม่เคยมีประวัติการค้นพบในประเทศไทยมาก่อน

"ในต่างประเทศให้ความสนใจกับแมงมุมนี้มาก เพราะมีรายงานการกัดทุกปีซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่ไปพบแพทย์จะทำให้เกิดอาการอักเสบ เนื้อเยื่อตาย ซึ่งอาจจะนำมาสู่การติดเชื้อจนเสียชีวิตได้ เคยมีคนตายเพราะไม่ยอมไปหาหมอ จากเนื้อตายธรรมดาเลยติดเชื้อตาย แต่สรุปคือตายเพราะติดเชื้อ ไม่ได้ตายเพราะแมงมุม" ดร.ณัฐพจน์กล่าว

สำหรับแมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียนมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่ในขณะนี้พบว่ามีการแพร่กระจายในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ, เม็กซิโก, ประเทศในแถบยุโรป และออสเตรเลีย รวมถึงอีกหลายประเทศทางแถบเอเชียได้แก่ จีน, ไต้หวัน, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

ส่วนการค้นพบครั้งนี้ ดร.ณัฐพจน์กล่าวว่าถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจบริเวณโดยรอบและถ้ำอีก 5 ถ้ำบริเวณใกล้เคียงกันทำให้ทราบว่าแมงมุมชนิดนี้มีการกระจายตัวภายในถ้ำที่ค้นพบเท่านั้น ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตทหารที่ประชาชนทั่วไปเข้าไปไม่ได้

"เราสันนิษฐานว่าแมงมุมชนิดนี้อาจเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ในระหว่างที่มีการขนส่งวัสดุและยุทโธปกรณ์จากญี่ปุ่นมายังไทยโดย เพราะถ้ำนี้ถูกใช้เป็นสถานที่เก็บอุปกรณ์การก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะ เพราะแมงมุมชนิดนี้มีรายงานการพบในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งงานวิจัยนี้ถือเป็นการค้นพบแมงมุมที่สาคัญทางการแพทย์ และได้รับการตอบรับตีพิมพ์ลงในวารสารวิจัยระดับโลก" ดร.ณัฐพจน์ กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

สำหรับความเสี่ยงต่อการเป็นสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (invasive species) ดร.ณัฐพจน์ ระบุว่ามีโอกาสเป็นไปได้ แต่ยังไม่มีการระบาดไปยังนอกพื้นที่ในตอนนี้ เพราะเท่าที่ลงพื้นที่สำรวจทั้งบริเวณถ้ำที่พบแมงมุม และถ้ำใกล้เคียงอีกจำนวน 5 ถ้ำในรัศมีประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร ยังไม่พบแมงมุมชนิดนี้แต่อย่างใดนอกจากถ้ำที่พบ ทำให้อนุมานได้ว่าแมงมุมยังไม่มีการอพยพนอกพื้นที่

"อีกทั้งถ้าสันนิษฐานจากข้อมูลที่คาดว่าแมงมุมน่าจะเข้ามาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จะทำให้ยิ่งอุ่นใจขึ้นไปอีก เพราะขนาดเวลาผ่านไปแล้วเป็นเวลานานแมงมุมก็ยังไม่มีการระบาดออกไปยังพื้นที่อื่น ฉะนั้นจึงอยากให้เรียกแมงมุมชนิดนี้ว่าเป็น สัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ถูกนำเข้ามา (introdused species)" ดร.ณัฐพจน์กล่าว

ด้านนายนรินทร์ ชมภูพวง นิสิตปริญญาเอกผู้ค้นพบ กล่าวเสริมว่า แม้แมงมุมชนิดนี้จะมีชื่อเสียงในด้านพิษที่มีรุนแรง แต่ข้อมูลจากงานวิจัยและการเก็บสถิติเป็นเวลากว่าสิบปีในต่างประเทศ พบว่าคนที่โดนแมงมุมชนิดนี้กัด มีเพียง 10% เท่านั้น ที่จะเกิดแผลที่รุนแรงจนต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ โดยส่วนใหญ่แผลที่กัดจะเป็นเพียงตุ่มแดงคล้ายยุงกัดและหายได้ในเวลาไม่นาน

ในประเทศบราซิลมีรายงานว่าอัตราการตายของคนที่ถูกแมงมุมชนิดนี้ กัดต่ำมากเพียง 0.05% หรือ 47 ราย จากทั้งหมด 91,820 ราย เนื่องจากแมงมุมชนิดนี้มีลักษณะนิสัยที่มักจะหลบซ่อนตามซอกมุมหากินกลางคืน ไม่มีนิสัยดุร้าย การโดนกัดส่วนใหญ่จะเกิดจากการสัมผัสโดยตรง หรือโดนตัวแมงมุมโดยบังเอิญจากการสวมรองเท้าหรือเสื้อผ้าที่มีแมงมุมเข้าไปอาศัย

"จากการสำรวจโดยทีมนักวิจัยในขณะนี้พบว่า แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียนมีการกระจายตัวในประเทศไทยในพื้นที่ที่แคบมาก ดังนั้นจึงไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกมากเกินไป แต่การทราบถึงสถานะและการกระจายตัวของแมงมุมชนิดนี้ถือว่า เป็นข้อมลูที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างมากในการเฝ้าระวังและช่วยในการวินิจฉัยอาการของแพทย์ในกรณีที่มีผ้ถูกแมงมุมกัด" นายนรินทร์กล่าว

นรินทร์กล่าวว่าถ้ำที่พบแมงมุมเป็นถ้ำเล็กๆ ยาวประมาณ 25 เมตรในพื้นที่ อพสธ. พบแมงมุมชักใยเป็นเหมือนเส้นด้ายอยู่ประมาณ 500 ตัว โดยแมงมุมในสกุลลอกโซเซเลส นี้มีรายงานการพบแล้วมากกว่า 100 ชนิด แต่มีชนิดเดียวคือชนิดนี้ที่พบการกระจายตัวได้แล้วทั่วโลก ซึ่งปีที่แล้วได้พบในไทยเขาจึงดำเนินงานวิจัยเพื่อศึกษาต่อ

"วินาทีแรกที่เห็นตกใจพอสมควร เพราะเคยเห็นแมงมุมมาเป็นพันๆ ตัว แต่ไม่เคยเจอแมงมุมลักษณะนี้มาก่อน เมื่อพบจึงเก็บมาเพื่อจัดจำแนกชนิดพันธุ์ด้วยการใช้อวัยวะสืบพันธุ์ จนในที่สุดทราบได้แน่ชัดว่าเป็นแมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน การรายงานครั้งนี้จะทำให้โลกเกิดการเฝ้าระวัง และจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ง่ายมากขึ้น ส่วนการตีพิมพ์ตอนนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขขั้นตอนสุดท้าย ในการตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ในอนาคตจะใช้ดีเอ็นเอศึกษาว่ามาจากทางรถไฟสายมรณะจริงหรือไม่" นรินทร์กล่าว

หากโดนแมงมุมชนิดนี้กัดนายนรินทร์กล่าวว่าแพทย์จะรักษาตามอาการเหมือนแผลอักเสบ เพราะขณะนี้ไม่มีเซรุ่มใดๆ ที่รักษาพิษแมงมุม นอกจากนี้เขายังเผยด้วยว่าไม่อยากให้ประชาชนทั่วไปตื่นตระหนก หรือทำลายแมงมุมทุกชนิดเพราะแมงมุมเป็นผู้สำคัญในระบบนิเวศ และเป็นผู้ควบคุมประชากรแมลงในระบบนิเวศ

ส่วนโอกาสหลุดรอดมาสู่ชุมชนเมืองนั้น พล.ต.ณัฐพัชร สกุลรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการ กองบัญชาการกองทัพไทย กล่าวว่าเป็นไปได้ยาก เพราะถ้ำดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ของกองทัพ ซึ่งมีทหารดูแลเป็นอย่างดี นอกจากนี้นายนรินทร์ยังเผยอีกว่า ด้วยอุปนิสัยรักสงบ หากินกลางคืน และอยู่ประจำถิ่นของแมงมุมชนิดนี้ทำให้ความเป็นไปได้ที่จะอพยพไปนอกถ้ำมีน้อยลง

***ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับแมงมุมสันโดษเมดิตอร์เรเนียน***

แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียนส่วนใหญ่จะมีสีเหลืองน้ำตาล ลำตัวของแมงมุมชนิดนี้บางตัวจะมีสีน้ำตาลเข้มมองแล้วคล้ายกับไวโอลิน จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า แมงมุมไวโอลิน แต่บางตัวจะมีสีซีดทำให้มองเห็น ลักษณะไวโอลินได้ไม่ชัดเจน ขนาดตัวประมาณ 7–7.5 มิลลิเมตร (จากส่วนฐานของเขี้ยวถึงปลายท้อง) ลำตัวมีลักษณะแบนเรียวลู่ คล้ายลูกศร ในบริเวณส่วนบนที่เป็นที่ตั้งของตา แมงมมุชนิดนีมีตา 3 คู่รวม 6 ตา (1คู่อยู่ด้านบน อีก 2 คู่อยู่ขนานกันด้านล่าง) ขามี 4 คู่ เรียวและยาวไปทางด้านข้าง ส่วนท้องมีลักษณะรีมีขนกระจายทั่วท้อง ซึ่งการระบุและจำแนกชนิดของแมงมุมอย่างชัดเจน จำเป็นต้องศึกษาลักษณะของอวัยวะสืบพันธุ์ของตัวผู้หรือตัวเมีย

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยย้ำว่าการพบเจอแมงมุมสีน้ำตาลทั่วไปในบ้านเรือนที่มีลักษณะภายนอกที่ใกล้เคียงกับลักษณะที่บรรยายมา ไม่ได้เป็นการยืนยันอย่างแน่นอนว่าแมงมุมที่พบเป็นแมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน ฉะนั้นหากประชาชนท่านใดพบและสงสัยว่าเป็นแมงมุมชนิดนี้สามารถส่งตัวอย่างมาเพื่อตรวจสอบและยืนยันได้ที่

"ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกีฏวิทยาฯ คณะวิทยาศาสตร์จฬุาลงกรณ์มหาวิทยาลยั แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330”
แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียนเพศเมีย
แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียนเมื่อเทียบกับเหรียญบาท
แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน
แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียนเพศผู้เมื่อเทียบกับเหรียญบาท
แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียนเพศเมีย เมื่อเทียบกับเหรียญบาท
แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียนใต้กล้องจุลทรรศน์สเตอริโอ
แมงมุมเพศผู้  (ด้านซ้าย) แมงมุมเพศเมีย (ด้านขวา)


นายนรินทร์ ชมภูพวง นิสิตระกับปริญญาเอก ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา  คณะวิทยาศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ลักษณะอาการตายเฉพาะส่วนของเนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกกัด

ลักษณะแผลทั่วไปเมื่อถูกกัดโดยแมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน




























กำลังโหลดความคิดเห็น