ทีมนักวิจัยจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกีฏวิทยาฯ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นำโดย นายนรินทร์ ชมภูพวง นิสิตระดับปริญญาเอก ได้ค้นพบ "แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน" (Mediterranean recluse spider) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "ลอกโซเซเลส รูเฟสเซนส์" (Loxosceles rufescens) ระหว่างการลงพื้นที่สำรวจในพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอัน เนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เมื่อช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา
สำหรับแมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียนมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่ในขณะนี้พบว่ามีการแพร่กระจายในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ, เม็กซิโก, ประเทศในแถบยุโรป และออสเตรเลีย รวมถึงอีกหลายประเทศทางแถบเอเชียได้แก่ จีน, ไต้หวัน, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ส่วนการค้นพบครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
พิษของแมงมุมจะทำให้เกิดตุ่มแดงคล้ายยุงกัดและหายได้ในเวลาไม่นาน แต่ในบางรายอาจเกิดอาการอักเสบ และหากไม่ไปพบแพทย์จะทำให้เนื้อเยื่อตาย ซึ่งอาจจะนำมาสู่การติดเชื้อจนเสียชีวิตได้ แต่ นายนรินทร์ ผู้ค้นพบ กล่าวว่าแมงมุมชนิดนี้จะมีชื่อเสียงในด้านพิษที่มีรุนแรง แต่ข้อมูลจากงานวิจัยและการเก็บสถิติเป็นเวลากว่าสิบปีในต่างประเทศ พบว่าคนที่โดนแมงมุมชนิดนี้กัดมีเพียง 10% เท่านั้น ที่จะเกิดแผลที่รุนแรงจนต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์
ในประเทศบราซิลมีรายงานว่าอัตราการตายของคนที่ถูกแมงมุมชนิดนี้ กัดต่ำมากเพียง 0.05% หรือ 47 ราย จากทั้งหมด 91,820 ราย เนื่องจากแมงมุมชนิดนี้มีลักษณะนิสัยที่มักจะหลบซ่อนตามซอกมุมหากินกลางคืน ไม่มีนิสัยดุร้าย การโดนกัดส่วนใหญ่จะเกิดจากการสัมผัสโดยตรง หรือโดนตัวแมงมุมโดยบังเอิญจากการสวมรองเท้าหรือเสื้อผ้าที่มีแมงมุมเข้าไปอาศัย
สำหรับถ้ำที่พบแมงมุมเป็นถ้ำเล็กๆ ยาวประมาณ 25 เมตรในพื้นที่ อพสธ. โดยทีมวิจัยพบแมงมุมชักใยเป็นเหมือนเส้นด้ายอยู่ประมาณ 500 ตัว โดยแมงมุมในสกุลลอกโซเซเลส นี้มีรายงานการพบแล้วมากกว่า 100 ชนิด แต่มีชนิดเดียวคือชนิดนี้ที่พบการกระจายตัวได้แล้วทั่วโลก และพบว่ามีในไทยเมื่อปีที่ผ่านมาจึงต้องทำวิจัยเพื่อศึกษาต่อ
อย่างไรก็ตาม โอกาสหลุดรอดมาสู่ชุมชนเมืองนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะถ้ำดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ของกองทัพ ซึ่งมีทหารดูแลเป็นอย่างดี นอกจากนั้นแมงมุมชนิดนี้มีอุปนิสัยรักสงบ หากินกลางคืน และอยู่ประจำถิ่น ทำให้ความเป็นไปได้ที่แมงมุมจะอพยพไปนอกถ้ำมีน้อยลง