ใกล้เข้ามาแล้วกับใครที่ตั้งตารอถ่ายภาพทางช้างเผือก สำหรับคนที่ตื่นเช้าๆ ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป เราก็จะสามารถเริ่มถ่ายภาพแนวใจกลางทางช้างเผือกกันได้แล้ว โดยในช่วงต้นเดือนนี้ แนวทางช้างเผือกก็อาจจะมีช่วงเวลาในการถ่ายภาพไม่นานมากนัก เนื่องจากช่วงที่สามารถสังเกตเห็นได้จะอยู่ในช่วงเวลาประมาณตี 5.30 น. โดยประมาณ และหลังจากเวลานี้ไปสักพักดวงอาทิตย์ก็จะเริ่มโผล่จากขอบฟ้าตามมา ทำให้ช่วงนี้หากใครลองถ่ายภาพทางช้างเผือก ก็มักจะมีแสงทไวไลท์ติดมาด้วยบริเวณขอบฟ้าก็ถือเป็นความสวยงามยามเช้าอีกแบบหนึ่งของการถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงนี้
สิ่งที่เราจะเจอในการถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีอะไรบ้าง
สำหรับสิ่งที่เราจะได้เจอกับการถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงรุ่งเช้าของเดือนนี้ ก็คงหนีไม่พ้น แสงทไวไลท์ แสงจักรราศี ดาวศุกร์ แต่สำหรับช่วงเดือนกุมภาพันธ์ นี้ผมจะขอให้ความสำคัญกับแสงทไวไลท์ หรือแสงสนธยา นั่นเอง เอาหล่ะครับทีนี้เรามาทำความเข้าใจกับแสงสนธยากันก่อนดีกว่า
แสงสนธยา (Twilight) เป็นแสงสว่างบนท้องฟ้าในช่วงเวลาเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น หรือช่วงเวลาโพล้เพล้ก่อนท้องฟ้าจะมืดสนิทหลังจากดวงอาทิตย์ตก เกิดจากแสงอาทิตย์ที่กระเจิงในชั้นบรรยากาศโลก โดยสเราสามารถแบ่งประเภทของแสงสนธยาได้ 3 ประเภท โดยแบ่งตามมุมที่จุดศูนย์กลางดวงอาทิตย์ทำกับเส้นขอบฟ้า ได้แก่
1. แสงสนธยาทั่วไป (civil twilight) สว่างที่สุด
เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ต่ำกว่าขอบฟ้า 6° และอาจเป็นจุดที่เราจะเริ่มสังเกตเห็นดาวสว่างที่สุดอย่างดาวศุกร์ได้อย่างชัดเจนด้วย อย่างที่รู้กันดีว่าดาวศุกร์ที่ปรากฏยามย่ำรุ่งในทิศตะวันออกเรียกว่า ดาวประจำเมือง ส่วนฝรั่งเรียกว่า "morning star" หากดาวศุกร์ปรากฏช่วงย่ำค่ำในทิศตะวันตก เรียกว่าดาวประกายพรึก ฝรั่งจะเรียกว่า "evening star"
2. แสงสนธยาทางทะเล (nautical twilight) สว่างแบบกลางๆ
เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ต่ำกว่าขอบฟ้า 12° ขอบฟ้ามีแสงสว่างจาง ๆ เป็นเวลาที่เริ่มมองเห็นขอบฟ้า นักเดินเรือจะเริ่มวัดมุมสูงของดาวเพื่อใช้ในการหาพิกัดของเรือซึ่งกระทำได้จนกระทั่งดวงอาทิตย์เคลื่อนสูงขึ้นจนอยู่ใต้เส้นขอบฟ้าเป็นมุม 6°
3.แสงสนธยาทางดาราศาสตร์ (astronomical twilight) สว่างน้อยที่สุด
เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ต่ำกว่าขอบฟ้า 18° ประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที ก่อนหรือหลังดวงอาทิตย์ ขึ้น-ตก กับเส้นขอบฟ้า เป็นช่วงเวลาที่ท้องฟ้าทั้งหมดมืดพอจะสังเกตปรากฏการณ์เชิงดาราศาสตร์ทั้งหลายได้ โดยปกติแล้ว ดาวสว่างน้อยสุดที่ตามนุษย์พอจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าความสว่าง (Magnitude) ประมาณ 6 จะเห็นได้เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว 18 องศานั่นเอง
เทคนิคและวิธีการถ่ายภาพ
สำหรับเทคนิคการถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงรุ่งเช้ากับแสงทไวไลท์ สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผมก็คือ “การตื่นเช้า” นอกนั้นไม่มีอะไรยากครับ เอาล่ะเรามาดูกันว่าก่อนลี่นชัตเตอร์เราต้องทำอะไรก่อนบ้าง
1. หาสถานที่ในการถ่ายภาพทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้เล็กน้อย ที่มีความมืดสนิทไม่มีแสงรบกวน โดยหันหน้ากล้องไปในทิศทางบริเวณใจกลางทางช้างเผือก บริเวณกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนูที่เป็นจุดศูนย์กลางทางช้างเผือก ซึ่งสามารถแอพพลิเคชั่น (Star chart) แผนที่ดาว หรือโปรแกรมดูดาวในการหาตำแหน่งได้ (สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมได้ที่ http://www.stellarium.org/)
โดยในช่วงต้นเดือนตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ เราอาจเริ่มถ่ายภาพได้ตั้งแต่ช่วงเวลาตี 5.00 เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้าก่อนที่ดวงอาทิตย์จะโผล่ขึ้นจากขอบฟ้า
2. คำนวณเวลาถ่ายภาพ โดยใช้สูตรการคำนวณ Rule of 400/600 (รายละเอียดตามลิงค์ http://goo.gl/5fUlJF) มาใช้ร่วมด้วย เพื่อให้เราสามารถถ่ายภาพให้ดาวยังเป็นจุดในเวลาที่นานที่สุด ซึ่งจะช่วยให้เราเลือกใช้ค่า ISO ที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพ และทำให้ได้ Signal to Noise ที่ดี
3. เลือกใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้ได้องศาการรับภาพที่กว้างมากขึ้น เพราะแนวทางช้างเผือกจะพาดยาวข้ามขอบฟ้า โดยมีทิศพาดจากทิศใต้ผ่านกลางท้องฟ้าขึ้นไปยังทิศเหนือ และเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ นอกจากนั้นการใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้สามารถเพิ่มเวลาในการถ่ายภาพให้นานขึ้น ซึ่งเมื่อมีเวลาถ่ายได้นานขึ้น เราก็จะสามารถลดค่า ISO ให้ต่ำลงได้อีกด้วย
4. การปรับระยะโฟกัสของเลนส์ควรศึกษาระยะไกลสุด (อินฟินิตี้) หรือระยะอนันต์ โดยอาจโฟกัสที่ดาวดวงสว่างๆ บริเวณอื่นๆก่อนได้ ซึ่งใช้ระบบ Live view ช่วยในการโฟกัสให้ดาวคมชัดหรือเล็กที่สุดนั่นเอง รวมทั้งปิดระบบกันสั่นของเลนส์ด้วย
5. ใช้รูรับแสง (Aperture) ที่กว้างที่สุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรับแสงมากยิ่งขึ้น
6. อย่าใช้ค่าความไวแสง (ISO) สูงมากเกินไป เนื่องจากการใช้ ISO สูง นั้นเป็นการขยายสัญญาณ รวมทั้งขยายสัญญาณรบกวน (Noise) ด้วย ดังนั้นการลด ISO ก็จะช่วยลดสัญญาณรบกวนอีกด้วย ทำให้ภาพถ่ายใสเคลียร์ขึ้นกว่าการใช้ค่า ISO
ดังนั้น หลังจากที่ได้เวลาถ่ายภาพที่นานที่สุดแล้ว และใช้รูรับแสงกว้างสุดแล้ว ในการเลือกใช้ค่า ISO นั้น เราอาจเริ่มจาก ISO 2000 ถ่ายภาพดูก่อนว่าได้รายละเอียดที่ดีไม่มืด หรือ อันเดอร์มากเกินไป หากภาพยังอันเดอร์ก็ค่อยๆเพิ่มค่า ISO ขึ้นเรื่อยๆ
7. เปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction และ High ISO Speed Noise Reduction เพื่อให้กล้องช่วยลดสัญญาณรบกวนของภาพได้ดีขึ้น และการเปิดระบบ High ISO นั้นระบบของกล้องก็จะช่วยลดสัญญาณรบกวนในส่วนเงามืดทำให้ได้รายละเอียดที่ดีขึ้น เมื่อใช้ความไวแสงสูง
อย่างไรก็ตามช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ก็ยังไม่เหมาะที่จะถ่ายภาพแบบพาโนรามาสักเท่าไหร่นัก สำหรับคนที่เริ่มถ่ายภาพ เนื่องจากเราจะมีเวลาในการถ่ายภาพเพียงไม่นานนัก ก่อนที่ดวงอาทิตย์จะโผล่จากขอบฟ้า
ในช่วงเดือนต่อๆไป เราก็จะสามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกได้ง่ายและดีขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจาก แนวทางช้างเผือกจะขึ้นจากขอบฟ้าเร็วขึ้นทุกวัน และทำให้เรามีเวลาถ่ายภาพมากขึ้นอีกด้วย หากแต่ว่าช่วงนี้ท้องฟ้าใสเคลียร์ก็ถือเป็นโอกาสดีที่เราอาจจะได้ภาพทางช้างเผือกที่ใสเคลียร์เช่นกันครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน