xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นอีก 4 ปี ได้ทดลอง “แอนติบอดีมนุษย์" รักษาไข้เลือดออกใน รพ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เป็นข่าวที่สร้างความเศร้าสะเทือนใจต่อสังคมมากทีเดียว สำหรับการจากไปของพระเอกหนุ่มมากความสามารถ “ปอ- ทฤษฎี สหวงศ์” หลังล้มป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจนต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนานนับเดือนและจากไปอย่างสงบในที่สุด

การเจ็บป่วยของปอ-ทฤษฎี สหวงศ์ ได้สร้างคุณูปการณ์ต่อสังคมด้านสาธารณสุข เพราะทำให้หลายคนตื่นตัวและตระหนักถึงภัยของโรคไข้เลือดออก โรคที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านานแต่ไม่มียารักษาและคนในสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญ

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมการประกาศผลรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดขึ้น และได้ร่วมพูดคุยกับ ศ.ดร.น.สพ.พงษ์ราม รามสูตร นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีเด่น ประจำปี 2559 และผู้คิดค้นการวิจัย “แอนติบอดีมนุษย์สำหรับการรักษาโรคไข้เลือดออก” ที่ขณะนี้ทดลองสำเร็จแล้วในสัตว์เหลือเพียงการทดลองในมนุษย์

“ถ้าแอนติบอดีนี้สำเร็จก่อน มันอาจจะได้ช่วยชีวิตคุณปอและผู้ป่วยรายอื่นๆ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้บนโลกเรายังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาใดๆ สำหรับโรคไข้เลือดออก แต่แอนติบอดีของเรามีแนวโน้มทำได้ และยับยั้งเชื้อไข้เลือดออกได้ถึง 4 สายพันธุ์จากการทดลองที่ประสบความสำเร็จในหนูและลิง ส่วนคนก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปกว่าจะได้เห็นในโรงพยาบาลหรือมีการนำมาใช้จริง คงต้องรอไปอีกไม่ต่ำกว่า 4 ปี” ศ.ดร.น.สพ.พงษ์ราม รามสูตร นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ถึงงานวิจัยเบื้องต้นของเขา

ศ.ดร.นสพ.พงษ์ราม กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสเด็งกี่ ขณะนี้ที่มีการรายงานแล้วมีทั้งสิ้น 4 สายพันธุ์ ฉะนั้นการรักษาที่ดีจึงต้องครอบคลุมเชื้อไวรัสทั้งหมด นักวิจัยทั่วโลกจึงพยายามพัฒนาวิธีการรักษาโรคไข้เลือดออกทั้งการผลิตวัคซีน ผลิตยา หรือแม้กระทั่งการยกระดับการกำจัดแต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยชิ้นใดที่ประสบความสำเร็จ

ศ.ดร.นสพ.พงษ์ราม กล่าวต่อไปว่า งานวิจัยของเขาเริ่มขึ้นเมื่อปี 2552 เป็นการทำ “แอนติบอดีมนุษย์” สำหรับ “รักษา” โรคไข้เลือดออกครั้งแรกของโลกที่สามารถยับยั้งฤทธิ์ของไข้เลือดออกได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยเป็นการนำเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยไข้เลือดออกที่นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ มารวมกับเซลล์ชนิดใหม่ได้แก่เซลล์เม็ดเลือด และบีเซลล์ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่สามารถแบ่งตัวและสร้างแอนติบอดีเพิ่มเองได้เหมือนเซลล์เนื้องอก แล้วนำไปคัดเลือกว่าเซลล์ใดที่สร้างแอนติบอดียับยั้งไวรัสไข้เลือดออกได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยการนำเชื้อไข้เลือดออกทุกสายพันธุ์ ประมาณ 20 ตัวอย่างบรรจุลงในหลอดแก้วตามด้วยแอนติบอดี ซึ่งพบว่าแอนติบอดีมนุษย์ที่สร้างได้สามารถยับยั้งเชื้อไข้เลือดออกได้ทุกสายพันธุ์

เมื่อผลการทดลองให้ผลชัดเจนว่าแอนติบอดีที่พัฒนาขึ้นสามารถยับยั้งเชื้อในหลอดแก้วได้แล้ว ศ.ดร.นสพ.พงษ์ราม ระบุว่าขั้นตอนถัดไปคือการนำแอนติบอดีมาทดลองในสัตว์ โดยการทดลองครั้งแรกทำในหนูทดลองที่ถูกฉีดเชื้อไข้เลือดออกเข้าสมองให้มีอาการประมาณ 2-3 วัน แล้วจึงฉีดแอนติบอดีเข้าไปรักษา ซึ่งพบว่าสามารถยับยั้งเชื้อในหนูได้ทั้งหมด

จากนั้นจึงนำไปทดลองในลิงมาโมเสท ซึ่งมีลักษณะพันธุกรรมใกล้เคียงกับคนจำนวน 20 ตัว โดยการฉีดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกจำนวน 10 ล้านตัว เข้าในช่องท้องหลังจากนั้น 4 ชั่วโมงจึงฉีดแอนติบอดีเข้าไปรักษา แล้วเจาะเลือดลิงทุกวันจนพบว่าไวรัสไข้เลือดออกในลิงลดลงจนหาเชื้อไม่พบภายใน 2 วัน

ดังนั้นขั้นตอนต่อไป คือ การเดินหน้าผลิตแอนติบอดีให้อยู่ในรูปแบบที่องค์การอาหารและยา (อย.) ยอมรับเพื่อให้สามารถนำไปใช้กับคนได้ โดยการผลิตแอนติบอดีในเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (mammalian cell) ภายในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานจีเอ็มพี ซึ่งขณะนี้ที่เมืองไทยมีบริษัทที่ผลิตได้ 2 แห่ง ซึ่งทีมวิจัยได้เลือกพัฒนาร่วมกับบริษัท สยามไบโอไซน์ จำกัด โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาต่อจากนี้ประมาณ 1 ปี

“ตอนนี้เราทดลองสำเร็จแล้วทั้งในหนู และลิง ขั้นต่อไปคือการทำมาทดสอบทางคลินิกในมนุษย์ ซึ่งน่าจะเป็นอีกขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควร โดยผมคาดหวังว่าเราจะเสร็จสิ้นกระบวนการทดสอบและเริ่มนำมาใช้จริงในโรงพยาบาลได้ในอีก 4 ปีข้างหน้า เพราะการทดสอบในมนุษย์ต้องทำด้วยความรัดกุม ทุกอย่างต้องได้มาตรฐาน ต้องผ่านการทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่าจนมั่นใจว่าแอนติบอดีที่เราทำขึ้นเพื่อรักษาคนอีกนับแสนนับล้านชีวิตในภายหน้าจะไม่มีผลเสียหรือก่อให้เกิดอาการแพ้กับพวกเขา โดยขณะนี้เรากำลังพัฒนาแอนติบอดีมาตรฐานเพื่อให้ อย.รับรอง หลังจาก อย.รับรองแล้วถึงจะนำมาทดสอบในอาสาสมัครคนปกติได้ว่าไม่มีผลข้างเคียง ถ้าผลปกติออกมาดีจึงจะถึงขั้นทดลองในผู้ป่วยจริง เห็นใช่ไหมล่ะว่าใช้เวลานาน แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราทำได้สำเร็จ สิ่งนี้จะช่วยเหลือชีวิตคนได้อีกมาก และเราจะเป็นที่แรกที่ทำได้” ศ.ดร.น.สพ.พงษ์ราม กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ศ.ดร.น.สพ.พงษ์ราม รามสูตร นักวิจัยศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยแอนติบอดี  คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
ศ.ดร.น.สพ.พงษ์ราม รามสูตร นักวิจัยศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยแอนติบอดี  คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิจัยในทีม









กำลังโหลดความคิดเห็น