xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย "ถนนยางพารา" ใช้ดี 14 ปีไม่มีซ่อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ถนนยางพาราผสมยางมะตอยบริเวณหน้าสถาบันวิจัยยาง จ.ฉะเชิงเทรา
ยังคงน่าเป็นห่วงสำหรับปัญหา “ยางพาราราคาตกต่ำ” ที่แม้ว่ารัฐบาลและภาคส่วนต่างๆ จะออกมารับซื้อเพื่อบรรเทาปัญหาให้ชาวบ้านทว่าปริมาณยางในสต๊อคก็ยังมีมากจนเกินความต้องการ อีกทางออกที่หลายคนมองจึงตกอยู่ที่การนำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ในประเทศ ซึ่ง "ถนนยางพารา" ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจและถูกนำไปใช้จริงแล้วแค่ยังไม่แพร่หลาย



“เรื่องของราคายางพาราเราแทบจะกำหนดไม่ได้ เพราะในปีหนึ่งเราผลิตยางพาราในรูปของวัตถุดิบได้ประมาณ 4 แสนล้านตัน แต่เกือบทั้งหมดเราใช้ส่งออก ถ้าเศรษฐกิจของผู้รับซื้อดี มีความต้องการมากก็ดีไป แต่ถ้าเศรษฐกิจเขาทรุด เศรษฐกิจโลกทรุด ความต้องการน้อยเราก็เจ็บตัวเหมือนตอนนี้ ทางออกที่ดีคือการส่งเสริมให้เกิดการนำน้ำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ภายในประเทศ ซึ่งศูนย์วิจัยของเราก็ได้ดำเนินการมาแล้วสักพัก” ถ้อยคำหนึ่งจาก “พิเชษ ไชยพาณิช” ผู้คร่ำหวอดในวงการยางพารามานานกว่า 30 ปี ได้เปิดโอกาสให้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์สัมภาษณ์พิเศษกันถึงที่สถาบันวิจัยยางพารา กรมวิชาการเกษตร อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา

นายพิเชษ ไชยพาณิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า การนำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในประเทศโดยสถาบันฯ มีด้วยกันหลายรูปแบบ แต่ที่เด่นและได้รับความสนใจมากที่สุด คือ การนำยางพารามาผสมกับยางมะตอยเพื่อราดปูพื้นถนนที่ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี 2545 โดยการริเริ่มของ นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง ที่ต้องการกระตุ้นให้เกิดการนำยางพารามาใช้ เนื่องจากปี 2542-2543ราคายางพาราตกต่ำจนถึงขั้นกิโลกรัมละ 17-20 บาท

ผอ.พิเชฐ เผยว่าการนำยางพารามาใช้ทำถนนไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเมื่อปี 2500 กรมวิชาการเกษตรได้เคยทำมาแล้วครั้งหนึ่งแต่ไม่เป็นที่แพร่หลาย เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ราคายางตกต่ำจึงนำกลับมาทดลองพัฒนาอีกครั้ง โดยเริ่มจากการทดลองนำน้ำยางสดเทผสมลงในยางมะตอยร้อนหลอมเหลวตามอัตราส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายแต่ถนนที่ได้ออกมามีคุณภาพไม่น่าพอใจ

จึงเกิดการทดลองใหม่โดยใช้น้ำยางข้นค่อยๆ ผสมลงไปในยางมะตอยหลอมเหลว แล้วนำไปราดถนน ทำอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่าจนได้สูตรยางที่พอใจ คือ อัตราส่วนยางพารา 5% ในยางมะตอย 95% หรือถ้าคิดเป็นอัตราส่วนน้ำหนักในการตัดถนนยาว 1 กิโลเมตร กว้าง 11 เมตร จะใช้ยางพาราปริมาณ 3.5 ตัน

เมื่อสูตรยางพาราสำหรับทำถนน ผ่านกาารทดสอบว่ามีประสิทธิภาพสามารถนำมาใช้ทำถนนให้รถวิ่งได้จริง ในปี 2545 สถาบันวิจัยยางพารา จ.ฉะเชิงเทรา จึงร่วมมือกับกรมทางหลวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงคมนาคม ในการทดลองนำยางพาราสูตรดังกล่าวมาราดปูพื้นถนนจริง บริเวณด้านหน้าสถาบันวิจัยยางฯ เป็นระยะทาง 500 เมตร เพื่อทดสอบดูความทนทานทุกๆ 1 ปี ซึ่งจนถึงปัจจุบันผ่านมากว่า 14 ปีแล้วถนนยางพาราก็ยังมีสภาพดีอยู่โดยไม่ต้องมีการบูรณะซ่อมแซม หรือราดหน้าถนนซ้ำแต่อย่างใด

การนำยางพารามาใช้เป็นวัสดุเสริมสร้างถนน จะต้องใช้น้ำยางข้นในปริมาณมาก ซึ่งถ้าหากในหลายๆ พื้นที่มีโครงการที่จะทำถนนในลักษณะนี้ก็จะเป็นการนำยางออกจากระบบและทำให้ราคายางพาราสูงขึ้น เสถียรขึ้น ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรได้นำร่องนำไปใช้กับการราดถนนในหน่วยงานที่กระจายอยู่ในหลายๆ จังหวัด เพราะเรามีรถบริการเคลื่อนที่ที่จะผสมยางมะตอยและยางพาราความจุ 2,000 ลิตรสำหรับนำไปราดในพื้นที่ต่างๆ ทำให้การขยายผลใช้จริงง่ายยิ่งขึ้น

"อย่างปีที่แล้วเขื่อนแม่กวง จ.เชียงใหม่ก็นำไปขยายผลใช้กับถนนสันเขื่อนเป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร ล่าสุด คสช.ก็อนุมัติให้ทำถนนยางพาราที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นความยาวหลายสิบกิโลเมตร ซึ่งสร้างเสร็จแล้วเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา รวมๆ แล้วตอนนี้ก็กว่า 40 แห่ง”พิเชฐกล่าว

นอกจากการนำยางพารามาทำถนนจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการนำยางมาแปรรูปใช้ในประเทศมากขึ้นแล้ว พิเชฐ ยังเผยด้วยว่าถนนที่มีส่วนผสมจากยางพารามีคุณภาพดีกว่าถนนปกติ ที่เป็นยางมะตอย คอนกรีต หรือซีเมนต์ทั่วไปเพราะคุณสมบัติการเชื่อมประสานของพอลิเมอร์ในยางพาราทำให้ถนนมีความเรียบ นุ่มนวลกว่าในมุมมองของผู้ขับรถ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อถนนเปียกก็ไม่ลื่น เพราะยางล้อยึดเกาะได้ดีกว่า แถมยังช่วยถนอมยางล้อให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น

"ปัญหาที่ยังทำให้ถนนยางพาราไม่เป็นที่แพร่หลายนักเป็นเพราะมีราคาแพงกว่าถนนทั่วไปประมาณ 15-20 % ทำให้หลายหน่วยงานไม่กล้าลงทุน ทั้งที่วัตถุดิบยางพาราในประเทศมีมากและให้ผลในระยะยาวดีกว่าเพราะมีความทนทานอยู่ไนานหลายสิบปี ไม่ต้องซ่อมแซมบ่อยเหมือนถนนทั่วไป" ผอ.สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร จ.ฉะเชิงเทรากล่าว

ถนนเส้นดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2545 และมีอายุเกือบ 14 ปี แต่ยังไม่เคยต้องซ่อมหรือราดยางทับแม้แต่ครั้งเดียว ในขณะที่ถนนปกติที่อยู่ด้านหัวท้ายกรมทางหลวงต้องมาซ่อมแล้วถึง 3 ครั้ง แม้ว่าถนนราดยางพารามีราคาแพงกว่า แต่นายพิเชฐกล่าวว่าหากคำนึงถึงงบประมาณซ่อมแซมบำรุงที่ไม่ต้องเสียถนนยางพาราคุ้มกว่าแน่นอน

"หลายๆ ประเทศที่ส่งคนมาดูเขาก็ทึ่ง อย่างมาเลเซียนี่เด็ดสุดเพราะดูงานกลับไปปุ๊บ เขานำไปเสนอรัฐบาล แล้วเขาก็อนุมัติให้ทำเลย ทำทั้งประเทศด้วยเพราะเขามองถึงระยะยาว ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะมีการผลักดันให้เกิดการใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น แม้ว่ามันจะไม่ได้ทำให้ราคาพุ่งพรวดขึ้นไปสิบหรือยี่สิบบาทหรือทำให้ชาวสวนยางกลับมารวยทันทีทันใด แต่มันจะเป็นกลไกสำคัญทีเดียว ที่ทำให้ราคายางของเรามีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะการทำถนนสายยาวๆ สักเส้นใช้ยางไม่ต่ำกว่าหมื่นตัน” นายพิเชฐกล่าว
ถนนยางพารามีความเรียบ แต่ไม่ลื่นเพราะยางล้อรถสามารถเกาะถนนได้ดีแม้พื้นถนนเปียก
ถนนความยาว 1 กิโลเมตร ความกว้าง 11 เมตร ใช้ยางพารา 3.5 ตัน
นายพิเชษ ไชยพาณิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร จ.ฉะเชิงเทรา









กำลังโหลดความคิดเห็น