อพวช.จับมือ อดีตรมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดนิทรรศการ “Wing and Wildlife : ปีกและพงไพร สายใยแห่งป่าเขตร้อน” โชว์สุดยอดภาพถ่ายนกและสัตว์ป่า หวังกระตุ้นคนไทยสนใจธรรมชาติ ยาว 3 เดือนตั้งแต่ 21 ม.ค. นี้เป็นต้นไป ที่จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. จามจุรีสแควร์
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับนายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงความพร้อมการจัดนิทรรศการภาพถ่าย "wing & wildlife : ปีกและพงไพร สายใยแห่งป่าเขตร้อน" นิทรรศการภาพถ่ายนกและสัตว์ป่าเชิงอนุรักษ์จากฝีมือลั่นการชัตเตอร์ของนายเกษม เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 59 ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 4 กรุงเทพฯ
นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สัตว์ป่าและธรรมชาติเป็นของคู่กัน เพราะนอกจากป่าจะเป็นเหมือนบ้านหลังใหญ่ของสัตว์ป่านานาชานิดแล้ว ป่ายังเป็นดั่งโรงอาหารที่เปิดให้บริการแก่พวกมันยามหิวโหยตลอด 24 ชั่วโมง เหมือนกับมนุษย์ที่ต้องมีปัจจัย 4 แต่ในปัจจุบัน ป่าทั่วโลกกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก โดยเฉพาะป่าเขตร้อนชื้นเช่น ป่าของไทย ที่ถือเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุดของโลก ทำให้สัตว์และพืชหลายชนิดต้องสูญพันธุ์ลงไปอย่างน่าเสียดาย
เพื่อให้คนมีจิตสำนึกและเห็นคุณค่าของป่าไม้จนเกิดสำนึกรักษ์ป่า นายเกษมจึงมีแนวความคิดที่จะนำภาพถ่ายทางธรรมชาติอันทรงคุณค่าที่เขาสะสมไว้ตลอดชีวิตออกมาจัดแสดงให้ประชาชนได้ดู จึงได้ประสานไปยังองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ในการจัดตั้งนิทรรศการ Wing and Wildlife : ปีกและพงไพร สายใยแห่งป่าเขตร้อน ครั้งนี้ขึ้นหลังจากเมื่อปี 2554 ได้เคยจัดแสดงผลงานภาพถ่ายเกี่ยวกับนกและสัตว์ป่าเมืองไทยไปแล้วครั้งหนึ่ง
“ผมรักการถ่ายรูปสัตว์ป่ามาตั้งแต่ยังเด็ก มีรูปเก็บสะสมไว้มาก จนคิดว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างกับภาพเหล่านี้ให้คนอื่นได้เกิดการเรียนรู้ด้วย เลยพิมพ์ออกเป็นหนังสือกับจัดนิทรรศการให้คนที่สนใจมาดูตั้งแต่ปี 54 ตอนนี้ก็ผ่านไป 5 ปี ภาพนกชุดใหม่ๆ ก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะหลังจากเกษียณผมก็ตระเวณถ่ายภาพในหลายๆ ประเทศ จึงอยากจะจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อให้คนดูภาพเกิดจิตสำนึกว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้อยู่ร่วมกัน มีผลกระทบซึ่งกันและกัน จะได้ไม่ย้อนกลับไปทำร้ายป่าเพราะทุกวันนี้ที่ป่าเสื่อมโทรม สัตว์ป่าสูญพันธุ์ก็เพราะคนไปตัดไม้ทำลายป่าที่เป็นเหมือนบ้านของสัตว์ป่า พอสัตว์ชนิดหนึ่งหายไป สัตว์ผู้ล่าไม่มีอะไรกินก็ตายตาม มันเป็นวัฏจักรแต่สิ่งเหล่านี้บางประเทศที่เขาพัฒนาแล้วเขเหยุดยั้งได้เพราะเขามีการจัดการเรื่องป่าไม้ที่ดีและคนของเขามีจิตสำนึก แต่เมืองไทยกลับทำไม่ได้ ทั้งที่มีกฎหมาย เพราะเรามักง่าย ไม่มีจิตสำนึก ขนาดคนที่ตั้งตนว่าเป็นนักอนุรักษ์ป่าบางคนแต่ยังทิ้งขยะในป่า มักง่ายสิ้นดี ผมจึงอยากให้นิทรรศการนี้เป็นกระจกอีกใบหนึ่งที่สะท้อนให้ทุกคนรักธรรมชาติ” นายเกษม กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
สำหรับนิทรรศการ Wing and Wildlife : ปีกและพงไพร สายใยแห่งป่าเขตร้อน จะจัดแสดงรูปถ่ายนกและสัตว์ป่าโดยฝีมือการถ่ายภาพของนายเกษมกว่า 80 ภาพ โดยจะเน้นไปที่นกต่างประเทศเป็นหลัก โดยมีไฮไลท์เป็นนกฮัมมิงเบิร์ด ที่เขาเดินทางไปถ่ายถึงประเทศคอสตาริก้า และเอกวาดอร์ นกพญาแร้งที่ถ่ายจากประเทศกัมพูชา รวมไปถึงนกกระเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น ที่ถ่ายได้จากเทคนิคพิเศษส่วนตัวและการซ่อนกล้องแบบ camera trap โดยนิทรรศการจะเริ่มจัดแสดงในวันที่ 21 ม.ค. 59 เป็นต้นไป ตั้งแต่เวลา 10.30-19.30 น. ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 4 กรุงเทพฯ ต่อเนื่องเป็นเวลา 3-4 เดือน จากนั้นจะนำไปจัดแสดงต่อเป็นพิพิธภัณฑ์หมุนเวียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยบูรพา
ซึ่งในโอกาสนี้นายเกษมได้นำภาพถ่ายบางส่วนมาเผยแพร่เพื่อเรียกน้ำย่อยแก่ผู้สนใจด้วย