สวทช.ขนนวัตกรรมรถไฟฟ้าฝีมือคนไทยโชว์ทำเนียบรัฐบาล ด้านรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ชี้รถไฟฟ้ายังไม่เป็นที่นิยม แม้ว่าการใช้งานในระยะยาวจะคุ้มทุนกว่า ส่วนนายกให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนยานยนต์ไทยอย่างเต็มที่เริ่มจากการผลักดันให้ ขสมก.นำรถโดยสารไฟฟ้าจำนวน 200 คันในขั้นต้น
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสถาบันวิจัยภาคเอกชน จัดแสดงผลงานนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าฝีมือคนไทย ณ ลานหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 ม.ค.59 โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรองนายกรัฐมนตรี และกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ เข้าเยี่ยมชม
สำหรับนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่นำมาจัดแสดงบริเวณลานหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ประกอบด้วยรถโดยสารไฟฟ้าขนาดใหญ่, รถโดยสารไฟฟ้าขนาดกลาง, ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่สามารถจดทะเบียนได้ตามกฎหมาย รวมทั้งสิ้น 9 คัน ซึ่งยานยนต์ขนาดกลางและขนาดเล็กที่นำมาแสดงเหล่านี้ใช้ชิ้นส่วนการผลิตจากในประเทศไม่น้อยกว่า 80-90% (ไม่นับรวมแบตเตอรี)
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ายังไม่เป็นที่แพร่หลาย เพราะมีแค่ราว 2,๐๐๐ คันและกว่า 80% เป็นจักรยานยนต์ไฟฟ้า ส่วนรถโดยสารไฟฟ้าก็ใช้กันแค่ตามมหาวิทยาลัย ขณะที่รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ที่แม้ว่าจะจดทะเบียนแล้วแต่มีการใช้ที่จำกัดเพียงในแหล่งท่องเที่ยว หรือ โรงแรม เพราะมีราคาสูงกว่ายานยนต์ทั่วไป
ทว่าการใช้งานในระยะยาว ดร.พิเชฐ ระบุว่า ยานยนต์ไฟฟ้ามีความคุ้มทุนมากกว่าในด้านการซ่อมบำรุง และยังประหยัดเชื้อเพลิงซึ่งมีผลภาพรวมของสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการเอกชนซึ่งดำเนินงานรถไฟฟ้ามาก่อนหน้า
"ยานยนต์ที่เรานำมาจัดแสดงในวันนี้ ส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อส่งออก แต่ความสำเร็จและความพร้อมด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่เรามีในวันนี้ทำให้ส่วนราชการเช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เริ่มส่งสัญญาณว่าจะมีการนำมาใช้จริงในระบบขนส่งสาธารณะภายในปี 2560 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี และต้องช่วยกันผลักดันอย่างจริงจัง"
ในส่วนของ ดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวเสริมว่า ผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการผลิตอยู่แล้ว แต่อาจมีชิ้นส่วนบางชิ้น เช่น แบตเตอรีลิเทียม และระบบเพลาหน้าที่ยังต้องนำเข้าอยู่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงจัดให้มีการร่วมกันวิจัยระหว่างสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งภาคเอกชน และเร่งเดินหน้าสร้างความพร้อมให้ไทยมีความสามารถในการผลิตแหล่งสะสมพลังงานสำหรับยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า
ด้านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังจากเดินชมยานยนต์ไฟฟ้าที่นำมาจัดแสดงไว้ที่ลานด้านหน้าของทำเนียบรัฐบาล ได้กล่าวเชิงตั้งคำถามในหลายแง่มุม ทั้งด้านราคา, ความคุ้มค่า, สถานีชาร์ตพลังงาน, รอบการขับเคลื่อน, สมรรถนะ, การจดมาตรฐาน ไปจนถึงการวิจัยต่อยอด โดยในตอนท้ายได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนยานยนต์ไทยอย่างเต็มที่เริ่มจากการผลักดันให้ ขสมก.นำรถโดยสารไฟฟ้าจำนวน 200 คันในขั้นต้น เข้าสู่ระบบเพื่อนำไปทดลองให้บริการประชาชน พร้อมยังแนะแนวความคิดว่าควรเพิ่มระบบสำรองไฟในระบบยานยนต์ไฟฟ้า