xs
xsm
sm
md
lg

ชวนทำ "สบู่กลีเซอรีน-เทียนเจล" กิจกรรมรับวันเด็กบนถนนสายวิทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ณัฐรดา เพิ่มพรสันติ นักวิทยาศาสตร์ วศ.
เผลอครู่เดียว เสาร์ที่สองของเดือน ม.ค. ก็เวียนมาบรรจบอีกครั้ง และแน่นอนว่าในปีนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ได้ขนเอานิทรรศการพร้อมของรางวัลสุดพิเศษมาเตรียมไว้ให้เยาวชนอย่างแน่นอน ซึ่งในวันนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมเดินสำรว “งานถนนสายวิทย์รับวันเด็ก ปี 59” เพื่อนำกิจกรรมเด็ดๆ มาเรียกน้ำย่อย เริ่มกันที่บูธจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ ที่มาสาธิตวิธีทำสบู่และเทียนเจลพร้อมแจกกลับบ้านให้เด็กๆ นำไปใช้กันแบบฟรีๆ

น.ส.ณัฐรดา เพิ่มพรสันติ นักวิทยาศาสตร์ กลุ่มวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานเทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า การทำสบู่เป็นงานบริการวิชาการอย่างหนึ่ง ที่ วศ.นำไปถ่ายทอดให้กับชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ให้ได้มีอาชีพ เป็นการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบน้อยและใช้เวลาทำสั้น ในโอกาสที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดงานถนนสายวิทย์รับวันเด็กแห่งชาติ วศ.จึงนำการทำสบู่มาให้เด็กๆ ได้ทดลองทำด้วยตัวเอง
อุปกรณ์ทำสบู่ประกอบด้วย กลีเซอรีนแข็งและเหลว หัวน้ำหอม สีธรรมชาติ สีผสมอาหาร
ตุ๋นกลีเซอรีนแข็งให้ละลายแล้วเติมกลีเซอรีนเหลว
ส่วนผสมในการทำสบู่ ณัฐรดา เผยว่า ประกอบด้วย 5 ส่วนด้วยกัน คือ กลีเซอรีนก้อนแข็ง 200 กรัม, กลีเซอรีนเหลว 10 กรัม, สีสมุนไพรสกัด 10 กรัม, น้ำหอม 1 มิลลิลิตร และสีผสมอาหารจำนวน 2 หยด

สำหรับวิธีการทำ ณัฐรดา เผยว่า จะต้องเริ่มจากการนำกลีเซอรีนแข็งไปใส่ในภาชนะสแตนเลสทนความร้อน แล้วตั้งบนเตาไฟฟ้าจนกลีเซอรีนละลายดี จากนั้นจึงเติมกลีเซอรีนแล้วลงไปเพื่อให้เป็นไปตามสูตรสบู่ที่ได้มาตรฐานเพราะในกลีเซอรีนแข็งจะมีส่วนประกอบของกลีเซอรีนบริสุทธิ์อยู่น้อย คนให้เข้ากันดี จากนั้นเติมสีสมุนไพรลงไปควบคู่กับสีผสมอาหารเพื่อให้สบู่มีสีสด ไม่ซีดจาง แล้วจึงเติมน้ำหอม คนให้เข้ากัน เทลงพิมพ์ซิลิโคนที่เตรียมไว้เ รอจนแข็งประมาณ 30 นาที แล้วแกะออกจากพิมพ์ก็ป็นอันเสร็จ
จากนั้นเติมสีธรรมชาติ ตามด้วยสีผสมอาหาร
ใส่หัวน้ำหอมเพิ่มกลิ่น
เทลงพิมพ์ซิลิโคน รอแข็งตัว 30 นาที
ได้สบู่ใสกลีเซอรีนพร้อมนำไปใช้กับร่างกาย
“สบู่ที่เราทำจะมีคุณภาพดีกว่าสบู่ทั่วไปเพราะใช้กลีเซอรีนบริสุทธิ์ซึ่งจะให้ความชุ่มชื้นกับผิวดี ในขณะที่สบู่ทั่วไปจะใช้น้ำมัน ส่วนสีที่ใช้วันนี้เป็นสีแดงที่ได้จากขมิ้น แต่ถ้าอยากได้สีอื่นก็ทำได้เช่นกัน โดยอัญชันจะให้สีเขียวหลังจากทำปฏิกริยากับกลีเซอรีน ขมิ้นจะให้สีเหลือง ส่วนสีส้มเป็นสีที่ได้จากกระเจี๊ยบเพราะเมื่อสบู่แข็งตัวสีที่ได้จะซีดลงจนเปลี่ยนสีกระเจี๊ยบจากแดงเป็นส้ม เป็นการทดลองที่สามารถนำไปทำที่บ้านได้ เพราะนอกจากเด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องสีจากธรรมชาติแล้ว ยังเป็นการฝึกสมาธิและสร้างความสัมพันธ์ในบ้านได้อย่างดี เพราะบางขั้นตอนเป๋นของร้อนควรมีผู้ใหญ่คอยดูแล นอกจากนี้เด็กๆ ยังจะได้ทักษะการชั่ง ตวง วัดจากการกะปริมาณตามอัตราส่วนที่เรากำหนดด้วย” น.ส.ณัฐรดา กล่าวทิ้งท้าย
ดร. สุภาพร โค้วนฤมิตร นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ  วศ.
ขวดโหลบรรจุต้นไม้พลาสติกเหมือนทะเลจำลอง
นอกจากนี้ในบริเวณเดียวกันของบูธ วศ.ยังมีมุมประดิษฐ์เทียนเจลมหาสนุกด้วย ซึ่งในโอกาสนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ก็ได้ทดลองประดิษฐ์ไปพร้อมๆ กับเยาวชนเช่นกัน โดยในกิจกรรมนี้ เยาวชนจะได้รับแจกโหลแก้วขนาดเล็กที่ข้างในประดับด้วยต้นไม้พลาสติกคนละ 1 โหล จากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้ทุกคนเลือกใส่น้ำสีตามที่ตัวเองชอบลงไปในโหลประมาณครึ่งหนึ่ง โดยน้ำที่ให้เลือกใส่จะเป็น้ำสะอาดผสมสีต่างๆ ทั้งสีฟ้า สีเขียว สีแดง ต่อจากนั้นจะเป็นการเลือกใส่ก้อนหินและก้อนกรวด รวมถึงเม็ดพลาสติกสัตว์ทะเล จากนั้นจึงใส่น้ำมันขาวลงไปที่ชั้นบนเป็นอันเสร็จ

ในขั้นตอนสุดท้ายนี้น้ำกับน้ำมันจะเกิดการแยกชั้นอย่างเห็นได้ชัดเจน จนเด็กบางคนถึงกับเอ่ยถามด้วยความประหลาดใจ ซึ่ง ดร. สุภาพร โค้วนฤมิตร นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ วศ.ได้อธิบายว่า ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะน้ำมันมีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ และมีน้ำมันเป็นสารที่ไม่มีขั้วจึงเกิดการแยกชั้นกัน ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้ที่มุ่งเน้นให้เยาวชนได้รู้จักกับความหนาแน่นของสารผ่านการสังเกตและเล่นสนุก และยังเป็นการสร้างเสริมจินตนาการทางศิลปะให้กับเยาวชนในขณะเดียวกัน โดยขวดโหลที่เยาวชนได้ลงมือทำก็จะให้นำกลับบ้านไปด้วยเพื่อเป็นของที่ระลึกจาก วศ.
อุปกรณ์ที่ใช้ทำเจล
เยาวชนค่อยๆ เติมน้ำมันอย่างระมัดระวัง
ขวดเทียนเจลที่ทำสำเร็จแล้ว
เจ้าหน้าที่สอนเยาวชนให้รู้จักความหนาแน่นจากการสังเกตการแยกชั้น
ทั้งนี้ กิจกรรม “สบู่ใสกลีเซอรีน” เป็นเพียงกิจกรรมส่วนหนึ่งจากกิจกรรมนับร้อย ที่จัดขึ้นในงานถนนสายวิทย์รับวันเด็ก ซึ่งในปีนี้เปิดให้เยาวชนและผู้สนใจเข้าร่วมได้ฟรี ตั้งแต่วันที่ 7-9 ม.ค.59 เวลา 9.00-17.00 น. บริเวณลานหน้ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยาวเรื่อยไปตลอดถนนโยธี พระรามหก กรุงเทพฯ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-577-9999 ต่อ 2109










กำลังโหลดความคิดเห็น