xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหมว่า... "ค้างคาวยอดกล้วยปีกผีเสื้อ" พบได้ตั้งแต่อินเดียถึงมาเลย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม ค้างคาวยอดกล้วยปีกผีเสื้อ ที่พบใน จ.เพชรบุรี เมื่อ ต.ค.58 (โต๊ะข่าวภูมิภาค)
จากการพบ "ค้างคาวยอดกล้วยปีกผีเสื้อ" ใน อ.พล จ.ขอนแก่น ได้สร้างความฮือฮาอย่างมาก นอกจากสีสันที่สะดุดตาแล้วยังไม่พบบ่อยนักในภาคอีสาน อีกทั้งยังเป็นสัตว์ป่าสงวนใกล้สูญพันธุ์

รายงานข่าวการค้นพบค้างคาวยอดกล้วยปีกผีเสื้อใน อ.พล จ.ขอนแก่น เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า เป็นค้างคาวเพศผู้ มีความยาวจากปีกซ้ายไปขวา 26 เซ็นติเมตร และความยาวจากหัวถึงตีน 6 เซ็นติเมตร มีสีเหลืองทองสะท้อนแสง และไม่พบได้ในบ่อยในชุมชน และเป็นสัตว์ป่าสงวนตาม พรบ.คุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ที่ใกล้สูญพันธุ์

ด้าน นายวัชระ สงวนสมบัติ นักวิชาการด้านนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ค้างคาวดังกล่าวพบได้ทั่วไทย รวมถึงภูมิภาคใกล้เคียงตั้งแต่อินเดีย พม่า ไทย ลาว ไล่ลงไปถึงมาเลเซีย แต่คนไม่ค่อยได้เห็น เพราะเป็นสัตว์หากินกลางคืน

ค้างคาวยอดกล้วยปีกผีเสื้อนั้นอาศัยอยู่ตามใบกล้วยที่กำลังคลี่ใบ และอยู่ไม่ประจำที่ เมื่อใบกล้วยคลี่ออกมากแล้วก็ย้ายไปอยู่ต้นอื่น และนายวัชระให้ข้อมูลเพิ่มว่า เคยมีผู้ถ่ายภาพค้างคาวดังกล่าวอาศัยอยู่ในรังนกกระจาบด้วย

สำหรับสถานการณ์ใกล้สูญพันธุ์ของค้างคาวนั้น นายวัชระกล่าวว่า จำนวนอาจยังมีเยอะอยู่ แต่พิจารณาจากถิ่นอาศัยบนยอดกล้วย แสดงว่าไม่ได้อยู่ในป่าทึบ แต่อาศัยอยู่ตามพื้นราบรอบเมือง จึงมีโอกาสที่จะถูกบุกรุกถิ่นอาศัยและลดจำนวนลงไป ขณะเดียวกันก็มีโอกาสออกมาให้พบเจอ แต่ปกติเป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยปรากฏตัวให้เห็น

ส่วนตัวอย่างค้างคาวชนิดนี้ที่ อพวช.เก็บรักษาไว้นั้น ไม่ได้มาจากการไล่จับตัวอย่าง แต่เป็นซากจากการถูกรถชน หรือตายแล้วที่มีคนนำมาบริจาค ซึ่งการศึกษาค้างคาวนั้นค่อนข้างยาก เพราะหน้าตาคล้ายกันและไม่ค่อยปรากฏตัว อีกทั้งหากินกลางคืน ทว่าจากจำนวนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในไทยกว่า 300 ชนิดนั้น เป็นค้างคาวกว่า 100 ชนิด และยังมีโอกาสที่จะพบสายพันธุ์ใหม่อีกมาก เนื่องจากยังศึกษาได้น้อย

สำหรับประโยชน์ของค้างคาวนั้น นายวัชระระบุว่า ค้างคาวเป็นสัตว์กินแมลง จึงช่วยควบคุมศัตรูพืช ป้องกันปัญหาระบบนิเวศและการระบาดแมลงของแมลง ซึ่งบางครั้งที่เราพบการระบาดของแมลงหรือการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ แสดงว่าในระบบนิเวศขาดตัวควบคุม









กำลังโหลดความคิดเห็น