xs
xsm
sm
md
lg

"อิฐบล็อกตัวต่อ" เพิ่มมูลค่าเศษยางเกรดต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.ส.อุมาภรณ์ บุญนิธิ  นักวิทยาศาสตร์ ประจำสถาบันวิจัยยางพารา จ.ฉะเชิงเทรา
“อิฐบล็อกตัวหนอน-อิฐบล็อกตัวต่อ” สำหรับปูพื้นสนาม พื้นอาคาร งานวิจัยเพิ่มมูลค่าเศษยางเกรดต่ำจากสถาบันวิจัยยางพารา จ.ฉะเชิงเทรา จำหน่ายได้กำไรเท่าตัวหากขายในเชิงพาณิชย์



ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สัมภาษณ์พิเศษนายพิเชษ ไชยพาณิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์ยางพาราและการต่อยอดผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ นายพิเชฐ และเยี่ยมชมอาคารแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางภายในสถาบันวิจัยฯ พร้อมสาธิตการทำผลิตภัณฑ์ยอดฮิตอย่าง “อิฐบล็อกตัวหนอนยางพารา” แบบทุกขั้นทุกตอนให้ได้ชม

น.ส.อุมาภรณ์ บุญนิธิ นักวิทยาศาสตร์ ประจำสถาบันวิจัยยางพารา จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ในสถาบันวิจัยยางพารา จ.ฉะเชิงเทรา มีเศษยางเกรดต่ำหรือเศษยางที่ขายไม่ได้ราคาเป็นจำนวนมาก เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ในสถาบันฯ จึงคิดหาวิธีการแปรรูปยางเกรดต่ำให้เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา หนึ่งในนั้นคือการนำยางเกรดต่ำมาทำเป็นอิฐบล็อคตัวหนอน หรืออิฐบล็อคตัวต่อ สำหรับใช้ปูพื้นสนาม หรือพื้นอาคาร

อุมาภรณ์อธิบายว่าการทำอิฐบล็อคตัวหนอนจากยางพาราประกอบด้วย 3 ขั้นตอนด้วยกัน ขั้นตอนแรกคือ การนำยางและส่วนผสมต่างๆ เช่น สารที่ทำให้ยางคงรูป, สารเร่งปฏิกริยา, สี, สารกระตุ้นปฏิกริยา, สารป้องกันการเสื่อมสภาพ และสารตัวเติมเข้าสู่เครื่องผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นจึงนำเข้าสู่เครื่องรีดแผ่นที่สามารถปรับให้มีขนาดหนา บางได้ตามต้องการ ซึ่งในส่วนของการทำอิฐตัวหนอนจะต้องทำแผ่นยางให้มีความหนาประมาณ 1 เซนติเมตรก่อน แล้วจึงนำมาตัดให้เป็นรูปร่างด้วยคัตเตอร์ ก่อนจะนำเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายเพื่อปั๊มขึ้นรูปให้เป็นชิ้นงานอิฐบล็อคตัว หนอนที่ต้องการ

"อิฐบล็อกตัวหนอนแต่ละตัวนั้น จะต้องใช้ยางพารา 750 กรัมต่อแผ่น และมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 25 บาท แต่ถือว่าเป็นการแปรรูปที่คุ้มค่าเพราะการปูพื้นในพื้นที่ 1 ตารางเมตรที่จำเป็นต้องใช้อิฐบล็อคถึง 20 ตัวนั้น ในตลาดขายอุปกรณ์ตกแต่งบ้านมีราคาขายอย่างต่ำ 1,000 บาท ซึ่งถ้าจะแข่งขันในราคาที่เท่ากันอิฐบล็อคยางพาราจะจำหน่ายได้กำไร 1 เท่าตัว แต่ขณะนี้ที่สถาบันฯ ยังไม่มีการผลิตขาย มีแค่การผลิตเป็นต้นแบบตามที่รัฐบาลสั่งการ” อุมาภรณ์กล่าว

นอกจากจะนำยางพาราเกรดต่ำมาเพิ่มคุณค่าเป็นอิฐบล็อคตัวหนอนสำเร็จแล้ว สถาบันวิจัยยางยังจัดทำผลิตภัณฑ์จากยางพาราขึ้นมาอีกหลายชนิด ทั้งที่รองแก้วยางพารา, ตุ๊กตาตั้งโชว์จากยางพารา, โมเดลผลไม้จากยางพารา และพวงกุญแจรูปสัตว์จากยางพารา ซึ่งมีรูปทรงน่ารักและมีน้ำหนักเบา โดยอุมาภรณ์เผยว่าผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้จะใช้เทคนิคการทำแตกต่างจากการทำอิฐ บล็อคตัวหนอน โดยจะนำเศษยางพาราไปปั่นให้เบาจนเป็นฟองคล้ายครีมก่อนแล้วค่อยนำมาขึ้นรูป ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีน้ำหนักเบา
เศษยางพาราเกรดต่ำ กิโลกรัมละ 17 บาทถูกนำมาเพิ่มมูลค่าเป็นอิฐบล็อคตัวหนอน
บรรจุเศษยางลงในเครื่องผสมก่อนจะตามด้วยสารเคมีต่างๆ
อุปกรณ์และส่วนผสมที่จะใส่ในเครื่องผสมยาง
นำมาตัดให้เข้ารูปด้วยคัตเตอร์
แผ่นยางที่ตัดแล้วถูกนำมาเรียงซ้อนกันเพื่อนำเข้าเครื่องอัด
อิฐบล็อกตัวต่อเมื่อผ่านการอัดขึ้นรูป
พวงกุญแจตุ๊กตายางพารา
ตุ๊กตาเณรน้อยผลิตจากยางเกรดต่ำ น่ารัก น้ำหนักเบา
นายพิเชษ ไชยพาณิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร จ.ฉะเชิงเทรา









กำลังโหลดความคิดเห็น