xs
xsm
sm
md
lg

วช.ได้ไฟเขียวใช้ทะเบียนราษฎร์ออนไลน์จัดระบบนักวิจัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.ส.สุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ และ นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์
กรมการปกครองไฟเขียวอนุญาต วช.ใช้ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ออนไลน์ พ่วงเครื่องอ่านบัตรประชาชนเข้าถึงระบบฐานข้อมูลนักวิจัย แก้ปัญหานักวิจัยเบี้ยวส่งงานแต่ขอทุนพร่ำเพรื่อ เหตุสำคัญทำรัฐสูญเงินฟรีปีละ 10 ล้าน ยกระดับระบบสืบค้นทั้งงานและคนเข้มข้นเต็มระบบ

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับกรมการปกครอง จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการขอใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรจากฐานข้อมูลทะเบียนกลางด้วยระบบคอมพิวเตอร์โดยวิธีเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (ONLINE) และการขอใช้โปรแกรมสำหรับอ่านข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชน ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ วช. กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.59

น.ส.สุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่ วช.ได้ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัยแห่งชาติ (National Research Management System : NRMS) ซึ่งเป็นระบบสำหรับการบริหารจัดการงานวิจัยและงบประมาณวิจัยระหว่างหน่วยงานภาครัฐ, นักวิจัย, วช., แหล่งทุนวิจัยและสำนักงบประมาณตั้งแต่ปี'51 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานที่ใช้ระบบ NRMS ทั้งสิ้น 374 หน่วยงาน หรือคิดเป็นจำนวนนักวิจัยราว 7.1 หมื่นคน แบ่งเป็นนักวิจัยที่มีข้อมูลการเสนอข้อเสนอการวิจัยมีจำนวน 53,475 คน, นักวิจัยที่มีข้อมูลโครงการวิจัยที่ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 41,142 คน และนักวิจัยที่มีข้อมูลผลงานตีพิมพ์จำนวน 8,230 คน

เลขาธิการ วช.อธิบายว่า ระบบ NRMS ประกอบด้วยระบบฐานข้อมูลนักวิจัย, ระบบประเมินข้อเสนอการวิจัย (Proposal assessment), ระบบดำเนินการและติดตามงานวิจัย (Ongoing and Monitoring) และ ระบบประเมินผลงานวิจัย โดย "ระบบฐานข้อมูลนักวิจัย" ถือเป็นคลังข้อมูลที่สำคัญที่สุด เพราะจะจัดเก็บตั้งแต่ข้อมูลของนักวิจัยเกี่ยวข้องกับการเสนอขอทุนวิจัย, การได้รับจัดสรรงบประมาณการวิจัย, ความเชี่ยวชาญ, ผลงาน และรางวัลที่นักวิจัยได้รับ โดยจะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลงานวิจัยที่ดำเนินการเสร็จสิ้นของระบบครั้งข้อมูลงานวิจัยไทย และ ระบบค้นหาผู้เชี่ยวชาญ (Expert finder) ซึ่งผู้บริหารงานวิจัยหรือหน่วยงานกลางด้านการวิจัยของประเทศสามารถสืบค้นข้อมูลงานวิจัยและข้อมูลผู้เชี่ยวชาญได้เพียงแค่กรอกเลขประจำตัวประชาชนของนักวิจัย 13 หลัก ชื่อและหัวข้องานวิจัยก็จะปรากฏขึ้นมา

"ระบบของเก่าดีแต่เราเข้าถึงข้อมูลได้ไม่มาก ทำให้ไม่อาจรู้ได้เลยว่านักวิจัยคนไหนกำลังทำอะไรอยู่ สถานะขณะนี้เป็นอย่างไร มีการขอทุนวิจัยซ้ำซ้อนแล้วทำไม่เสร็จ ไม่ส่งตรงตามเวลาไหมเพราะปัญหานักวิจัยเบี้ยวงานเหล่านี้ทำให้เราสูญเงินปีละเป็นสิบล้านไปฟรีๆ การพิจารณาอนุมัติทุนตอนนี้จึงต้องตรวจสอบมากขึ้น หากพบข้อมูลว่านักวิจัยคนใดที่เขียนขอทุนมา แต่งานวิจัยเก่ายังค้างส่งเกิน 2-3 ปีก็จะไม่ได้รับอนุมัติทุน อาจจะดูเหมือนเราไปจำกัดสิทธิ์ของนักวิจัยแต่ความจริงแล้วไม่ใช่ และเราก็ได้มีการสอบถาม มีการวิจัยถึงความคิดเห็นของนักวิจัยแล้ว เรามองว่าการเข้าถึงข้อมูลทะเบียนราษฎร์ได้มากขึ้นจะทำให้เราเห็นภาพรวมของงานวิจัยทั้งประเทศดีขึ้น โดยที่นักวิจัยไม่ต้องกลัวว่าข้อมูลจะรั่วไหล กรมการปกครองมีระบบป้องกันที่มีประสิทธิภาพ และวิธีนี้ก็น่าจะเป็นวิธีที่ต่างชาติใช้กัน" น.ส.สุกัญญา กล่าว

นอกจากนี้ เลขาธิการฯ วช.ยังแจกแจงประโยชน์ที่ผู้ใช้ระบบ NRMS แต่ละด้านจะได้รับด้วย เริ่มจากนักวิจัยจะสามารถเสนอขอรับทุนวิจัยจากแหล่งต่างๆได้โดยใช้แบบฟอร์มเดียวยื่นข้อเสนอที่เดียวและสามารถ นำออกข้อมูลจากฐานข้อมูลนักวิจัยมาใส่ในแบบฟอร์มได้รวมทั้งติดตามสถานะของข้อเสนอการวิจัยได้, ส่วนผู้บริหารงานวิจัยจะสามารถติดตามและรวบรวมข้อมูลนักวิจัย โครงการวิจัยที่เสนอขอรับทุนหรือโครงการวิจัยที่ผ่านการพิจารณาให้การสนับสนุนได้อย่างรวดเร็วโดยจำแนกวิเคราะห์แหล่งทุนและสาขาวิจัยได้ในระดับประเทศ, ส่วนหน่วยงานกลางด้านการวิจัยของประเทศจะมี ข้อมูลภาพรวมงบประมาณและงานวิจัยของประเทศเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการและพัฒนาการวิจัยของประเทศ และยังทำให้ วช. มีข้อมูลสถานภาพปัจจุบันของนักวิจัยทั้งหมด ทำให้การจัดสรรงบประมาณวิจัยวิจัยที่มีการพิสูจน์ตัวตนและสามารถตรวจสอบได้จะทำให้การใช้งบประมาณวิจัยของประเทศเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

ด้านนายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ วช. สนใจใช้ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ที่กรมการปกครองมีอยู่ เพราะข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่กรมการปกครองมีและเก็บมานานกว่า 30 ปีต้องใช้งบประมาณในการดูแลปีละหลายล้านบาท ซึ่งการนำข้อมูลไปใช้ในครั้งนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนพัฒนาประเทศในวงกว้าง เพราะทราบมาว่าการจะวางแผนวิจัยและ แก้ปัญหาระดับประเทศแต่ละครั้งต้องทำการสำรวจเพื่อหาผู้เชี่ยวชาญใหม่ซึ่งนอกจากจะต้องใช้เวลายังทำให้เสียงบประมาณ โดย วช.ถือเป็นหน่วยงานที่ 130 ที่มาขอใช้ประโยชน์จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์

"ความร่วมมือในครั้งนี้ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายของนายกรัฐมนตรีที่อยากจะให้หลายหน่วยงานนำข้อมูลซึ่งเรามีเก็บอยู่แล้วไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยหลังจากนี้เมื่อคีย์ข้อมูลลงไประบบจะโชว์ข้อมูลอัพเดตล่าสุดทั้งหมดของนักวิจัย ว่ามีผลงานอะไรบ้าง เคยเสนอขอรับทุนจากหน่วยงานใดบ้าง และมีหน่วยงานใดให้หรือปฏิเสธบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นใครก็ได้ที่จะได้เห็นข้อมูลนี้ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของ วช.ซึ่งได้รับการอนุญาตแล้วเท่านั้น จึงอยากให้มั่นใจถึงความปลอดภัย และอย่าคิดว่าเป็นการคุกคามสิทธิ์ มิหนำซ้ำยังอาจทำให้การของบวิจัยทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นในกรณีของนักวิจัยที่มีผลงาน และประวัติการทำงานที่ดี" รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมการปกครอง กล่าว

ทั้งนี้เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ประกอบด้วยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
หน้าตาระบบบริหารจัดการงานวิจัยแห่งชาติ หรือ NRMS
บรรยากาศขณะลงนามความร่วมมือ









กำลังโหลดความคิดเห็น