ปัญหาน้ำมันรั่วไหลลงสู่ท้องทะเลยังคงมีให้เห็นเป็นระยะ ทั้งภาพข่าวน้ำมันดำเกลื่อนตามหาดทราย ภาพปลาตาย นกทะเลตายอย่างอนาจเอน็จ อาจารย์เคมี มธ. จึงคิดค้นนวัตกรรมโฟมมหัศจรรย์จากยางพาราที่สามารถดูดซับน้ำมันบนผิวน้ำได้ภายใน 3 วินาทีเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
SuperSci สัปดาห์นี้จะพาทุกคนไปบุกถิ่นลูกแม่โดม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อชมนวัตกรรม "พาราโวลาร์" โฟมดูดซับน้ำมันที่ผลิตจากยางพารา ที่นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาน้ำมันรั่วลงสู่สิ่งแวดล้อมได้ทันเวลา ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราไทย
ผศ.ดร.สุวดี ก้องพารากุล อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้พัฒนานวัตกรรมพาราโวลา กล่าวว่า โฟมมหัศจรรย์ดูดซับน้ำมันเชื้อเพลิง "พาราโวลา" เป็นนวัตกรรมจากยางพารา ในรูปแบบที่มีคุณสมบัติพิเศษสามารถกักเก็บน้ำมันได้ทุกชนิด ตั้งแต่น้ำมันปิโตรเลียม น้ำมันพืช ไปจนถึงน้ำมันสัตว์ สามารถกัก เก็บและกันน้ำมันไว้ในตัวเองโดยไม่ซึมน้ำ ทำให้พาราโวลามีน้ำหนักเบาและสามารถลอยตัวอยู่เหนือผิวน้ำได้โดยตลอด ซึ่งแตกต่างจากฟองน้ำหรือวัสดุซับน้ำมันทั่วไป
ผศ.ดร.สุวดี อธิบายว่า ตัวโฟมพาราโวลาทำขึ้นจากน้ำยางข้นด้วยกระบวนการพิเศษที่เธอคิดค้นขึ้นเอง จากนั้นจึงนำมาขึ้นรูปให้คงตัวในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพราะเป็นรูปทรงที่วิจัยมาแล้วว่าดูดซับน้ำมันได้ดีที่สุด โดยพาราโวลา 1 ชุดจะประกอบด้วยโฟมที่มีความกว้าง 11.5 เซนติเมตรยาว 20 เซนติเมตรและหนา 1.5 เซนติเมตรจำนวน 5 แผ่นซึ่งจะถูกบรรจุไว้ในซองตาข่ายซึ่งพัฒนาขึ้นจากพอลิเมอร์ไร้ปมอย่างดี ช่วยเพิ่มความแข็งแรงและเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ
ผศ.ดร.สุวดี เผยว่า เมื่อโฟมทำงานได้เต็มประสิทธิภาพจะสามารถขยายตัวเพื่อเก็บของเหลวได้มากกว่าปกติถึง 10 เท่า โดยโฟม 1 แผ่นจะซับน้ำมันได้ประมาณ 4 ลิตร หรือคิดเป็นหนึ่งชุดพาราโวลาที่มีโฟมอยู่ 5 แผ่นจะช่วยซับน้ำมันได้ถึง 20 ลิตร ซึ่งถ้าหากมีการนำไปใช้คู่กับเครื่องรีดน้ำมันที่เธอกับ บ.ไอพี บิสสิเนส จำกัด ทำขึ้นอีกจะทำให้พาราโวลาใช้ซ้ำได้มากถึง 100 ครั้ง หรือเทียบเป็นอัตราใช้งานสูงสุดพาราโวลาจะดูดซับน้ำมันได้มากถึง 2 ตัน โดยมันจะมีอายุการเก็บรักษาอยู่ที่ 5 ปี และมีอายุการใช้งาน 3 เดือนหลังจากเปิดใช้ครั้งแรก
สำหรับที่มาของนวัตกรรมนี้สุวดี เล่าว่าเกิดขึ้น จากความสนใจที่อยากจะเพิ่มมูลลค่าให้แก่ยางพาราซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรอันดับต้นๆ ของไทย ตั้งแต่เรียนปริญญาตรีที่ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงตั้งใจศึกษาและทำวิจัยเกี่ยวกับยางพารามาโดยตลอด ประกอบกับปัญหาน้ำมันเรือรั่วไหลลงทะเลอันส่งผลต่อสภาพสิ่งแวดล้อมที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เธอตัดสินใจพัฒนาวัสดุดูดซับน้ำมันจากยางพารา ซึ่งนอกจากจะต้องทำงานได้ดี ดูดซับน้ำมันได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังต้องมีราคาถูกกว่าวัสดุทั่วไปที่มีขายในท้องตลาดอีกด้วย เพราะอุปกรณ์ดูดซับน้ำมันที่ปัจจุบันนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงมาก
"ส่วนตัวทำวิจัยอยู่ในวงการยางพารามาตลอดทำให้รู้ข้อดี ข้อด้อย จึงตั้งใจที่จะผลิตนวัตกรรมให้ฉีกตลาดจึงเริ่มหาข้อมูลและนำคุณสมบัติของยางพารามาพิจารณา จนเห็นว่าสามารถนำมาทำวัสดุซับคุณสมบัติเฉพาะได้ จากจึงเริ่มคิดค้นสูตรผสมน้ำยางสูตรพิเศษเพื่อขึ้นรูปน้ำยางข้น ซึ่งเราลงไปซื้อถึงศูนย์วิจัยยางทางภาคใต้ในราคาสูง ให้มีคุณสมบัติเก็บกักน้ำมัน แต่ไม่ดูดซึมน้ำ, คิดค้นสารตัวกระตุ้นซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างสารอินทรีย์และสารเคมี ไปจนถึงการออกแบบถุงตาข่ายก็ทำเองเพราะอยากเรียนรู้ในหลายๆ มิติจนในที่สุดก็สำเร็จเป็น "พาราโวลา" ที่มาจากคำว่า Para-Whoa หรือ ว้าว! ยางพารามันเจ๋งมาก นั่นเอง" ผศ.ดร.สุวดี เผยถึงที่มาแก่ทีมข่าวฯ
อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.สุวลีกล่าวว่า พาราโวลาอาจเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งเท่านั้น เพราะโดยปกติการบำบัดน้ำที่ปนเปื้อนน้ำมันมีหลายวิธี ทั้งการวางทุ่นแล้วสูบไปกรอง, การวางกระดาษดูดซับหรือแม้แต่การใช้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลาย ผู้ใช้ควรเลือกให้ถูกต้องตามลักษณะการรั่ว โดยพาราโวลาเหมาะกับแท่นขุดเจาะน้ำมัน, เรือ, ท่าเรือ, แหล่งน้ำ และโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งรูปแบบการกู้น้ำมันที่รั่วจากแท่นขุดเจาะ, อุบัติเหตุการขนถ่ายน้ำมันหรือแม้กระทั่งการเก็บกรองในบ่อบำบัด
"ข้อดีของเราคือใช้ง่าย เบา เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีราคาถูกกว่าเมื่อใช้ในระยะยาว โดยเราได้วิจัยเปรียบเทียบระหว่างต้นทุนของพาราโวลาและวัสดุอื่นๆ ต่อการเก็บน้ำมันรั่วไหล 1 ลิตร พบว่าการเก็บด้วยวิธีอื่นต้องใช้เงินประมาณ 52 บาทในขณะที่พาราโวลาใช้เพียง 12.50 บาท ที่สำคัญน้ำมันที่รีดออกมายังสามารถนำมาขายต่อเป็นน้ำมันไบโอดีเซลได้อีกในราคาลิตรละ 10 บาทเพราะโฟมยางพารานี้จะดูดซับเอาเฉพาะน้ำมันทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีน้ำปนเปื้อน ส่วนข้อดีระยะยาวก็มีตรงที่เรือล้อมทุ่นไม่ต้องทำงานหนักใช่แค่ลำเดียวก็เก็บน้ำมันได้ เพราะทันทีที่พาราโวลามันสัมผัสน้ำหรือภายใน 3 วินาทีมันก็จะดูดซับน้ำมันจนหมด" นักวิจัยกล่าว
จากความสำเร็จของนวัตกรรมทำให้พาราโวลา ได้รับรางวัลชนะเลิศจากหลายเวทีทั้งการประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นดีเด่นจากสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในปี 2558 ซึ่งขณะนี้ทีมวิจัยได้จดสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาเป็นที่เรียบร้อย และยังได้จับมือกับ บริษัทไพร้ซ อินโนเวชั่น จำกัด เพื่อพัฒนาพาราโวลาเข้าสู่เชิงพาณิชย์เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพน้องใหม่ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นเปิดตลาดพร้อมให้ผู้ซื้อรายใหญ่เข้ามาติดต่อ โดยวางแผนธุรกิจให้พาราโวลาขายพร้อมถังและระบบกำจัดในราคาเซ็ทละหลักหมื่น และตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีจะผลักดันให้ธุรกิจเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์