เคยไหม? ขับรถอยู่ดีๆ สัญลักษณ์ไฟแดงในรถก็แสดงขึ้นแต่ไม่รู้ว่ารถเป็นอะไร ครั้นจะลงมือซ่อมเองก็ดูยากเกินความสามารถ สุดท้ายภาระจึงตกอยู่กับญาติหรือเพื่อนร่วมท้องถนน .. นักประดิษฐ์รุ่นใหม่จึงพัฒนาแอปพลิเคชันตรวจสอบสภาพรถยนต์ผ่านมือถือที่มีชื่อว่า “DRIVEBOT” ขึ้นเพื่อแก้ปัญหา
SuperSci สัปดาห์นี้ พามาชมนวัตกรรมเพื่อคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะสาวๆ ที่ขับรถเป็นแต่ดูแลรถยนต์ไม่เป็น กับเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า ไดรฟ์บอต (DRIVEBOT) อุปกรณ์วิเคราะห์ปัญหารถสุดล้ำที่มาในขนาดพกพา พร้อมกับแอปพลิเคชันแสดงผลในสมาร์ทโฟนฝีมือนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่นอกจากจะระบุปัญหารถได้นับพันกรณี ยังจัดสรรคำแนะนำดีๆ ให้ทำตามแบบง่ายๆ ด้วย
นายเขมินท์ คงจำเนียร ผู้ร่วมก่อตั้งแอปพลิเคชันไดรฟ์บอต กล่าวว่า ไดรฟ์บอต (DRIVEBOT) เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับติดไว้กับตัวรถ และแอปพลิเคชันสำหรับดูแลสภาพรถยนต์ด้วยตัวเอง เพื่อให้ผู้ใช้รถสามารถตรวจสอบหรือเช็คสภาพรถด้วยตัวเองได้ว่าขณะนั้นรถยนต์มีปัญหา หรือมีความไม่สมบูรณ์ที่ระบบใด
เขมินท์ เผยว่า ไดรฟ์บอตเกิดขึ้นจากปัญหาเล็กๆ ของเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่ม ที่มักมีปัญหาเกิดขึ้นกับรถขณะขับขี่เสมอ แต่เธอก็ไม่รู้ว่าสาเหตุการเสียมาจากระบบหรือเครื่องยนต์ส่วนใด เนื่องจากขับรถเป็นอย่างเดียว ร้อนถึงญาติและเพื่อนๆ เช่นเขาที่ต้องคอยรับโทรศัพท์เพื่อวิเคราะห์ให้ว่าปัญหาที่เธอเจอเกิดจากการชำรุดของเครื่องยนต์ใด แต่เมื่อวิเคราะห์ให้แล้วก็ไม่วายที่เพื่อนคนเดิมก็ยังไม่ทราบอีกว่าเครื่องยนต์นั้นๆ ตั้งอยู่ส่วนใดของตัวถัง เขาจึงคิดแก้ปัญหาในลักษณะดังกล่าว ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาของผู้หญิงส่วนมากในยุคปัจจุบันด้วยการทำเครื่องมือชิ้นหนึ่ง ที่สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องยนต์แล้วแสดงผลการชำรุดพร้อมวิธีการแก้ปัญหาได้ในเวลาไม่นาน
“ผมว่าไม่ใช่เพื่อนผมคนเดียวที่มีปัญหาในลักษณะนี้ ผู้หญิงหลายๆ คนหรือผู้ชายสมัยนี้ส่วนมากขับรถเป็นอย่างเดียว ไม่ทราบหรอกครับว่าถ้ารถเสีย หรือสัญลักษณ์นู่นนี่แดงขึ้นมาแปลว่ารถเป็นอย่างไร ด้วยความที่ผมเป็นวิศวกรและเพื่อนอีกคนในกลุ่มก็มีอู่ซ่อมรถเป็นของตัวเอง เราจึงคิดที่จะทำอุปกรณ์เพื่อแก้ปัญหาแบบนี้ขึ้น ด้วยหลักการเดียวกับเครื่องเช็คสภาพรถซึ่งอู่ทั่วไปมีใช้กันอยู่แล้วแต่มีขนาดใหญ่มากๆ ให้มีขนาดเล็กลงเท่าปลั๊กเสียบ และทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันในรูปแบบง่ายๆ ที่ใครๆ ก็เข้าใจได้ นับจากตอนนั้นจนถึงตอนนี้ก็ใช้เวลาร่วม 2 ปีกว่า” เขมินท์ กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
สำหรับการติดตั้งไดรฟ์บอต เขมินท์ เผยว่า ทำได้ง่ายมาก ไม่จำเป็นต้องให้ช่างติดตั้งให้ เพียงใช้มือคลำลงไปที่ใต้พวงมาลัยจะพบช่องว่างสำหรับการเสียบอุปกรณ์ เมื่อการติดตั้งสมบูรณ์ไดรฟ์บอทจะดึงข้อมูลของตัวรถเข้าสู่โทรศัพท์มือถือผ่านบลูทูธ ในส่วนนี้ผู้ใช้จะต้องเปิดแอปพลิเคชันไดรฟ์บอตในสมาร์ทโฟนเพื่อสั่งประมวลผลการทำงานไดรฟ์บอตจะค่อยๆ แยกปัญหารถยนต์ทีละส่วน เริ่มจากเครื่องยนต์ แบตเตอรี่ ระบบเบรค ระบบควบคุมและระบบไอเสีย หากเจอปัญหาที่ระบบใดก็ตามภายในเวลาไม่เกิน 20 วินาที หน้าแอปพลิเคชันจะปรากฏตัวอักษรสีแดงขึ้นแยกตามระบบต่างๆ ซึ่งผู้ใช้สามารถกดเข้าไปดูได้ว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง, ร้ายแรงระดับใด ต้องแก้ปัญหาเบื้องหน้าและระยะยาวต่อไปอย่างไร
“ตัวไดรฟ์บอตกับแอปพลิเคชันจะต้องใช้คู่กัน เพราะตัวไดรฟ์บอตเปรียบเสมือนสมอง ส่วนตัวแอปฯคือหน้าจอแสดงผล ยกตัวอย่างการทำงานเช่น มีตัวอักษรสีแดงขึ้นที่ระบบเครื่องยนต์ กดเข้าไปดูระบบจะเตือนว่าให้จอดรถก่อน แล้วโทรเรียกช่างมาเลย ไม่ควรทำเอง เพราะเป็นปัญหาร้ายแรง แต่ถ้าเป็นปัญหาเบาๆ เช่น แบตเตอรี่ ระบบก็จะดชว์เลยว่าเกิดปัญหาเพราะ แบตเตอรี่มีอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป สามารถแก้ไขด้วยตัวเองได้อย่างไร จะมีข้อเสนอแนะให้ปฏิบัติตามเป็นข้อๆ ไม่ต้องกลัวว่าจะทำไม่ได้ เพราะเราออกแบบมาให้ใช้ง่ายที่สุด ไม่มีศัพท์เทคนิคหรือภาษาช่างใดๆ ให้สับสน ทำให้ขณะนี้เราขายไปแล้วประมาณ 2,000 เครื่องทั่วโลกเพราะใช้ง่ายและราคาไม่เพียงเพียงเครื่องละ 3,590 บาท” เขมินท์ กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ดีไดรฟ์บอตใช้ได้กับรถยนต์เบนซินตั้งแต่ปี 2530เป็นต้นไปเท่านั้น ไม่สามารถใช้ได้กับเครื่องดีเซลเพราะมีระบบกลไกที่ซับซ้อนยุ่งยากแตกต่างกันหลายประการ โดยมีจำหน่ายในเว็บไซต์ www.brivebot.io โดยไดรฟ์บอตเป็นเทคโนดลยีหนึ่งที่นำมาจัดแสดงในงาน Startup Thailand 2016 ที่จัดขึ้น ณ ศุนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ กทม. เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา