ภาพความเสียหายของผืนป่าขุนช่างเคี่ยน ดอยสุเทพกว่าร้อยไร่ พร้อมเหล่าบรรดาสัตว์ป่าใหญ่น้อยที่ล้มตายอย่างเอน็จอนาจ ส่งให้ “ไฟป่า” กลายเป็นอาชญากรในชั่วพริบตา จนหลายคนลืมไปว่าแท้จริงแล้วเปลวเพลิงเหล่านั้น คือของคู่กันที่มอบความเจริญให้กับผืนป่า
เพื่อทำความรู้จักทั้งด้านดีและด้านเสียของไฟป่าให้มากขึ้น ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงติดต่อไปยังนักวนศาสตร์ชำนาญการอย่าง ดร.ทักษิณ อาชวคม ผู้อำนวยการสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา และผศ.ดร.สคาร ทีจันทึก รองคณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ทำวิจัยและอยู่คลุกคลีอยู่กับป่ามานานนับ 10 ปีเพื่อตอบข้อสงสัย
ดร.ทักษิณ อาชวคม ผู้อำนวยการสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ไฟและป่าเป็นของคู่กัน โดยป่าเบญจพรรณและป่าเต้งรังในทุกๆ ปีจะมีไฟป่าเกิดขึ้นเป็นปกติ เพราะไฟป่าที่เกิดขึ้นจะช่วยย่อยสลายซากพืช ซากสัตวื ที่ตายอยู่บนหน้าดิน ให้เปลี่ยนเป็นธาตุอาหารที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ และที่สำคัญไฟป่ายังช่วยเปลี่ยนแคลเซียม และแมกนีเซียมซึ่งสลายตัวด้วยวิธีอื่นยากมาก ให้กลายเป็นธาตุอาหารปรับปรุงดิน ชาวบ้านในอดีตจึงนิยมเผาตอซังข้าวหรือพืชอื่นๆ ก่อนการทำเกษตรในรอบถัดไป แต่ภายหลังได้มีการรณรงค์ให้ใช้วิธีอื่น เช่น การฝังกลบ หรือปลูกพืลตระกูลถั่วแล้วไถกลบมากขึ้น เพราะนอกจากการเผาตอซังหน้าดินจะทำให้ดินเสื่อมคุณภาพมากกว่าได้ธาตุอาหารแล้ว ยังทำให้เกิดปัญหาหมอกควันซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพตามมา
นอกจากการลดซากอาหารที่อยู่บนหน้าดิน ประโยชน์อีกประการหนึ่งของไฟป่า คือเป็นตัวช่วยเปิดหน้าดิน ทำให้เมล็ดและพืชด้านล่างเจริญเติบโตได้ กล่าวคือเมล็ดพืชบางชนิดเช่น สักจะมีเปลือกแข็ง หากไม่มีไฟที่ช่วยเผาให้เปลือกด้านนอกดะเทาะแตกออก ต้นด้านในก็ไม่มีทางที่จะได้ออกมาเจริญเติบโต เช่นเดียวกับเมล็ดยาง หรือเมล็ดพืชอื่นๆ ที่มีระยะเวลาพักตัวจำกัด (Seed Dormency) หากหล่นลงบนผืนหญ้าไม่ได้หล่นลงพื้นดินภายในเวลาอันควร เมล็ดก็จะฝ่อไปไม่เจริญเติบโต แต่ถ้าหน้าดินสะอาดโล่งไม่มีหญ้าหรือวัชพืชอื่นๆ ปกคลุม เมล็ดก็จะตกแล้วงอกลงสู่พื้นได้โดยง่าย และยังช่วยอนุรักษ์ให้หญ้าเพ็กซึ่งเป็นพืช C4 ที่ต้องการแสงอาทิตย์ในปริมาณมากไม่สูญพันธุ์
เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.สคาร ทีจันทึก รองคณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อดีของไฟป่าในแง่เป็นปัจจัยช่วยลดความชื้น เพราะป่าที่มีความชื้นสูง เห็ด ราและปรสิตจะเจริญได้โดยง่ายซึ่งเป็นอันตรายต่อไม้ใหญ่ ไฟป่าที่มาเป็นระลอกจึงเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยควบคุมความชื้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ในส่วนของข้อเสียของไฟป่า ผศ.ดร.สคาร กล่าวว่า เป็นผลกระทบมากเช่นกันหากไฟป่าที่เกิด เกิดขึ้นผิดช่วงเวลาและควบคุมไม่ได้ เพราะไฟป่าที่รุนแรงเกินไปจะทำลายระบบนิเวศวิทยา ทำให้พืชที่ไม่ได้มีคุณลักษณะทนไฟ หรือสัตว์ป่าในบริเวณนั้นๆ ล้มตายไปด้วย และไฟป่าที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานยังทำให้หน้าดินเสียสภาพมากกว่าช่วยย่อยสลายซากอาหาร พืชจึงไม่สามารถใช้ประโยชน์และเจริญเติบโตในดินบริเวณนั้นอันเป็นจุดเริ่มต้นของระบบนิเวศเสื่อมโทรม จึงแนะนำว่าหากเกษตรกรหรือชาวบ้านที่ต้องการจุดไฟเพื่อเผาป่าทำการเกษตร ให้จุดในช่วงหมดหน้าฝนในระยะแรกๆ จะดีที่สุด เพราะดินที่ยังชื้นจะรับธาตุอาหารที่สลายใหม่ได้ดี และยังไม่สุ่มเสี่ยงกับการลุกลามของเพลิงเนื่องจากป่าด้านในยังคงมีความชื้นอยู่
“ผมว่าผมยังไม่ค่อยเห็นข้อเสียของไฟป่าเท่าไหร่นะ แต่ผมไม่ได้บอกนะว่าให้จุดไฟเผาป่า นั่นไม่ใช่ เพราะไฟป่าที่เป็นไฟที่เกิดขึ้นในป่าจริงๆ มีประโยชน์ เป็นกลไกการเกื้อกูลกันของธรรมชาติที่มีมาตั้งแต่โบราณ จะมีข้อเสียก็ต้องเป็นมลพิษ เป็นปัญหาหมอกควันที่ซ้ำเติมคนเมือง ทางที่ดีคือให้มันเกิดแต่ต้องเกิดในขนาดที่เราประเมินว่ารับมือได้ เพราะถ้ามันลามติดบ้านช่องก็ลำบากเหมือนกัน” ดร.ทักษิณ กล่าวทิ้งท้าย แก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ดร.ทักษิณ อาชวคม ผู้อำนวยการสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา
ผศ.ดร.สคาร ทีจันทึก รองคณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์