xs
xsm
sm
md
lg

จริงไหม? ควรปล่อยให้เกิดไฟป่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ไฟไหม้ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา ภาพจากโต๊ะข่าวภูมิภาค
ปัญหาหมอกควันในพื้นที่ทางภาคเหนือยังไม่ทันจางหาย เหตุไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ในพื้นที่ดอยขุนช่างเขี่ยน ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ก็เกิดขึ้นอีก แถมยังลุกลามเป็นวงกว้างสร้างความเสียหายรุนแรงให้กับป่าเต็งรังและสัตว์ป่าในบริเวณนั้นนับร้อยไร่ ไม่รวมเหตุไฟป่ายิบย่อยที่เกิดขึ้นบ่อยผิดปกติ จนมีคนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุที่ไฟป่าในปัจจุบันรุนแรงมากจนยากจะควบคุม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “มนุษย์” ที่เข้าไปยุ่งกับธรรมชาติมากจนเกินความจำเป็น

เป็นที่ทราบกันดีว่า “ป่า” กับ “ไฟป่า” เป็นของคู่กัน แต่ในระยะหลังๆ ข่าวคราวเกี่ยวกับไฟป่าในไทยดูเกิดบ่อยครั้งและส่อเค้ารุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ล่าสุดเมื่อกลางดึกคืนที่ 8 พ.ค.ได้เกิดเหตุไฟไหม้ป่า ดอยขุนช่างเคี่ยน ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ อย่างรุนแรงและยากแก่การควบคุมจนมีนักวิชาการออกมาตั้งข้อสังเกตถึงความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของไฟป่าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ดังนี้


ภาพเจ้าหน้าที่เข้าดับไฟป่าพรุชุมชนสวนสมเด็จฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช
ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงติดต่อไปยังนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้เพื่อสอบถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ซึ่ง ผศ.ดร.สคาร ทีจันทึก รองคณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กล่าวว่า แนวคิดที่ไม่ควรทำแนวกันไฟ หรือปล่อยให้ไฟป่าเป็นไปตามธรรมชาติเป็นแนวคิดที่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่แนวความคิดที่เหมาะสมสำหรับการจัดการป่าในปัจจุบัน

เนื่องจากป่าในปัจจุบัน โดยเฉพาะป่าในประเทศไทย ไม่ใช่ป่าที่เป็นป่าซึ่งประกอบไปด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่า 100% ทว่าในป่าและรอบๆ ชายป่ายังมีคนเป็นจำนวนมากอาศัยอยู่ เพื่อจัดการป่าและรักษาสวัสดิภาพของคนที่ไม่ว่าจะอยู่อย่างถูกหรือผิดกฎหมาย นักวนศาสตร์และนักปกครองส่อนท้องถิ่นจึงจำเป็นต้องมีการจัดทำ “แนวกันไฟ” เพื่อ “จัดการไฟ” คือให้เกิดขึ้นอย่างพอเหมาะพอดีตามประเภทของป่า ไม่ได้ทำแนวกันไฟไว้เพื่อ “ป้องกันไฟ”
ผศ.ดร.สคาร ทีจันทึก รองคณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผศ.ดร.สคาร กล่าวว่า ในการเรียนการสอนด้านวนศาสตร์จะมีการระบุว่าป่าแบบใด มีความสัมพันธ์กับไฟอย่างไร กล่าวคือ ป่าที่มีไม้ผลัดใบเช่น ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังที่มักมีอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเป็นป่าที่มีไฟป่า เพราะลูกไม้ในป่าจะต้องโดนไฟจึงจะเจริญเป็นต้นใหม่ได้ ในขณะที่ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าพรุไม่ควรมีไฟป่า

ทำให้ในเขตป่าหรืออุทยานฯ แต่ละที่มีวิธีการรับมือกับไฟป่าที่เป็นไฟในป่าที่เกิดขึ้นเอง เกิดจากฟ้าผ่า ไม่ใช่เกิดจากการเผาของมนุษย์ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการเข้ามาแทรกแซงจากคนบางกลุ่ม เช่น นักการเมือง ที่ไม่เข้าใจธรรมชาติของไฟป่า เข้ามาสั่งการว่าในพื้นที่นั้นๆ ต้องไม่มีไฟป่าเกิดขึ้นเลย ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ส่วนนี้นักวิจัยและนักวนศาสตร์จึงต้องคอยอธิบายให้ความรู้

“ไฟป่าทุกวันนี้มันรุนแรงขึ้นจริง สาเหตุหลักมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือภาพรวมของโลก ที่แห้งแล้งมากขึ้น แล้งเสียจนป่าบางที่ที่ไม่เคยเกิดไฟป่าเช่นป่าพรุก็ดันเกิดไฟป่า เป็นความแปรปรวนจากธรรมชาติที่มีให้เห็นแต่ไม่มากเท่าคน ซึ่งผมจัดไว้เป็นประเด็นที่ 2 เพราะคนเข้าไปใช้พื้นที่ป่ามากขึ้นโดยเฉพาะบนพื้นที่สูงและบนเขาสำหรับการเพาะปลูกพืชพรรณทางการเกษตร คนพวกนี้ต้องใช้ไฟเพราะง่ายและประหยัด เขาไม่สามารถเอารถแทรกเตอร์ขึ้นไฟช่วยได้ เลยใช้การเผานี่แหละง่ายที่สุด แต่บางครั้งต้องการเผาแค่พื้นที่เล็กๆ แต่ไฟมันไวกว่า แถมคนช่วยดับก็มีน้อย มันเลยลามไปไหม้ป่าจนกลายเป็นเรื่องใหญ่ แต่พวกเขาก็ยังต้องทำ เพราะมันคือเงินที่จะทำให้มีชีวิตอยู่ได้วันต่อวัน นักวิชาการพูดอะไรเขาก็ไม่สน เรื่องนี้ถึงเป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องนั่งคุยกันทั้งประเทศ” ผศ.ดร.สคารบอกทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาาสตร์
ศ.ดร. นิวัติ เรืองพานิช อดีตคณบดี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ด้าน ศ.ดร. นิวัติ เรืองพานิช อดีตคณบดี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เผยว่า การเกิดไฟป่าเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ที่จะมีการผลัดใบ และการทำแนวกันไฟก็ถือเป็นวิธีการที่ถูกต้อง และเป็นหลักปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในระดับสากลเพื่อไม่ให้ไฟลุกลามไปยังป่าบริเวณอื่นหรือพื้นที่ที่ไม่ควรเกิดไฟไหม้ เพราะไฟป่าของไทยและของต่างประเทศแตกต่างกัน ไฟป่าของไทยจะลามที่พื้นแบบเตี้ยๆ แนวกันไฟจึงช่วยจัดโซนได้ ในขณะที่ไฟป่าของเมืองนอกซึ่งมักเป็นป่าสนจะเผาตั้งแต่โคนถึงยอด เพราะในเปลือกไม้มีน้ำมัน

“เราจะบอกว่าต้องไม่มีไฟป่าไม่ได้ ของมันต้องไหม้ โดยเฉพาะป่าเต็งรัง ถ้ามันไม่ไหม้ป่าเต็งรังก็จะค่อยๆ ถูกแทนที่จนเป็นป่าอื่น แต่เราสามารถจัดการให้ไฟป่ามันเป็นอย่างที่ควรเป็น ไม่ลุกลามใหญ่โตจนควบคุมไม่ไหวได้ โดยการลดปัจจัยที่ทำให้เกิดไฟไหม้ นั่นก็คือ ลดเชื้อเพลิง ระวังเพลิง และระวังลม การลดเชื้อเพลิงทำได้ด้วยการชิงเผาให้พื้นเรียบ ลดเพลิงก็คือป้องกันการจุดไฟเพราะทุกวันนี้ไฟป่าเกือบ 100% เกิดจากคนจุด ส่วนลมควบคุมยากก็ต้องปล่อยไป แล้วก็ทำแนวกันไฟ” ศ.ดร.นิวัติกล่าว
ดร.ทักษิณ อาชวคม ผู้อำนวยการสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
เช่นเดียวกับ ดร.ทักษิณ อาชวคม ผู้อำนวยการสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า ไฟป่าคือสิ่งจำเป็นที่ทำให้ป่าอยู่รอดโดยเฉพาะป่าเต็งรัง โดยยกงานวิจัย ของ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอดีตคณบดีคณะวนศาสตร์ ที่ได้ทดลองควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าเต็งรังมาต่อเนื่องเป็นเวลา 20 ปีจนพบว่า ป่าเต็งรังที่ถูกควบคุมไฟป่าตายหมด และค่อยๆ กลายสภาพเป็นป่าผสมผลัดใบ เนื่องจากโดนไม้ป่าดิบแล้งรุกพื้นที่ เนื่องจากไม้ในป่าเต็งรังมีการเจริญใต้ดินมากโดยเฉพาะรากและเปลือกมีความทนไฟทำให้แม้เกิดไฟไหม้ก็ไม่ส่งผลกระทบ และไฟป่ายังช่วยเคลียร์หญ้าที่ขึ้นปกคลุมอยู่บนหน้าดิน ทำให้ผลของยางที่ร่วงหล่นลงสู่พื้นสามารถเจริญงอกงามต่อไป ซึ่งเป็นการแสดงออกของธรรมชาติที่เด่นชัดว่าไฟป่าคือปัจจัยที่ทำให้ป่ายังคงอยู่รอด

“เรื่องไฟป่าผมว่ามนุษย์อย่างเราอย่าไปยุ่งกับธรรมชาติมาก ปล่อยให้มันเกิด ป่ามันดูแลตัวเองได้ ถ้าจะทำอะไรแค่แนวกันไฟกับคอยระวังไม่ให้มันมากเกินขอบเขตก็น่าจะพอ เหมือนทฤษฎีของชาร์ล ดาร์วินที่บอกไว้ว่า สิ่งมีชีวิตที่จะอยู่รอดหรือสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้ อะไรที่มันพอดี มันจะดี ทุกวันนี้ไฟป่าที่เกิดมันกลายเป็นเรื่องของการเมือง การเข้าไปยุ่งของคนมากเกินไป ไฟป่ามันก็มีแบบนี้มานับร้อยนับพันปี ผลงานวิจัยของคนญี่ปุ่นเกี่ยวกับซัลเฟตจากไฟป่าก็มีปรากฏแล้วเราจะไปเปลี่ยนธรรมชาติมันทำไม หากเป็นไฟไหม้ในป่าที่เป็นป่าจริงๆ และเป็นไฟป่าจริงๆ ผมจึงไม่ค่อยอยากให้ใครไปยุ่ง แต่ถ้าเป็นป่าที่ไม่ใช่ป่ามีบ้าน มีคน และเอาพวกเขาออกไม่ได้ เราก็ต้องวางแผนรับมือ วางแผนป้องกัน ทำแนวกันไฟบ้างก็เพียงพอ ไม่ใช่ว่าจะต้องป้องกันจนห้ามไม่ให้มีไฟป่า” ดร.ทักษิณกล่าวทิ้งท้าย









กำลังโหลดความคิดเห็น