xs
xsm
sm
md
lg

มท.สั่งรับมือภัยพิบัติช่วงวันหยุด เร่งทำประชาคมหมู่บ้าน มั่นใจคนแจง รธน.ไม่ผิด กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย (แฟ้มภาพ)
ปลัดกระทรวงมหาดไทยประชุมคอนเฟอเรนซ์บิ๊ก มท. หามาตรการเตรียมตัวรับภัยพิบัติช่วงหยุดราชการ ทบทวนระบบสื่อสารทั้งหมด รับขอความร่วมมือชาวบ้านได้แค่ 70% เร่งรัดหมู่บ้านทำประชาคมโครงการไหนควรรับ 2 แสน ย้ำร่วมมืออบรมครู ก.เผยแพร่รัฐธรรมนูญ รับห่วงคำถามประชามติ สั่งเก็งข้อสอบเชิญอัยการจังหวัดเป็นกุนซือศูนย์เผยแพร่ มั่นใจวิทยากรไม่ทำผิดกฎหมาย

วันนี้ (9 พ.ค.) ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อเวลา 10.00 น. นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนเป็นประธานการประชุมข้อราชการสำคัญร่วมกับผู้บริหารระดับสูง รองปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีทุกกรม ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผ่านเครือข่ายสื่อสารมหาดไทย วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ว่า เนื่องจากช่วงวันหยุดยาวหลายวันได้เกิดสาธารณภัยหรือวาตภัย ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก จึงต้องทบทวนว่าในกรณีวันหยุดยาวทางราชการ โดยเฉพาะฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอมีการเตรียมตัวอย่างไร แก้ไขปัญหาอย่างไร จากการประเมินแล้วใน 4-5 วันแม้จะเกิดเหตุใหญ่ ผู้ว่าฯ ก็สามารถลงไปแก้ไขได้ กรณีเพลิงไหม้ในเขตป่าบ้านขุนช่างเคี่ยน จังหวัดเชียงใหม่ ก็สามารถลงไปดำเนินการดับไฟจนดับสนิทได้

ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะทบทวนระบบการสื่อสารสั่งการจากส่วนกลางไปยังภูมิภาค ตำบล หมู่บ้านว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน เพราะเราประเมินสถานการณ์ด้านสาธารณภัย ไม่ว่าจะของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ประเมินว่าจะมีอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะมีผลกระทบ กระทรวงมหาดไทยจะลงไปแก้ไขเรื่องนี้ด้วย ในเรื่องการสื่อสารโดยตรงของผู้ว่าฯ ในการจัดการสาธารณภัยถือว่าทำได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่พอลงไปในพื้นที่ในการขอความร่วมมือจากประชาชนและภาคเอกชนเราทำได้ 60-70 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเมื่อมีภัยเกิดขึ้นจะต้องแบ่งกำลังคน พื้นที่ เครื่องมือในการช่วยเหลือ และช่องทางการสื่อสารให้มีความรวดเร็วไม่เกิดความสับสน

ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะเน้นย้ำเรื่องโครงการหมู่บ้านละ 2 แสนบาท ที่ดำเนินการตั้งแต่ 1 พ.ค. ถึง 31 ก.ค.จะดูว่าผ่านไปแล้วเกือบ 10 วัน จังหวัดและอำเภอไหนบ้างที่คณะกรรมการหมู่บ้านยังไม่ได้มีการทำประชาคม ก็จะต้องเร่งรัด โครงการไหนควรทำหรือไม่ควรทำ

นายกฤษฎากล่าวต่อว่า และวันนี้จะมีการเน้นย้ำเรื่องการให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยในวันที่ 18-19 พ.ค.จะมีการอบรมวิทยากรในระดับจังหวัดหรือ ครู ก. จำนวน 5 คน ที่ผู้ว่าฯ คัดเลือกเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ และครู ก. จะต้องไปเผยแพร่วิทยากรในระดับอำเภอหรือ ครู ข. ที่มีอำเภอละ 10 คน และลงไปเผยแพร่ต่อยังวิทยากรระดับหมู่บ้าน หรือครู ค. จำนวน 4 คน ซึ่งจะดูความพร้อมมีมากน้อยแค่ไหน

“จะเน้นย้ำว่าในเรื่องการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ วิทยากร 5 คน หรือครู ก.ที่มาจากส่วนกลาง ต้องสอบถาม กรธ.ที่เป็นผู้ร่าง และ กกต.ที่เป็นผู้กำหนด พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำประชามติ ว่าอะไรอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ชัดเจน ผู้ว่าฯ นายอำเภอจะต้องให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง ส่วนบทบาทการรักษาความสงบภายในพื้นที่ระหว่างการทำประชามติ ผู้ว่าฯต้องมีวิธีการในการห้ามปราม ประสานงานกับ กอ.รมน. และคสช.ในพื้นที่ เพื่อแก้ไข หากเกิดมีผู้ที่จะโหวตเยส และมีอีกฝ่ายมาโหวตโน ผู้ว่าต้องเป็นคนกลางในการห้ามปราม” นายกฤษฎากล่าว

นายกฤษฎากล่าวถึงการคัดเลือกวิทยากรว่า สำหรับครู ก.ให้ผู้ว่าฯ พิจารณาส่วนราชการอื่นๆ ตามสมควร เช่น รองผู้ว่าฯ หรือปลัดจังหวัดที่ผ่านการเป็นนายอำเภอ คุ้นเคยกับการเลือกตั้งในพื้นที่ ตัวแทนจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยของ คสช. ในพื้นที่กรณีเกิดเหตุความไม่สงบ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กระทรวงสาธารณสุข ที่มีลักษณะคล้ายกลไกมหาดไทย หรือสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด กระทรวงศึกษาธิการ คิดว่าขณะนี้ทุกจังหวัดเตรียมบุคลากรไว้พร้อมแล้ว รอเพียงแต่การไปรับการอบรมจาก กรธ. และ กกต.เท่านั้น ทั้งนี้ตนเป็นห่วงในเรื่องการทำความเข้าใจประชาชนในประเด็นคำถามประชามติ โดยในการอบรมวิทยากรจะมีการเก็งคำถาม ว่าประชาชนจะถามเรื่องอะไรบ้าง แล้ววิทยากรควรจะตอบอย่างไร แต่หากมีการถามคำถามที่วิทยากรไม่ได้เตรียมคำตอบไว้ จะได้แนะนำผู้ว่าฯ ให้เชิญสำนักงานอัยการจังหวัดที่รู้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายทุกจังหวัดเข้ามาเป็นที่ปรึกษาของศูนย์อำนวยการประชาสัมพันธ์การเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นคำถามไหนที่ไม่สามารถตอบได้จะต้องมีการประชุมกับอัยการจังหวัดและ กกต.จังหวัด

เมื่อถามว่า หากวิทยากรเกิดมีความเสี่ยงทำผิดกฎหมาย ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า เราใช้หลักประกันจากการคัดเลือกวิทยากร 5 หน่วยงานที่เป็นส่วนราชการ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย ตัวเองเป็นข้าราชการนอกจากจะต้องระมัดระวังไม่ให้ทำผิดกฎหมายทั่วไป จะต้องระมัดระวังในเรื่องความผิดทางวินัยด้วย มั่นใจว่าจะสามารถเข้าใจและดำเนินการได้ เมื่อถามว่า รัฐบาลและคสช.ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ ปลัด มท.กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย กำชับเรื่องเดียวคือให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ดูแลทุกข์สุขความเดือดร้อนของประชาชนด้วยตัวเอง เมื่อเกิดเหตุภัย หรือความขัดแย้งต่างๆ ก็ต้องลงไปเป็นคนกลาง


กำลังโหลดความคิดเห็น