xs
xsm
sm
md
lg

SuperSci: เจาะโครงสร้าง "อาคารเรียนต้านแผ่นดินไหว" แห่งแรกของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อาคารเรียนต้านแผ่นดินไหวขนาด 4 ชั้นที่กำลังก่อสร้างใหม่ของโรงเรียนพานพิทยาคม
แผ่นดินไหวแม่ลาวขนาด 6.3 เมื่อ 2 ปีก่อน สร้างความเสียหายไม่น้อยแก่อาคารบ้านเรือนใน จ.เชียงราย หนึ่งในนั้นคือ โรงเรียนพานพิทยาคม ที่โดนแรงสั่นสะเทือนถล่มอาคารเรียน 4 หลังจนอยู่ในสภาพพังใช้การไม่ได้

เมื่อต้องบูรณะเพื่อกลับมาการเรียนการสอนใหม่อีกครั้ง ทีมวิศวกรจึงเนรมิตให้อาคารหลังนี้ปลอดภัยยิ่งขึ้นด้วยโครงสร้างพิเศษ จนถูกยกให้เป็นโรงเรียนที่มีอาคารเรียนต้านแผ่นดินไหวแห่งแรกของไทย ด้วยเงินพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ กว่า 42 ล้านบาท



SuperSci สัปดาห์นี้ พาทุกคนออกมานอกสถานที่ไกลถึง จ.เชียงราย เพื่อย้อนรอยแผ่นดินไหวแม่ลาวครบ 2 ปี ในหลากหลายพื้นที่เพื่อสำรวจร่องรอยความเสียหายที่ยังคงปรากฎ และเยี่ยมชมดูการก่อสร้างอาคารใหม่ซึ่งวันนี้มีการคำนึงถึงผลกระทบจากแผ่นดินไหวมากขึ้น โดยเฉพาะที่โรงเรียนพานพิทยาคม ในอ.พาน จ.เชียงราย ที่มีการก่อสร้างอาคารเรียน 4 ชั้นใหม่ทั้งหลังด้วยโครงสร้างและรูปแบบอาคารพิเศษ จนเหล่านักวิจัยได้ยกให้เป็นโรงเรียนที่มีการก่อสร้างอาคารเรียนต้านทานแผ่นดินไหวแห่งแรกของไทย

นายสนอง สุจริต ผู้อำนวยการโรงเรียนพานพิทยาคม กล่าวว่า หลังเกิดแผ่นดินไหวเมื่อ 2 ปีก่อนอาคารเรียน 4 ชั้นซึ่งตั้งอยู่ติดกับทางเข้าโรงแรมได้รับความเสียหายหนักจนวิศวกรประเมินว่าไม่คุ้มกับการซ่อมแซม ทางโรงเรียนไม่มีงบประมาณซ่อมแซมจึงได้จัดสร้างอาคารเรียนชั่วคราวสำหรับการเรียนการสอนซึ่งเป็นไปอย่างทุลักทุเล จนความถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์จึงได้จัดสรรเงินส่วนพระองค์มอบให้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (วสท.) เป็นจำนวน 42 ล้านบาทสำหรับฟื้นฟูอาคาร ทำให้เกิดโครงการก่อสร้างอาคารเรียนต้านแผ่นดินไหวขึ้นเป็นหลังแรก ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงวันที่ 2 ก.พ. 58 ที่ผ่านมาด้วยรูปแบบอาคารเรียน 4 ชั้น 24 ห้องเรียนที่ไม่แตกต่างไปจากเดิม แต่มีขนาดใหญ่และพื้นที่ใช้สอยมากกว่า

ดร.ภาณุวัฒน์ จ้อยกลัด นักวิจัยในโครงการเผยแพร่ความรู้การก่อสร้างและเสริมความมั่นคงอาคารบ้านเรือนต้านแผ่นดินไหว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า โครงสร้างเสริมกำลังต้านแผ่นดินไหว ที่ทางวิศวกรรมสถานเลือกมาใช้กับอาคารนี้แบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ การใช้ฝ้ายิปซั่มบอร์ดที่มีน้ำหนักเบา แทนกำแพงอิฐก่อซึ่งมีน้ำหนักมากเพื่อลดน้ำหนักบรรทุกที่กระทำบนอาคาร เนื่องจากอาคารมีน้ำหนักบรรทุกมากจะเหนี่ยวนำแรงแผ่นดินไหวได้สูงทำให้เกิดความเสียหายมากหากมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ส่วนโครงสร้างที่ 2 คือ มีการใช้กำแพงชนิดพิเศษ ที่ทางวิศวกรเรียกว่า กำแพงรับแรงเฉือน (Shear Wall) ซึ่งถือเป็นโครงสร้างส่วนสำคัญมากที่จะช่วยให้อาคารปลอดภัย เพราะกำแพงละกษณะนี้จะช่วยต้านทานแรงทางด้านข้าง ซึ่งเป็นแรงแผ่นดินไหวที่ทำให้อาคารบ้านเรือนเสียหาย โดยกำแพงรับแรงเฉือน ภายนอกจะมีลักษณะเหมือนกำแพงอิฐก่อทั่วไป แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราพภายในตัวกำแพงรับแรงเฉือนจะประกอบด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กและเหล็กเส้นทำให้มีความแข็งแรงกว่า และยังไม่ทำให้เกิดเงาอิฐก่อเหมือนกำแพงทั่วไป อีกทั้งยังเป็นโครงสร้างที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการก่อสร้างอาคารต้านแผ่นดินไหวในประเทศไทยด้วย เพราะวิธีทำไม่ต่างจากการขึ้นกำแพงทั่วไปซึ่งแรงงานหรือผู้รับเหมาสามารถทำได้ และที่สำคัญยังไม่ทำให้งบบานปลายเพราะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากเดิมแค่ประมาณ 10-15% ในขณะที่ได้ค่าความปลอดภัยสูงกว่ามาก

ส่วนโครงสร้างอีกอย่างที่มีความพิเศษ ดร.ภาณุวัฒน์ เผยว่า อยู่ที่เสา โดยเสาของอาคารหลังนี้ได้ถูกออกแบบให้เป็นเสากลม เนื่องจากมีความแข็งแรงในทุกทิศทาง ต่างจากเสาเหลี่ยมซึ่งมีความแข็งแรงบางด้านและอ่อนแอบางด้าน โดยเสาแต่ละต้นมีการเสริมเหล็กที่เป็นเกลียวต่อเนื่องขึ้นไปตลอดทั้งเสา และมีการพันเกลียวถี่พิเศษทั้งบริเวณโคนด้านล่างและด้านบนและหุ้มด้วยเหล็กปลอกที่มีความหนาเป็นพิเศษอีกชั้น ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่าอาคารหลังนี้จะรับแรงแผ่นดินไหวได้ถึงระดับ 8 เลยทีเดียว

"จากองค์ประกอบทั้งหมดอันประกอบด้วยเสาซึ่งมีการเสริมเหล็กพิเศษในข้อต่อ มีการสร้างกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็ก มีการลดน้ำหนักบรรทุกด้วยการใช้ยิปซัม ทำให้อาคารนี้นับเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีคุณลักษณะในการต้านทานแผ่นดินไหวอย่างสมบูรณ์แบบ และถือเป็นอาคารเรียนสำหรับเด็กมัธยมหรือประถมแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการออกแบบสำหรับต้านทานแผ่นดินไหวอย่างครบถ้วน ซึ่งนอกจากที่โรงเรียนพานพิทยาคมแล้ว ก็ยังมีการก่อสร้างในลักษณะเดียวกันที่โรงเรียนแม่ลาววิทยาคม, โรงเรียนโป่งแพร่ และโรงเรียนร่องธารด้วย ส่วนอาคารนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จและใช้การได้ประมาณเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้" ดร.ภาณุวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
กำแพงรับแรงเฉือน (Shear Wall)
เสากลมภายในมีเหล็กเส้นหุ้มเหล็กปลอกแข็งแกร่ง
มีการใช้ผนังยิปซัมลดน้ำหนักอาคาร
คานใหญ่รองรับแรงสั่นสะเทือนได้ดี
ดร.ภาณุวัฒน์ จ้อยกลัด นักวิจัยในโครงการเผยแพร่ความรู้การก่อสร้างและเสริมความมั่นคงอาคารบ้านเรือนต้านแผ่นดินไหว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)









กำลังโหลดความคิดเห็น