xs
xsm
sm
md
lg

วิศวะ ม.สารคามเปลี่ยนเว็บแคมเป็นนวัตกรรมเพื่อคนตาบอด คว้าแชมป์จากซีเกท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุชาครีย์ เลวรรณ์, น.ส.นิลาวัลย์ หมีกุละ และ นายรวิรุจ บุตรโคษา (จากซ้ายไปขวา)
วิศวะ ม.สารคามเจ๋ง! คว้าแชมป์นวัตกรรมเพื่อคนตาบอด ควบ 2 รางวัลยอดเยี่ยมเวทีซีเกท หลังหยิบเลเซอร์สแกนควบกล้องเว็บแคมสุดธรรมดา มาพัฒนาเป็นนวัตกรรมสุดล้ำช่วยผู้พิการทางสายตา แก้ 4 ปัญหาชีวิตประจำวัน "เตือนของตก-เลือกสีเสื้อ-ระบุสายรถเมล์-ตรวจสิ่งกีดขวาง" คว้าเงินรางวัลรวม 3.7 แสนบาท

ประกาศผลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับการประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ครั้งที่ 2 (The 2nd Thailand Innovation Assistive Technology Challenge: The 2nd TIATCH) เวทีประกวดนวัตกรรมทางหุ่นยนต์สุดยิ่งใหญ่ของประเทศไทยที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด, สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์

รศ.ดร.ภูดิส ลักษณะเจริญ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน กล่าวว่า การประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาไทยได้ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการ โดยโจทย์ในปีนี้มุ่งไปที่เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บกพร่องทางการมองเห็น ให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง โดยมีกำหนดการแข่งขัน ระหว่างวันที่ 19-21 มี.ค. 2559 ณ ห้องประชุมโรสมัวร์ ชั้น 2 มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กรุงเทพฯ

รศ.ดร.ภูดิส เผยว่า ในการประกวดผู้แข่งขันจะต้องประดิษฐ์อุปกรณ์สวมใส่ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้บกพร่องทางการเห็นใน 4 ลักษณะ ตามโจทย์ความสามารถที่ผู้พิการทางสายตาต้องการ อันได้แก่ ความสามารถในการระบุชนิดวัตถุที่ตกพื้น, ความสามารถในการบอกทิศทางเพื่อหลบหลีกสิ่งกีดขวาง, ความสามารถในการอ่านป้ายรถโดยสาร และความสามารถในการระบุสีของเสื้อผ้า ซึ่งในการแข่งขัน แต่ละทีมจะต้องทดสอบประสิทธิภาพของนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้น จากการจำลองสถานการณ์เหมือนจริง 4 สถานี โดยทีมที่ทำคะแนนได้ดีที่สุดจะเป็นผู้ชนะเลิศ

"4 โจทย์การแข่งขันที่กำหนดขึ้น เราพิจารณาจากชีวิตประจำวันของผู้พิการทางสายตาตั้งแต่ตื่นนอนว่าเขาต้องการความช่วยเหลืออะไร อย่างแรกอาบน้ำเสร็จต้องแต่งตัว เขาจะทราบได้อย่างไรว่าเสื้อผ้าตัวไหนเป็นสีอะไร เป็นที่มาของนวัตกรรมระบุสีเสื้อผ้า ต่อมาต้องขึ้นรถไปทำงานถ้าไปที่ป้ายรถเมล์เขาจะทราบได้อย่างไร หากไม่มีคนอื่นให้ถาม แล้วถ้าระหว่างทางมีของตก มีอุปสรรคจะทำอย่างไร ทั้งหมดนี้คือที่มาของโจทย์ เพราะที่ผ่านมา เราเห็นศักยภาพของเด็กไทยด้านหุ่นยนต์มาตลอดทั้งหุ่นยนต์เตะฟุตบอลและอีกมากมาย ซึ่งถ้าเรากำหนดโจทย์ให้ความสามารถของเด็กไทยคืนประโยชน์ให้กับสังคมได้น่าจะเป็นสิ่งที่ดี จึงเป็นที่มาของโครงการในครั้งนี้ และเป็นที่น่ายินดีมากที่มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมการประกวดมากถึง 21 ทีม" ดร.ภูดิส กล่าว

สำหรับผลการแข่งขันทีมที่ชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Mecha MSU จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งประกอบด้วย นายสุชาครีย์ เลวรรณ์, น.ส.นิลาวัลย์ หมีกุละ และ นายรวิรุจ บุตรโคษา นักศึกษาชั้นปีที่ 2 และ 3 ภาควิชาเมคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่พัฒนานวัตกรรมช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาด้วยเครื่องมือกะทัดรัดขนาด 2 กำปั้นจากกล้องเว็บแคมราคาถูก และเซนเซอร์แสกน ผ่านการเขียนโปรแกรมอาดูโนเพื่อควบคุมการทำงาน

สุชาครีย์ เลวรรณ์ หัวหน้าทีม Mecha MSU กล่าวว่า หลักการทำงานของเครื่องมือมีด้วยกัน 2 ส่วน คือกล้องเว็บแคม ที่จะเป็นตัวอ่านสี, อ่านข้อความบนรถเมล์ และอ่านชนิดวัตถุ โดยอาศัยการเขียนภาษาซีชาร์ปให้กล้องเว็บแคมเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลทั้งสีและตัวอักษร ทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ว่าข้อความหรือสีที่อ่านคืออะไร ซึ่งในส่วนของการแสดงผลจะมีลำโพงเล็กๆ คอยให้เสียงเป็นภาษาไทยแก่ผู้พิการทางสายตา ส่วนระบบเซ็นเซอร์สแกนจะใช้กับการบอกสิ่งกีดขวาง โดยเซ็นเซอร์ที่ถูกปล่อยออกจากหัวปล่อยซึ่งติดตั้งอยู่ที่หน้าอกจะเป็นตัวระบุว่า ข้างหน้ามีสิ่งกีดขวางหรือไม่ เพื่อให้ผู้ใช้ตัดสินใจได้ว่าควรไปในทิศทางใด โดยทั้งหมดใช้เวลาในการประดิษฐ์คิดค้น 2 เดือน ในงบประมาณ 20,000 บาท

"ส่วนที่ทำยากที่สุดน่าจะเป็นการตรวจจับข้อความสายรถเมล์ครับ เพราะมันเคลื่อนที่ ทำให้การตรวจจับสัญญาณค่อนข้างยาก แต่เราก็พัฒนาด้วยการใช้หลักการของสีให้จังภาพแล้วลดความเข้มของพื้นหลังลง จะได้ประมวลผลง่ายขึ้น จนสุดท้ายสถานีบอกสายรถเมล์กลายเป็นส่วนการแข่งขันที่เรามั่นใจมากที่สุด ส่วนระบบเซ็นเซอร์สแกนก็ไม่ง่ายครับกว่าจะรู้ว่าควรใช้เทคโนโลยีนี้ ตอนแรกเราใช้คลื่นเสียงอัลตร้าโซนิก แต่ไม่เวิร์ค เดินชนกำแพงจนหัวโนไปหลายรอบ แต่ก็พยายามศึกษาไปเรื่อยๆจนมาเจอเซ็นเซอร์แสกน ต้องของคุณอาจารย์ที่ปรึกษา มหาวิทยาลัย และพี่ๆจากซีเกทที่คอยให้คำแนะนำด้วยครับ เงินรางวัลที่ได้ผมก็จะนำไปพัฒนาต่อยอดเพิ่ม ผู้พิการทางสายตาจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" หัวหน้าทีม Mecha MSU จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ด้าน น.ส.ศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง รองประธานฝ่ายปฏิบัติการโรงงานเทพารักษ์ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ซีเกทให้การสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้พัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการช่วยเหลือสังคม รวมทั้งการวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องนับ 10 ปี แต่ปีนี้ถือเป็นประวัติซาสตร์หน้าใหม่เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยมีเวทีใดในประเทศไทย ที่จัดการประกวดนวัตกรรมเพื่อผู้พิการทางสายตา ซึ่งมีอยู่มากในสังคมไทย ในครั้งนี้ซีเกทจึงให้การสนับสนุนด้วยงบประมาณการแข่งขัน 2.4 ล้านบาท พร้อมส่งทีมวิศวกรให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดโจทย์ กติกาการแข่งขัน รวมถึงเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ทีมผู้เข้าแข่งขันอย่างเต็มที่

"ซีเกทให้การสนับสนุนการประกวดเทคโนโลยีโดยเฉพาะหุ่นยนต์ต่างๆ มาเป็นเวลานาน แต่ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 สำหรับการประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสพดวกสำหรับคนพิการ และเป็นครั้งแรกสำหรับการประกวดนวัตกรรมเพื่อผู้พิการทางสายตา เพราะเราอยากขยายเวทีให้ใหญ่ขึ้น ให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพของตนเองและได้ช่วยเหลือสังคมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งในการแข่งขันครั้งนี้ก็ได้เห็นหลายผลงานที่มีประสิทธิภาพนำไปต่อยอดได้ และที่วำคัญเรายังเห็นแววของนักศึกษาอีกหลายๆ คนที่เราอยากจะชักชวนมาร่วมงานกับซีเกทในอนาคต" รองประธานฯ ซีเกท กล่าว

ทั้งนี้ทีมชนะเลิศจะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษา 150,000 บาท แล้วยังจะได้รับโอกาสเดินทางไปดูงานด้านหุ่นยนต์ที่ประเทศเกาหลีใต้ และเป็นตัวแทนเข้าร่วมการประกวดโครงงานสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการในงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ครั้งที่ 10 (10 th International Convention on Rehabilitation Engineering and Assistive Technology- iCREATe) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ด้วย

***ผลการแข่งขัน***

การแข่งขันทีมชนะเลิศ ได้แก่ทีม MechanMSU จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับเงินรางวัล 150,000 บาท พร้อมถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

รางวัลรองชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่ทีม Mahidol BME01 จากมหาวิทยาลัยมหิดล

รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม ได้รับเงินรางวัล 80,000 บาท ได้แก่ทีม iNoid [The lazy boy] มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

รางวัลพิเศษประเภท user award 2 ได้รับเงินรางวัล 60,000 บาท ได้แก่ ทีม MechanMSU จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

รางวัลพิเศษประเภท Seagate award ได้รับเงินรางวัล 60,000 บาท ได้แก่ MechanMSU จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

พร้อมกันนี้ทีมที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ 10 ทีม จะได้รับเงินรางวัลทีมละ 20,000 บาท
กล้องเว็บแคมธรรมดาถูกดัดแปลงด้วยการเขียนโปรแกรมภาษาซีชาร์ปจนสามารถระบุข้อความและสีได้
ส่วนลำโพงกระจายเสียง คอยบอกตำแหน่งหรือชนิดวันถุให้แก่ผู้้
เครื่องมือที่แชมป์พัฒนาขึ้นมีขนาดเล็กกะทัดรัด
สายไฟและคอมพิวเตอร์ประมวลผลขนาดเล็กถูกจัดเก็บไว้ในกระเป๋าสะพายหลัง
การแข่งขันสถานีตรวจจับสิ่งของ
การแข่งขันสถานีระบุสายรถเมล์
การแข่งขันสถานีเลือกสีเสื้อ
การแข่งขันสถานีสิ่งกีดขวาง
การแข่งขันสถานีสิ่งกีดขวาง
การแข่งขันสถานีสิ่งกีดขวาง
ประธานจัดการแข่งขันแสดงความยินดีกับทีมชนะเลิศ
ทีม Mecha MSU จากมหาวิทยาลัยมหาสารคามคว้า 3 รางวัลใหญ่จากการประกวด
ทีมที่ได้รับรางวัล
10 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ
รศ.ดร.ภูดิส ลักษณะเจริญ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน
พิธีปิดแลัมอบรางวัลจัดขึ้นที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยฯ







เพิ่มมูลค่าพลอยเกรดต่ำด้วย "ลำไอออน" เทคโนโลยีอนุภาคความร้อนต่ำพลังงานสูงทางเลือกใหม่เอาใจคนรักอัญมณี ให้ประสิทธิภาพดีกว่าการเผา "ใสกว่า-สีสดกว่า-ทุ่นเวลา-ไม่ทำให้พลอยแตก" เพิ่มราคาเศษพลอยไร้ค่าได้ 10 เท่า อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #sciencenews #mgrscience #manageronline #jewelry #ion #chiangmai #university

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on



กำลังโหลดความคิดเห็น