เวลาเราปล่อยสัตว์ เช่น นก ปลา ไก่ฟ้า เต่า กวาง ลิง ฯลฯ กลับคืนสู่ป่า และแม่น้ำ ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยตามธรรมชาติของมัน เรามักไม่รู้ชะตาชีวิตของมัน เพราะไม่เคยติดตามไปดูว่า สัตว์เหล่านั้นสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ดีเพียงใดและอย่างไร หรือไม่
ในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อน สมาคมนักอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งเนเธอร์แลนด์ได้ทดลองปล่อยนาก (Lutra lutra) ตัวหนึ่งคืนสู่หนองน้ำ ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของฝูงนากสายพันธุ์เดียวกันกับมัน หลังจากที่ได้จับนากตัวนั้นมาเลี้ยงตั้งแต่ยังเป็นทารก ด้วยเหตุผลว่ามันเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธ์ หลังการปล่อยสมาคมได้กำหนดให้ Hans Peter Koelewijn ซึ่งเป็นนักวิจัยแห่งสถาบัน Alterra Research ในเมือง Wegeningen แห่งเยอรมนีไปติดตามเฝ้าดูคุณภาพชีวิตของนากที่ถูกปล่อยคืนถิ่นเกิดและ Koelewijn ก็ได้พบว่า มันถูกเหล่านากตัวผู้กรูเข้าทำร้าย จนต้องคลานหนีเอาชีวิตรอดอย่างกระเซอะกระเซิง
อีกหนึ่งปีต่อมา การติดตามไปดูนากตัวดังกล่าว Koelewijn ได้พบว่า มันได้กลายเป็นพ่อของลูกนาก 14 ตัว อีกทั้งมีฮาเร็มซึ่งประกอบด้วยนากตัวเมียหลายตัว
แต่การมีลูกดกมิได้หมายความว่า วงศ์ตระกูลของมันจะจีรังยั่งยืน เพราะนากครอกนี้มีเพศสัมพันธ์กันระหว่างบรรดาญาติที่ใกล้ชิด จนทำให้ทายาทนากที่เกิดตามมาอ่อนแอ พิการ และสายพันธุ์เสื่อมจนถึงกับตายหมดไปในที่สุด
บทเรียนหนึ่งที่ Koelewijn ได้รับจากการศึกษาเรื่องนี้คือ แม้นักชีววิทยาจะมียุทธศาสตร์หรือโร้ดแม็พที่ประเสริฐในการปล่อยสัตว์ป่าคืนถิ่นกำเนิดดีสักปานใด นั่นมิได้หมายความว่า โครงการปล่อยสัตว์กลับบ้านเก่าจะประสบความสำเร็จ เพราะสัตว์ป่าเองก็มียุทธวิธี ในการดำรงชีวิตของมันเอง ซึ่งอาจไม่เหมือนกับวิธีหรือแผนที่มนุษย์จัดให้ก็ได้
ดังนั้นเพื่อให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไข เมื่อวันที่ 15-16 เมษายนของปี 2008 สหพันธ์นานาชาติเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ (Intenational Union for Conservation of Nature IUCN) จึงได้จัดให้มีการประชุม International Wildlife Reintroduction Conference ขึ้นเป็นครั้งแรกที่ Lincoln Park Zoo ในเมือง Chicago โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นนักชีววิทยาที่สนใจการปล่อยสัตว์คืนสู่ถิ่นกำเนิดจำนวนกว่า 200 คนจาก 31 ประเทศมาฟังรายงานการวิจัย และอภิปรายผลของการนำแรดนอเดียว (Rinoceros unicornis) คืนสู่ป่าในอินเดีย รวมถึงได้รับทราบผลการติดตามดูชีวิตของด้วง (Nicrophorus americanus) ที่ถูกนำไปปล่อยบนเกาะ Nantucket ในรัฐ Massachusetts ของอเมริกาด้วย
ที่ประชุมยังได้รับรู้อีกว่า ในเบื้องต้นความพยายามและความประสงค์ (ดี?) นี้ไม่ประสบความสำเร็จ แต่เมื่อเวลาผ่านไป โอกาสของความสำเร็จก็ดีขึ้น จนในบางกรณีสัตว์ที่ถูกนำไปปล่อยสามารถเจริญพันธุ์ต่อไปได้ดี แต่ในบางครั้งก็ถูกอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมมาคุกคามจนมันล้มตายไป และมีสัตว์อีกหลายสปีชีส์ที่ข้อมูลได้หายสาบสูญ นักอนุรักษ์จึงไม่รู้ว่ามันยังมีชีวิตอยู่อีกหรือไม่
จะอย่างไรก็ตาม การศึกษาและวิจัยเรื่องนี้ได้ก้าวหน้าไปมากอย่างน่ายินดี เพราะเมื่อ 20 ปีก่อนที่จะเริ่มมีการศึกษาเรื่องการคืนสัตว์สู่ถิ่นกำเนิด ได้มีสัตว์ประมาณ 100 สปีชีส์ที่ได้รับการศึกษา ถึงปี 2008 จำนวนสปีชีส์ของสัตว์ได้เพิ่มขึ้นถึงกว่า 700 สปีชีส์ และ 74% ของสัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมและนก
ในส่วนของความสำเร็จของโครงการก็มีบ้าง เช่น การปล่อยตัวลิง Golden lion tamarin (Leontopithecus rosalia) ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในบราซิล และเกือบจะสูญพันธ์ ก็พบว่าปัจจุบันกลับมีจำนวนกว่า 1,500 ตัว และในนิวซีแลนด์กว่า 80% ของสปีชีส์นกที่ถูกปล่อยป่าก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน
ปัญหาใหญ่ที่ท้าทายของนักวิจัยในโครงการนำสัตว์คืนสู่ป่า คือ การประเมินค่าความหลากหลายทางพันธุกรรมของสัตว์ที่ถูกนำไปปล่อย เพื่อให้รู้ชัดว่าป่าสามารถช่วยให้มันดำรงชีพต่อไปได้หรือไม่ ดังนั้นคุณภาพรวมของป่าจึงเป็นกุญแจสำคัญอีกดอกหนึ่งในการประเมินความสำเร็จของโครงการ แต่คุณภาพที่ว่านี้จะต้องเป็นคุณภาพในมุมมองของสัตว์ไม่ใช่ของมนุษย์ เพราะแม้มนุษย์จะคิดว่า ป่าที่จะให้มันไปอยู่นั้นเป็นสวนสวรรค์แห่งอีเดน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า สัตว์จะคิดเห็นเช่นเดียวกัน
โดยทั่วไปสัตว์จะสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ ถ้ามีหลักฐานว่าในป่ามีสัตว์สายพันธุ์เดียวกันอาศัยอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล ด้วยเหตุนี้นักชีววิทยาจากสวนสัตว์ที่ San Diego จึงได้กระจายมูลแรดดำไปทั่วพื้นที่ ก่อนจะปล่อยแรดดำที่ได้นำมาเลี้ยงเป็นเวลานานคืนป่าในแอฟริกาใต้ และใช้แต่มูลของแรดดำสปีชีส์เดียวกันเท่านั้น ส่วนที่นิวซีแลนด์ก็มีการวางตุ๊กตาไม้ที่ทำเป็นรูปนก tern ไว้เต็มพื้นที่ เพื่อหลอกให้นก tern จากสวนสัตว์เริ่มสร้างรัง และสร้างครอบครัว
ในประเทศ Puerto Rico ก็มีการนำนกแก้ว (Amazon vittata) คืนสู่ป่าที่ Rio Grande โดยในปี 2006 สวนสัตว์ได้เลี้ยงนกแก้ว 62 ตัว ในกรงขนาดใหญ่ เพื่อให้มันสามารถบินไปไหนมาไหนได้ค่อนข้าง “สะดวก” ก่อนจะปล่อยนกออกจากกรง การเลี้ยงนกเหล่านี้ในกรงที่มีขนาดใหญ่เป็นเวลานานทำให้มันคุ้นเคยกับกรงและหลังจากที่ได้รับการปล่อย มันจะตั้งรกรากสร้างรังอยู่ไม่ไกลจากกรงมาก
เพื่อการอยู่รอดสัตว์ป่าที่ได้รับการปล่อยจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีหาเหยื่อ และเลี้ยงดูลูกๆ ของมันด้วย รวมถึงต้องฝึกวิธีหลบหนีสัตว์ที่เป็นศัตรู เช่น ในกรณีของนกแก้ว มันต้องรู้ว่า เหยี่ยวคือศัตรูสำคัญที่คอยจ้องสังหารชีวิตมัน
จะอย่างไรก็ตามโครงการปล่อยสัตว์คืนสู่ป่าจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อ สัตว์ที่ถูกปล่อยนั้นสามารถสืบพันธ์และมีลูกหลานต่อไปได้เรื่อยๆ โดยมนุษย์มีบทบาทช่วยน้อยที่สุด และมนุษย์ในที่นี้คือ เหล่าชาวบ้านในพื้นที่
ในประเทศ Oman ซึ่งเป็นดินแดนที่เคยมีกวางเขายาว Arabian oryx (Oryx leucoryx) อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และกวางสปีชีส์นี้กำลังจะสูญพันธ์ แต่หลังจากที่ได้มีการนำกวางเขายาวนี้มาเลี้ยง จนมีมากถึง 450 ตัว แล้วนำกวางไปปล่อยป่า ก็ได้พบว่า กวางถูกพรานและนักล่าสัตว์ลอบสังหาร บางตัวถูกจับไปขายให้บรรดานักสะสมสัตว์หายากเลี้ยง ในราคาตัวละล้านบาท จนในที่สุด oryx ก็เกือบจะสูญพันธุ์อีก ดังนั้นรัฐบาล Oman จึงจำต้องปรับแผนการปล่อย Oryx สู่ป่า โดยกำหนดให้มีนักสังคมวิทยาที่เข้าใจปัญหาสังคมของชาวบ้านเข้ามาทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ด้วย เพื่อให้โครงการอนุรักษ์ oryx ดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ในจีนมีโครงการอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ (Ailuropoda melanoleuca) เพื่อปล่อยมันกลับสู่ป่าเช่นกัน และพบว่าหลังจากที่ได้นำแพนด้าตัวเมียตัวหนึ่งมาเลี้ยงจนโต และให้มันมีลูก เหตุการณ์นี้ทำให้ทุกคนคิดว่านั่นคือความสำเร็จแล้ว แต่เวลาปล่อยแพนด้ากลับสู่ป่า มันอาจจะประสบความยากลำบากในการดำรงชีพ เพราะหาคู่ครองไม่ได้ และมีศัตรูมากมาย รวมถึงการไม่เป็นที่ยอมรับในบรรดาแพนด้าป่าตัวอื่นๆ จนในที่สุดมันอาจล้มป่วยหรือบาดเจ็บ เพราะถูกแพนด้าอื่นทำร้ายจนบาดเจ็บและอดอาหารตาย อนึ่ง นักอนุรักษ์แพนด้ายังได้พบอีกว่า โอกาสการมีชีวิตรอดของแพนด้าตัวเมียมักจะสูงกว่าแพนด้าตัวผู้ เพราะตัวผู้จะถูกเจ้าถิ่นมองเป็นศัตรู และตัวเมียจะถูกมองเป็นเนื้อคู่ที่ฟ้าประทาน
ในการติดตามวิถีชีวิตของแพนด้าที่ถูกปล่อยป่านั้น นักอนุรักษ์ใช้ปลอกคอที่มีอุปกรณ์ GPS ติดอยู่กับตัวแพนด้า และใช้นักวิจัย 12 คนในการติดตามดูมันโดยใช้กล้องถ่ายภาพที่รับรังสีอินฟราเรดจากตัวแพนด้านับตั้งแต่วันแรกที่มันถูกปล่อยจากกรงเลี้ยง การเฝ้าดูนี้นักวิจัยต้องดำเนินการติดตามที่ระยะไกล โดยให้แพนด้าอยู่ห่างจากตัวมนุษย์มากที่สุด
หลังจากที่เวลาผ่านไปพอสมควร นักวิจัยก็ได้เข้าไปหาตัวแพนด้าอีก เพื่อตรวจสุขภาพของมันเป็นระยะๆ โดยพนักงานตรวจจะสวมชุดแพนด้าที่ไม่มีกลิ่นตัวคนเลยเพื่อให้มันวางใจ ถ้าพบว่ามีมันสุขภาพแข็งแรงและไม่เป็นโรคใดๆ นั่นก็เป็นเรื่องดีแต่หาได้หมายความว่ามันจะอยู่รอด เพราะเวลาเกิดแผ่นดินไหวหรือไฟป่า ที่อยู่อาศัยของแพนด้าอาจถูกทำลาย จนมันอาจเสียชีวิตได้
ดังนั้นโอกาสการรอดชีวิตของแพนด้าก็ขึ้นกับการเฝ้าติดตามของนักอนุรักษ์ค่อนข้างมาก
โดยทั่วไปแพนด้ามีอายุขัยประมาณ 15 ปี ถ้ามันสามารถมีลูกได้ก่อนเสียชีวิต โครงการก็นับว่า “สำเร็จแล้ว” เพราะมันจะเลี้ยงดูลูกของมันเป็นอย่างดี แต่มนุษย์ก็ต้องช่วยบ้างในบางโอกาส
ศูนย์วิจัยแพนด้าในจีนจึงได้พัฒนาเทคนิคการเลี้ยงแพนด้าก่อนจะปล่อยมันคืนสู่ป่า โดยฝึกให้มันมีสัญชาตญาณของแพนด้าป่า เพื่อจะได้เอาตัวรอดเวลาเผชิญศัตรูที่จะมาต่อสู้ แย่งชิงอาหาร และได้ใช้แพนด้าตัวแม่เป็นครูฝึกตั้งแต่แพนด้าลูกมีอายุได้ 3 เดือน โดยแม่จะสอนให้มันรู้จักวิธีหนีอันตรายจากธรรมชาติ จากคนที่จะมาทำร้าย และให้รู้วิธีทนความหนาวเหน็บให้ได้ เป็นต้น นอกจากนี้นักอนุรักษ์แพนด้าอาจเปิดเทปเสียงของเสือ และของหมีดำให้ลูกแพนด้าได้ยินเพื่อจะได้ตระหนักในภัยจากสัตว์อื่นด้วย
แม้จะมีปัญหามากมาย แต่นักอนุรักษ์สัตว์หายากหรือสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธ์ก็มีความหวังว่า มันจะรอดชีวิตอย่างยั่งยืนในยุค Anthropocene ที่มนุษย์กำลังครองโลก
ดังนั้นการปล่อยนก ปล่อยปลา หรืออะไรก็ตาม เราควรคำนึงถึงชีวิตในอนาคตของสัตว์ที่ถูกนำไปปล่อยด้วย หาไม่คนที่คิดว่าได้บุญจริงๆ อาจจะได้บาป เพราะการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็เป็นได้
อ่านเพิ่มเติมจาก WILD HOPE: On the Front Lines of Conservation Success. โดย Andrew Balmfora จัดพิมพ์โดย University of Chicago Press 2012
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์