xs
xsm
sm
md
lg

วิจัย "อาร์เอ็นเอ-แอนติบอดี" กระตุ้นกุ้งกุลาออกไข่ดีแทนวิธี "ตัดตา"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเกษตรกรนิยมใช้วิธีตัดตากุ้งเพื่อกระตุ้นให้เกิดการวางไข่
แม้วิธีดั้งเดิมอย่าง "การตัดตากุ้ง" จะเป็นการกระตุ้นให้กุ้งตัวเมียวางไข่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ในทางตรงข้ามวิธีการนี้ก็เข้าข่ายการทารุณสัตว์จนทำให้ต่างชาติเริ่มตั้งข้อกังขา นักวิจัยไทยจึงเดินหน้าคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ด้วยการใช้ "อาร์เอ็นเอสายคู่" และ"แอนติบอดี" เพื่อส่งเสริมการผลิตกุ้งสายพันธุ์ดีให้แก่เกษตรกร

น.ส.สมใจ วงศ์ตรีภพ ผู้จัดการศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง (ศวพก.) จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า กุ้งกุลาดำเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ที่สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศต่อปีเป็นจำนวนมาก ตลาดกุ้งกุลาดำทั่วโลกมีความต้องการมากถึง 4 แสนตันโดยเฉพาะกลุ่มตลาดพรีเมียม ในประเทศไทยมีผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำอยู่ประมาณ 300 ราย ซี่งผลิตลูกกุ้งได้ประมาณปีละ 1 พันล้านตัวเพราะกุ้งกุลาดำเป็นกุ้งพันธุ์พื้นเมืองของไทยที่มีสีสันสวยงามชวนกินและมีรสชาติดี

เพื่อขยายโอกาสให้ไทยมีโอกาสก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในตลาดกุ้งกุลาดำโลก การผลิตกุ้งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สายพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตลูกหลานสูงได้เป็นจำนวนมากจึงเป็นสิ่งสำคัญ ก่อนหน้านี้จึงมีการนำเทคนิคต่างๆมาทดลองใช้เพื่อเพิ่มปริมาณการวางไข่ของแม่กุ้ง โดยเทคนิคที่ได้รับความนิยม ได้ผลจริง และใช้กันอย่างแพร่กลายที่สุดคือ "เทคนิคการตัดตา" ที่เป็นการใช้อุปกรณ์คีบตัดก้านตาของกุ้งออกไปข้างหนึ่ง

สำหรับสาเหตุที่ต้องตัดตากุ้ง สมใจเผยว่า เป็นเพราะที่บริเวณนั้นมีสมองส่วนออปติกโลปที่มีการสร้างฮอร์โมนยับยั้งการพัฒนารังไข่ (gonad Inhibiting hormone) อยู่ หากตัดออกก็จะเป็นการลดปริมาณฮอร์โมนยับยั้งการพัฒนารังไข่ลงเมื่อรังไข่พัฒนาดีมีความสมบูรณ์ กุ้งแม่พันธุ์ก็จะวางไข่ดีขึ้นและออกไข่ปริมาณมากขึ้น

"กุ้งเป็นสัตว์ที่มีระบบสืบพันธุ์แบบปิด กุ้งตัวผู้จะต้องฝากสเปิร์มในรังไข่ตัวเมียจึงจะปฏิสนธิได้ทำให้การสืบพันธุ์แบบปกติยากอยู่แล้ว ยิ่งมีสมองส่วนออปติกโลปที่สร้างฮอร์โมนยังยั้งการสืบพันธุ์ ทำให้โอกาสการผสมพันธุ์และเกิดการปฏิสนธิตามธรรมชาติยิ่งมีน้อย จึงมีภูมิปัญญาเป็นเทคนิคการตัดตาซึ่งดีแต่ในอีกแง่ก็เป็นการทารุณสัตว์ ซึ่งเราค่อนข้างเป็นห่วงเพราะในอนาคตพวกคู่ค้าจากฝั่งยุโรปอาจใช้จุดนี้เป็นข้อต่อรองทางการค้าได้ ศวพก.จึงร่วมมือกับ ม.มหิดลในการใช้อาร์เอ็นเอสายคู่และแอนติบอดีในการเข้าไปบล็อคฮอร์โมนแทนการตัดตา" สมใจ เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ดร.สุพัตรา ตรีรัตน์ตระกูล อาจารย์ประจำสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้พัฒนาอาร์เอ็นเอสายคู่และแอนติบอดี กล่าวว่า งานวิจัยที่ทำเป็นการพัฒนาสารกระตุ้นให้กุ้งวางไข่โดยไม่ต้องตัดตา โดยตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในปี 2546 จนถึงขณะนี้มีการใช้สาร 2 ประเภท ได้แก่ อาร์เอ็นเอสายคู่และแอนติบอดี ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นทดสอบกับจำนวนกลุ่มตัวอย่าง และขยายผลการทดสอบในศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้งหลายภูมิภาค ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ศวพก. จ.สุราษฎร์ธานี

ดร.สุพัตรา อธิบายว่า การสร้างโปรตีนโดยปกติจะต้องเริ่มจากดีเอ็นเอ เป็นเอ็มอาร์เอ็นเอะโปรตีนตามลำดับ ในฐานะที่ฮอร์โมนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง เธอจึงคิดออกแบบการทดลองแบบตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการสังเคราะห์สารชีวโมเลกุลชนิดแรกคือ ดีเอ็นเอสายคู่ให้เข้าไปยับยั้งการเกิดเอ็มอาร์เอ็นเอก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นโปรตีนทำให้กุ้งที่ได้รับเอ็มอาร์เอ็นเอสายคู่ไม่มีการผลิตฮอร์โมนยับยั้งการพัฒนาของรังไข่ และเพื่อให้ผลการทดลองครอบคลุมมากขึ้นเธอจึงสังเคราะห์สารชีวโมเลกุลตัวที่สองคือ แอนติบอดีขึ้นมาด้วยเพื่อให้เข้าไปจับกับฮอร์โมนให้ไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งคล้ายกับกลไกการทำงานของวัคซีน

แม้จะดำเนินงานต่อเนื่องมานานนับ 10 ปี แต่ดร.สุพัตรา กล่าวว่างานวิจัยทั้งหมดยังคงอยู่ในขั้นวิจัยต่อ เพราะยังมีข้อมูลอีกหลายส่วนที่ต้องเก็บเพิ่มทำให้ยังไม่สามารถถ่ายทอดสู่เชิงพาณิชย์ ยกเว้นบริษัทเอกชนบางรายที่ให้ทุนวิจัยร่วมที่จะสามารถนำผลการวิจัยไปเริ่มทดลองได้ เพราะขณะนี้งานวิจัยเดินไปถึงขั้นทดสอบได้เแล้วว่าทั้งอาร์เอ็นอีและแอนติบอดีใช้งานได้ดี โดยงานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการนานาชาติล่าสุดทำให้รู้ว่าอัตราส่วนการใช้ที่พอเหมาะสำหรับกุ้งกุลาดำของอาร์เอ็นเออยู่ทึ่ประมาณ 0.3 ไมโครกรัมต่อน้ำหนัก 1 กรัมกุ้ง และใช้แอนติบอดีประมาณ 20 ไมโครกรัมต่อกุ้ง 1 ตัว

สำหรับการผลิตอาร์เอ็นเอและแอนติบอดี ดร.สุพัตราเผยว่าขั้นตอนทั้งหมดจะเกิดขึ้นที่สถาบันชีววิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายาโดยจะเริ่มต้นจากการนำนิวคลีโอไทด์ของกุ้งไปผ่านการโคลนเพื่อให้ได้สายนิวคลีโอไทด์คู่แฝดขึ้นมา จากนั้นจึงนำไปตัดต่อในแบคทีเรียแล้วทำการเลี้ยงให้แบคทีเรียเพิ่มจำนวนจนสร้างอาร์เอ็นเอสายคู่ เมื่อได้อาร์เอ็นเอสายคู่ในปรืมาณที่มากพอ จึงนำมาทำให้บริสุทธิ์เพื่อรอสำหรับการนำไปฉีดในกุ้ง ส่วนการผลิตแอนติบอดีจะทำโดยการสังเคราะห์แอนติบอดีที่มีความจำเพาะกับโปรตีนแล้วนำเข้าสู่เซลล์ที่สามารถแบ่งตัวได้ แล้วให้เซลล์เพิ่มจำนวนจนได้แอนติบอดีในปริมาณที่มากพอแล้วจึงนำเข้าสู่การทำให้บริสุทธิ์

"เราจะฉีดสารทั้งคู่เข้าสู่แม่พันธุ์กุ้งที่บริเวณขาคู่ที่ 3 ถึง 4 ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่มีเปลือกแข็งและตรงกับช่องเลือดบริเวณอกพอดี โดยสารทั้งสองก็จะค่อยๆ ออกฤทธิ์หลังฉีดภายในเวลาประมาณ 5-7 วันแล้วแต่ชนิดพันธุ์ซึ่งอยู่ในระดับเร็วพอๆกับการตัดตาหรืออาจจะช้ากว่าเล็กน้อย แต่ที่ดีกว่าการตัดตาอย่างเห็นได้ชัดคือไม่เป็นการทรมาน ไม่ทำให้กุ้งโทรม หรือถ้ากุ้งโทรมก็เก็บไปบำรุงใหม่แล้วค่อยนำมาเข้ากระบวนการใหม่ก็ได้ ในขณะที่กุ้งตัดตาอีกไม่นานก็จะตาย ต้องโละขายเป็นกุ้งเนื้อราคาต่ำ ต้องเสียต้นทุนนำกุ้งกลุ่มใหม่เข้ามา ต้องเสียเวลา เสียค่าอาหารในการขุ่น การกระตุ้นการวางไข่ด้วยอาร์เอ็นเอและแอนติบอดีจึงมีความคุ้มทุนกว่าและมั่นใจว่าในอนาคตจะได้รับความนิยมในวงกว้าง ส่วนงานวิจัยจะเสร็จจนเข้าสู่เชิงพาณิชย์เมื่อไหร่ยังตอบไม่ได้ เพราะตอนนี้ยังติดขัดในเรื่องงบวิจัย ถ้ามีงบเข้ามาสนับสนุนก็มั่นใจว่าจะได้เห็นอีกไม่นานเกินรอค่ะ" ดร.สุพัตรา กล่าวทิ้งท้าย
ลูกกุ้งกุลาดำ
กุ้งที่ตัดตาจะรีบวางไข่และตายลงอย่างรวดเร็ว
กุ้งกุลรดำแม่พันธุ์
การฉีดอาร์เอ็นเอและแอนติบอดีจะฉีดบริเวณขาคู่ที่3-4
น.ส.สมใจ วงศ์ตรีภพ
ดร.สุพัตรา ตรีรัตน์ตระกูล









กำลังโหลดความคิดเห็น