xs
xsm
sm
md
lg

ตามไปดู "โรงเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลา" ระบบความปลอดภัยสูง ที่สุราษฎร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แม่พันธุ์กุ้งกุลาดำ
“เลี้ยงกุ้งกุลา ยากพอๆกับเลี้ยงลูก” ประโยคนี้อาจดูฟังเกินจริงไปสักหน่อย แต่สำหรับคนในวงการผู้เลี้ยงสัตว์น้ำต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า “กุ้งกุลาดำ” เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดที่เลี้ยงยาก ต้องอาศัยการดูแลประคบประหงมสูงโดยเฉพาะกุ้งพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ทำให้ในปัจจุบันต้องมีหน่วยงานผลิตพ่อแม่กุ้งในระบบความปลอดภัยขั้นสูง แต่จะมีรูปแบบการเลี้ยงอย่างไร ต้องรักษาความปลอดภัยอะไรบ้าง ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จะพาไปดู

ช่วงกลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์มีโอกาสติดตาม ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทีมนักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เยี่ยมชมการดำเนินงานของ “ศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง” (ศวพก.) อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ที่ในวันนี้เปิดทำการเป็นศูนย์กลางการผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำปลอดโรค มาเป็นเวลากว่า 13 ปีเต็ม

น.ส.สมใจ วงศ์ตรีภพ ผู้จัดการศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง (ศวพก.) กล่าวว่า ก่อนปี 2546 กุ้งกุลาดำเป็นกุ้งสายพันธุ์หลักที่เลี้ยงและส่งออกเนื่องจากเป็นกุ้งสายพันธุ์พื้นถิ่นมีลักษณะเด่น คือมีขนาดใหญ่ รสชาติดี และสีสวย แต่หลังจากประสบปัญหาขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำ มีอาการโตช้า ประกอบกับมีสายพันธุ์กุ้งขาวที่พัฒนาพันธุ์ให้มีลักษณะเลี้ยงง่าย ผลผลิตสูง จึงมีการนำเข้าสายพันธุ์กุ้งขาวเข้ามายังประเทศไทย เกษตรกรไทยจึงเปลี่ยนจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำไปเลี้ยงกุ้งขาวเพิ่มขึ้น ปี 2554 ผลผลิตกุ้งกุลาดำมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 ของผลผลิตกุ้งรวม

แม้กุ้งขาวจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่สมใจ เผยว่า ความต้องการกุ้งกุลาดำก็คงยังมีอยู่ เพราะกุ้งกุลาดำ เป็นกุ้งพันธุ์พื้นเมืองที่มีขนาดใหญ่ รสชาติดี และมีสีสวย ในปี 2546 รัฐบาลยุคนั้นจึงจัดสรรงบประมาณเป็นการเฉพาะภายใต้โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม และจัดตั้ง ศวพก.ขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการคัดเลือกและผลิตพ่อแม่พันธุ์ปลอดโรคจากรุ่นสู่รุ่นให้แก่เกษตรกร ด้วยการดำเนินงานของบุคลากรระดับนักวิชาการและระดับทำงานประมาณ 30 คน

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำปลอดโรคของ ศวพก.จะมีความพิเศษกว่าการเลี้ยงกุ้งของฟาร์มอื่น เพราะทำในระบบปลอดภัยทางชีวภาพ(ฺBiosecurity) โดยจะเริ่มจากต้นน้ำที่ “การพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง” จากการนำกุ้งกุลาดำในที่ต่างๆ ในธรรมชาติมาเข้าสู่กระบวนการของ 3 หน่วยตามขั้นตอน ได้แก่ หน่วยกักกันโรค (Quarantine Center) ที่มีหน้าที่กรองและคัดทิ้งกุ้งที่ติดโรคเพื่อสร้างความมั่นใจว่ากุ้งที่นำมาเข้าสู่ระบบไม่มีเชื้อโรคติดต่ออย่างน้อย 2 รุ่น ที่หลังจากนั้นจะถูกส่งไปยัง ศูนย์ผสมและคัดเลือกสายพันธุ์ (์Nucleus Breeding Center) และศูนย์เพิ่มจำนวนพ่อแม่พันธุ์กุ้ง (Broodstock Multiplication Center) โดยทั้งหมดจะทำในระบบปลอดภัยทางชีวภาพ

เมื่อได้พ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำแล้ว ขั้นตอนต่อไปไม่ใช่การส่งขายให้กับเกษตรกร เพราะ สมใจ กล่าวว่ายังคงต้องปรับปรุงสายพันธุ์ต่อไปอีกเพื่อทำการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ดีที่สุดในรุ่นนั้นๆ ให้เกิดการผสมพันธุ์ตามแผนที่ออกแบบไว้ (Mating design) เพื่อปรับปรุงให้สายพันธุ์กุ้งดีขึ้นเรื่อยๆ จนถึงที่สุด จากนั้นจึงค่อยนำเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกลูกกุ้งจากครอบครัวที่ดีส่งไปยังศูนย์เพิ่มจำนวนพ่อแม่พันธุ์ ที่จะมีหน้าที่เลี้ยงลูกกุ้งจนโตเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แล้วจึงส่งให้โรงเพาะฟักนำไปผลิตเป็นลูกกุ้ง เพื่อส่งให้กับเกษตรกรต่อไป

“เราดำเนินการปรับปรุงพันธุ์กุ้งตามแผนปรับปรุงพันธุ์โดยเน้นน้ำหนักตัวตอนกุ้งมีอายุ 5 เดือน ซึ่งเป็นช่วงอายุที่จับขายทั่วไป ซึ่งพบว่ากุ้งในแต่ละรุ่นที่ได้มีการเจริญเติบโตและมีน้ำหนักเฉลี่ยเพิ่มขึ้น จนปัจจุบัน ศวพก.ได้พัฒนามาจนถึงรุ่นที่ 7 โดยกุ้งที่ได้มีน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 26 กรัมต่อตัว เมื่ออายุ 5 เดือน และยังมีความอึด ทนทานต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจนเป็นที่พอใจของเกษตรกรทั้งในและต่างประเทศ เพราะมีอัตราการฟื้นจากการสลบขณะขนส่งในเปอร์เซ็นที่น่าพอใจ โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ศวพก.ได้ส่งพ่อแม่พันธุ์กุ้งให้แก่เอกชนไปแล้วกว่า 3,378 ตัว และส่งลูกกุ้งให้แก่เกษตรกรไปแล้วกว่า 89.77 ล้านตัว คิดเป็นมูลค่าประมาณ 23 ล้านบาท” สมใจ กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

นอกจากการเลี้ยงในระบบปลอดภัยทางชีวภาพเพื่อป้องกันการติดเชื้อแล้ว สมใจ ยังเผยด้วยว่า ศวพก.ยังมีการนำเทคนิคและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการตรวจวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้งด้วย อาทิ การตรวจสอบไวรัสเชิงลึกถึงข้อมูลฐานดีเอ็นเอด้วยระบบเรียลไทม์พีซีอาร์, การผสมเทียมกุ้ง, การฉีดสีแยกครอบครัว, การจำแนกครอบครัวกุ้งด้วยการใช้เครื่องหมายดีเอ็นเอ, ระบบฐานข้อมูลปรับปรุงพันธุ์, เทคนิคให้ฮอร์โมนแทนการตัดตากุ้ง ไปจนถึงการวิจัยเพื่อเพาะเลี้ยงเพรียงทรายซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารหลักของพ่อแม่พันธุ์ โดยใช้มาตรฐานควบคุมการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure : SOP) เป็นหลักสำคัญในการทำงาน

ทั้งนี้ สมใจ ได้เปิดโอกาสให้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์เข้าเยี่ยมชมแผนกต่างๆ ของ ศวพก.ซึ่งเป็นเขตหวงห้ามด้วย โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าชมทั้งคณะเพียง 15 คนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยผู้เยี่ยมชมทั้งหมดจะต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายแล้วสวมใส่ชุดปฏิบัติการสีชมพูของศูนย์ที่จัดเตรียมไว้ให้พร้อมรองเท้าบู๊ต พร้อมผ่านด่านฆ่าเชื้ออย่างน้อยอีก 2 ด่านจึงจะสามารถเข้าไปชมพื้นที่ภายในเขตปลอดเชื้อได้ ซึ่งภายในเขตปลอดเชื้อที่ทีมข่าวฯ ได้เข้าเยี่ยมชม ประกอบด้วย อาคารเพาะฟัก สำหรับเตรียมความพร้อมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เช่น ห้องผสมเทียม ห้องเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ ห้างวางไข่ และห้องฟักไข่ ซึ่งสภาพแวดล้อมทั้งหมดจะถูกจัดการและควบคุมให้เป็นไปตามองค์ความรู้การเลี้ยงอย่างเข้มงวด

ส่วนต่อมาเป็นส่วน อาคารอนุบาลลูกกุ้ง สำหรับอนุบาลลูกกุ้งตั้งแต่ระยะนอเพลียสหรือระยะตัวอ่อน ไปจนถึงระยะโพสต์ลาวาที่เป็นระยะเกือบสุดท้ายของระยะตัวอ่อน ต่อเนื่องไปยังอาคารเลี้ยงไดอะตอมและเพรียงทรายซึ่งเป็นอาหารสดปลอดเชื้อของพ่อแม่พันธุ์กุ้ง ซึ่งในส่วนนี้มีการพัฒนาเครื่องแยกเพรียงทรายออกจากทราย ขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับปฏิบัติงานใน ศวพก.เพื่อความสะดวกรวดเร็วและลดภาระการทำงานของเจ้าหน้าที่ลงด้วย
ลูกกุ้งกุลาดำ
สีแดงบริเวณตาคือแท็กบ่งบอกครอบครัวของกุ้งซึ่งมีความจำเป็นมากในการผสมพันธุ์ตามแผน และนอกจากการแท็กตาแล้วระหว่างการเลี้ยงยังมีการฉีดสีบริเวณกล้ามเนื้อเพื่อแยกครอบครัวซึ่งเมื่อกุ้งลอกคราบสีก็จะยังอยู่ไม่หายไปสามารถเช็คได้ตลอดระยะเวลาการเลี้ยง
ส่วนปั๊มน้ำสำหรับโรงเลี้ยงกุ้ง
ก่อนเข้าห้องปลอดเชื้อต้องผ่านการเหยียบน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
บ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำที่พร้อมสำหรับการผสมพันธุ์
ระบบน้ำภายในบ่อพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำที่พร้อมสำหรับการผสมพันธุ์
หลอดไฟให้ความร้อนภายในห้องฟักไข่
ห้องฟักไข่เต็มไปด้วยหลอดไฟให้ความร้อน
ก่อนเข้าชมห้องปลอดเชื้อต้องล้างมือด้วยน้ำผสมไอโอดีนก่อนทุกครั้ง
โรงเลี้ยงกุ้ง
โรงเลี้ยงกุ้ง
ระบบอากาศและน้ำถูกควบคุมไว้เป็นอย่างดี
ล่อเลี้ยงลูกกุ้งกุลาดำ
ลูกกุ้งกุลาที่กำลังเจริญเติบโตรอเป็นพ่อแม่พันธุ์
ส่วนเลี้ยงไดอะตอมสำหรับใช้เป็นอาหาร
เพรียงทราย
บ่อทรายสำหรับเลี้ยงเพรีย
เครื่องเก็บเกี่ยวเพรียงสาย
อาคารวิจัยย่อยๆภายใน ศวพก.
น้ำทะเลที่ถูกสูบเข้ามาจะถูกนำมากักเพื่อดักโรคก่อนจะนำไปเข้ากระบวนการทำสะอาดเพื่อใช้สำหรับเลี้ยงกุ้ง
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมเปลี่ยนชุดเพื่อเข้าชมส่วนโรงเลี้ยงปลอดเชื้อ
น.ส.สมใจ วงศ์ตรีภพ









กำลังโหลดความคิดเห็น