กระทรวงวิทย์ขนนานานวัตกรรมกำจัด “ยุงลาย” ตายเกลี้ยงตั้งแต่ลูกน้ำยันตัวเต็มวัยด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชู “ทำหมันยุงด้วยรังสี-ชุดทดสอบไข้เลือดออกแยกซีไรไทป์-ซีโอไรท์ทรายอะเบท และสเปรย์นาโนกันยุง” เป็นไฮไลท์
กลายเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ สำหรับ “โรคไข้เลือดออก” โรคที่เกิดจาก “ยุงลาย” แมลงพาหะตัวจิ๊ดริดแต่แผลงฤทธิ์รุนแรง ที่ข้อมูลจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมามีผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกสะสมมากถึง 142,925 ราย เพื่อเป็นการย้ำเตือนถึงความสำคัญของโรคไข้เลือดออก กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้รวบรวมงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของยุงลายมาเผยแพร่ เพื่อสร้างความมั่นใจในการเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดระลอกใหม่
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล โฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์มีงานวิจัยเกี่ยวกับการกำจัดและป้องกันยุงลายอันเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกเป็นจำนวนมาก ทั้งงานวิจัยในระดับต้นน้ำที่เป็นการมุ่งกำจัดลูกน้ำยุงลาย งานวิจัยระดับกลางน้ำที่มุ่งลดปริมาณยุงตัวเต็มวัย และงานวิจัยในระดับปลายน้ำที่เป็นการป้องกันและรักษผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ทั้งที่เป็นงานวิจัยโดยหน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงโดยตรง และผลงานจากภาคเอกชนที่มีประสิทธิภาพจนได้ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย
สำหรับผลงานวิจัยที่นำมาจัดแสดงมีด้วยกันหลากหลาย เริ่มต้นจาก “ผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลาย ชนิดเกล็ดซีโอไลท์” งานวิจัยต่อยอดแก้ปัญหาทรายอะเบท จากบริษัท อิคาริ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่พยายามแก้ปัญหาทรายอะเบทซึ่งกำจัดลูกน้ำยุงได้ดีแต่ทำให้น้ำขุ่นและมีคราบน้ำมัน ด้วยการเพิ่มสารซีโอไลท์ (Zeolite) ซึ่งมีรูพรุนสูงลงไปเคลือบทรายอะเบทซึ่งช่วยแก้ปัญหาน้ำและยังคงประสิทธิภาพการกำจัดลูกน้ำยุงได้เป็นอย่างดี จนขณะนี้ผลิตภัณฑ์นี้อยู่ระหว่างการพิจารณาขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์
ส่วนเทคโนโลยีลดจำนวนด้วยการฉายรังสีทำหมันยุงลาย จากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่ง ดร.กนกพร บุญศิริชัย หัวหน้าโครงการวิจัยด้านชีววิทยาประยุกต์ (สทน.) เผยว่า สทน. ได้ดำเนินโครงการฉายรังสีแมลงวันทองซึ่งทำลายพืชผลทางการเกษตรจนประสบความสำเร็จมาแล้วระยะหนึ่ง จนมีความพร้อมในหลายๆ ด้านทั้งตัวบุคคลากรผู้เชี่ยวชาญ ห้องปฏิบัติการ และองค์ความรู้ด้านการฉายรังสีทำหมันแมลง
ช่วงต้นปี 2558 ที่มีการระบาดรุนแรงของโรคไข้เลือดออกจึงมีแนวคิดฉายรังสีเพื่อทำหมันยุงลาย โดยการนำตัวอ่อนของยุงเพศผู้ในระยะตัวโม่งมาฉายรังสีแกมมาที่ระดับความเข้ม 70 เกรย์เพื่อให้เป็นหมันก่อนปล่อยออกสู่ธรรมชาติ เพื่อให้ยุงที่เป็นหมันจะเข้าไปแย่งชิงการผสมพันธุ์กับยุงเพศเมียในธรรมชาติซึ่งจะทำให้ไข่ฝ่อซึ่งถือเป็นการกำจัดจากต้นทางที่ดี โดยเบื้องต้น ดร.กนกพร ระบุว่าจะมีการทดสอบปล่อยยุงเป็นหมันชุดแรกในพื้นที่ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทราซึ่งเป็นเขตพื้นที่วิจัยของนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล ในเดือน เม.ย. ที่กำลังจะมาถึง
ส่วนนวัตกรรมชิ้นต่อมายังคงเป็นการควบคุมประชากรลูกน้ำยุง โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่เป็นการใช้แบคทีเรียบาซิลัส ทูรินจิเอนซิส หรือ บีทีไอ (Bacillus thuringiensis sub.sp. Israelensis: Bti) และแบคทีเรียบาซิลัส สเฟียร์ริคัส หรือ บีเอส (Bacillus sphaericus : Bs) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถสร้างสารพิษฆ่าลูกน้ำยุงลาย ยุงรำคาญและยุงก้นปล่องได้อย่างไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น โดยเมื่อลูกน้ำกินแบคทีเรียเข้าไป แบคทีเรียจะเข้าไปสร้างผลึกโปรตีนซึ่งมีพิษทำลายลำไส้ ทำให้ลูกน้ำตายไม่สามารถเจริญเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งปัจจุบันบริษัท TFI Green Biotechnology ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ์จาก สวทช.ผลิตและจัดจำหน่ายแล้วเป็นที่เรียบร้อย
สอดคล้องกับผลงานหอมไกลไล่ยุงนาน จากศูนย์นาโนเทคโนโลยี (นาโนเทค) สวทช. ที่ได้นำเอาสเปรย์นาโนอิมัลชั่นสมุนไพรไล่ยุงที่ถูกพัฒนาให้ส่งกลิ่นได้นานขึ้นจากการพัฒนาคุณสมบัติทางองค์ประกอบนาโนของน้ำมันหอมระเหย ด้วยเทคโนโลยีการกักเก็บ (Encapsulation Technology) มาจัดแสดง ทำให้น้ำมันสเปรย์ปล่อยกลิ่นไล่ยุงได้นานขึ้น อย่างน้อย 3.5 - 4.5 ชั่วโมงจากเดิมที่จะส่งกลิ่นได้เพียง 1 ชั่วโมง ซึ่งนำไปสู่การต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ข้างเคียง เช่น สเปรย์ไล่ยุงเนื้อเบา, โลชั่นไล่ยุง และแผ่นแปะไล่ยุง
ส่วนงานวิจัยปลายน้ำ สวทช.ได้นำงานวิจัยภายใต้คลัสเตอร์สุขภาพและการแพทย์ อย่างชุดตรวจโปรตีน NS1 ของไวรัสเด็งกี่ที่สามารถระบุแยกซีโรไทป์ได้ในทันที โดยการพัฒนาของนักวิจัยไบโอเทค สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลมาจัดแสดง ซึ่ง ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวในตอนหนึ่งบนเวทีแถลงว่า ในการวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก นอกจากแพทย์จะต้องซักถามและสังเกตอาการเพื่อสังเกตคนไข้ว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ ยังต้องรอผลตรวจจากห้องปฏิบัติการด้วยว่าหากเป็นไข้เลือดออกจริงจะเป็นไข้เลือดออกประเภทใด ซึ่งบางครั้งการรักษาที่ไม่ทันท่วงทีอาจทำให้คนไข้ช๊อคและเสียชีวิตได้ ซึ่งชุดตรวจโปรตีน NS1 ไวรัสเด็งกี่ที่แยกซีโรไทป์ได้ทันทีนี้จะช่วยตอบโจทย์เพราะสามารถระบุชนิดไข้เลือดออกได้ทันทีซึ่งเอื้อกับการตัดสินใจรักษาของแพทย์โดยขณะนี้มีการนำร่องทดลองใช้แล้วที่โรงพยาบาลศิริราช
นอกจากนี้ ดร.ทวีศักดิ์ ยังเผยด้วยว่า สวทช.ยังมีความร่วมมือกับนักวิจัยจากจุฬามหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการวิจัยวัคซีนไข้เลือดออกมาตั้งแต่ปี 2543 ด้วย โดยดำเนินงานทั้งวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ วัคซีนชนิดดีเอ็นเอ และวัคซีนชนิดอนุภาคเสมือนไวรัส ซึ่งขณะนี้สร้างวัคซีนตัวเลือกได้ครบและผ่านการทดสอบในหนูทดลองทั้ง 4 ซีโรไทป์และพบว่าได้ผลดี โดยอยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิผลของการใช้วัคซีนลักษณะดังกล่าวในลิงจำนวนมากขึ้น และคาดว่าจะพัฒนาต่อยอดสู่การผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรมเพื่อทำการทดสอบในอาสาสมัคร ระยะที่ 1 ได้ในปี 2560
"ความจริงเรายังมีนวัตกรรมตัวช่วยอื่นๆ ที่ไม่ได้นำมาจัดแสดงอีกมากมาย เช่น การพัฒนาโปรแกรมทันระบาด โดยพัฒนาระบบการสำรวจจำนวนลูกน้ำยุงลายในพื้นที่แบบแอปพลิเคชันสำหรับโทรศัพท์มือถือ ทำให้การจัดเก็บข้อมูลเป็นระบบ ซึ่งเมื่อนำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลเชิงระบาดวิทยาและข้อมูลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ทำให้สามารถนำไปวิเคราะห์ได้ตามมุมมองของผู้งานและจัดทำรายงานได้อย่างอัตโนมัติ นวัตกรรมมุ้งนาโน จากการพัฒนาสารสกัดเลืยนแบบสารเก๊กฮวย ดาวเรือง เพื่อเคลือบเส้นใยสำหรับทำมุ้งที่จะทำให้ยุงเป็นอัมพาตเมื่อถูกสัมผัส และหินแก้วรูพรุนไล่ยุง โดยใช้เทคโนโลยีนาโนในการกักเก็บกลิ่นตะไคร้หอมไว้ในหินแก้วรูพรุน ทำให้สามารถไล่ยุงได้นานกว่า 2 เดือน อย่างไรก็ดีนวัตกรรมทั้งหมดเป็นแค่ทางออก เพราะการแก้ปัญหาการระบาดของยุงลายที่สำคัญที่สุดเริ่มจากครัวเรือน จึงอยากฝากให้ประชาชนช่วยกันสอดส่องแหล่งน้ำขังอันเป็นแหล่งกำเนิดของยุงลายด้วย เพื่อให้การกำจัดยุงลายมีความยั่งยืนมากที่สุด” ผอ.สวทช.กล่าว