อีก 16 ปี "กรุงเทพมหานคร" เมืองหลวงของประเทศไทยจะมีอายุครบ 250 ปี คงจะดีไม่น้อยหากเมืองหลวงอันเป็นศูนย์รวมของความทันสมัยแห่งนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคที่ดีกว่าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งวันนี้ สนช.ได้เริ่มแล้วสำหรับโครงการ "เมืองอัจฉริยะ"
แต่ก่อนจะที่จะมโนภาพไปไกลว่ากรุงเทพฯ จะกลายเป็นเมืองแห่งความล้ำสมัย มีระบบไอทีที่ช่วยตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกระดับ เป็นเมืองแห่งสุขภาพและความปลอดภัยได้นั้น จะต้องมีการส่งเสริมฟันเฟืองที่จะทำให้เมืองเป็นเมืองอัจฉริยะได้อย่างสมบูรณ์แบบด้วย
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) จึงร่วมมือกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และสมาคมสมองกลฝังตัวแห่งประเทศไทย 3 พันธมิตรในการขับเคลื่อนโครงการ "นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ" ด้วยการปั้นผู้ประกอบการธุรกิจเริ่มต้น (startup) จำนวน 50 ราย ที่มีความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี ที่สอดคล้องกับความต้องการของเมืองนวัตกรรมอัจฉริยะ
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า สนช.จะเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนและให้พื้นที่ภายในอาคารอุทยานนวัตกรรมเป็น "ศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ" ที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งบ่มเพาะและเจรจาธุรกิจ เพื่อเฟ้นหานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการ ซึ่งจะดำเนินการภายในปีแรกนับจากนี้ ในพื้นที่รอบๆ สนช.ในระยะรัศมี 1 กิโลเมตร ด้วยเงินงบประมาณของ สนช.เองจำนวน 200 ล้านบาท เพื่อผลักดันให้โครงการนี้เป็นจริง ตามนโยบายของของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้เกิดการสร้างสมดุลเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอก เพื่อสร้างแนวรบเศรษฐกิจใหม่
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า เหตุที่เลือกพื้นที่รอบ สนช.เป็นเขตนวัตกรรม (Innovation District) เริ่มต้นในชื่อว่า "ราชเทวีดิสทริก" (Ratchathewee District) เป็นเพราะบริเวณดังกล่าวมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม เพราะเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาล ศูนย์สุขภาพชั้นนำ สถานศึกษาเป็นจำนวนมาก เป็นศูนย์กลางระบบขนส่งสาธาณะ และในบริเวณเดียวกันยังเป็นที่ตั้งของหลากหลายกระทรวง
สำหรับโครงสร้างของราชเทวีดิสทริกที่จะได้เห็นในอนาคต ดร.พันธุ์อาจ ระบุว่า ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ Smart Medicine ที่มุ่งพัฒนาให้ย่านนี้เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ , Smart District ที่มุ่งพัฒนาให้เกิดการเชื่อมต่อการสัญจรอัจฉริยะ และมีการสนับสนุนบริการไอซีทีเต็มขั้น การพัฒนาและเพิ่มที่อยู่อาศัย และสุดท้าย Smart Government ที่เป็นการเชื่อมโยงกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการต่างประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อการติดต่อประสานงานที่ง่ายยิ่งขึ้นโดยการเปิดใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างหน่วยงาน
"บริเวณรอบๆ นี้เต็มไปด้วยโรงพยาบาลซึ่งแต่ละที่ก็มีการทำวิจัย พัฒนาเครื่องมืออยู่แล้ว หากเราเอากลไกด้านระบบไอทีเข้าไปเสริมให้เข้มแข็ง หรือเอานักวิจัยของกระทรวงวิทย์ที่เก่งๆเข้าไปช่วยสนับสนุนย่านนี้จะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ได้ไม่ยาก ในอนาคตเราอาจจะเข้าถึงระบบการรักษาง่ายขึ้น แค่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันไม่ต้องนั่งรอเป็นวันๆ แล้วหมอก็จะทำงานง่ายขึ้นถ้ามีระบบการสื่อสารที่ดีสามารถติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วเพื่อช่วยกันวิเคราะห์อาการป่วย ดูฟิล์มเอ็กซเรย์เฉพาะทางซึ่งทั้งหมดจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน" ดร.พันธุ์อาจ กล่าวถึงการดำเนินงานด้านสุขภาพในอนาคต
ด้านเมืองอัจฉริยะ ดร.พันธุ์อาจ ระบุว่า ในอนาคตจะดำเนินการให้เมืองเป็นเมืองไอทีด้วยการวางโครงข่ายกริด, ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทาง กสท. จะมีการพัฒนาแอปพลิเคชันให้สามารถบอกได้ที่สถานที่ที่เดินผ่านคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร จะซื้อของดีประจำถิ่นต้องซื้ออะไร ซื้อที่ร้านใด และจะจัดสร้างสกายวอล์คเพื่อเชื่อมจากสกายวอล์คบีทีเอสอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมายังซอยโยธี เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ที่แสดงออกถึงความเป็นเมืองอัจฉริยะ หรืออาจจะมีรถไฟโมโนเรลวิ่งรอบแนวเส้นถนนโยธีแต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับกองผังเมือง กรุงเทพฯด้วย
ท้ายสุดสำหรับเมืองรัฐบาลดิจิทัล ดร.พันธุ์อาจ ระบุว่า จะพยายามทำให้เกิดการเชื่อมโยงและประสานงานกันระหว่าง 3 กระทรวงในพื้นที่ ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการต่างประเทศ ให้มีการแชร์พื้นที่ทำงานและทำงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงซึ่งจะทำให้ระบบเอกสารเป็นระเบียบ สืบค้นได้ง่าย และให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งความคาดหวังทั้งหมดนี้คาดว่าจะเริ่มมีให้เห็นเป็นรูปธรรมในอีก 3 ปีข้างหน้า