ในภาวะราคายางพาราตกต่ำ อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าการกระตุ้นตลาดรับซื้อ คือการวิจัยยกระดับและเพิ่มมูลค่ายางพารา ซึ่งในวันนี้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนชายแดนใต้บางส่วนได้นำร่องดำเนินการจนประสบความสำเร็จ ทำให้ยางพาราในละแวกใกล้เคียงแทบไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมเดินทางไปยัง จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี พร้อมกับทีมนักวิจัยฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อติดตามการแก้ปัญหาวิกฤติราคายางพาราตกต่ำด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งในโอกาสนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ได้เข้าชมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางและพูดคุยกับนักวิจัย สกว.ถึงการนำงานวิจัยมาช่วยในการแก้ไขปัญหายางพารา
จุดแรกของการเยี่ยมชม เราได้เดินทางไปยัง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่นำน้ำยางข้นมาผลิตเป็นบ่อเลี้ยงปลาและบ่อปลูกมะนาว จากการริเริ่มโครงการวิจัยของ ผศ.ดร.อดิศัย รุ่งวิชานิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้ได้รับทุนวิจัย สกว.
ผศ.ดร.อดิศัย กล่าวว่า งานวิจัยเพิ่มมูลค่ายางพาราโดยการนำน้ำยางข้นที่ผ่านกระบวนการครีมมี่มาทำเป็นบ่อมะนาวและบ่อเลี้ยงปลานั้น ถือเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการน้ำยางดิบ เพราะการทำวงล้อปลูกมะนาว 1 วง จะใช้น้ำยางข้นประมาณ 2.5 กิโลกรัม ซึ่งในขณะนี้มีความต้องการจากผู้ซื้อมากถึง 500-1,000 วงต่อเดือน ส่วนการทำบ่อเลี้ยงปลาพื้นที่ 1 ตารางเมตรก็ใช้ยางเฉลี่ย 1 กิโลกรัม ทำให้ใน 1 เดือนโรงงานต้องใช้น้ำยางข้นไม่น้อยกว่า 2.5 ตัน หรือถ้าคิดเป็นประมาณน้ำยางสดซึ่งมีเปอร์เซ็นน้ำยางต่ำกว่าก็จะอยู่ที่ราว 8 ตัน
ผศ.ดร.อดิศัย เผยว่าก่อนที่จะนำงานวิจัยบ่อมะนาวและบ่อปลาจากยางพาราเข้ามาสู่วิสาหกิจชุมชน ชาวบ้านในพื้นที่ อ.สายบุรีมีรายได้จากการขายยางไม่มากนัก เพราะนิยมขายยางในรูปแบบ "ยางก้นถ้วย" ที่ถือเป็นยางคุณภาพต่ำและมีสิ่งเจือปนจำนวนมาก จึงมีราคาขายเพียงกิโลกรัมละ 14 บาท เมื่อประมาณ 2 ปีก่อนที่ราคายางพาราเริ่มตกต่ำจนน่ากังวล ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจึงเข้ามาปรึกษาและเกิดแนวคิดร่วมกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าน้ำยางดังกล่าว ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่ายางพาราได้ 2 เท่าตัว สร้างรายได้ขั้นต่ำให้กลุ่มนับแสนบาท, ทำให้เกิดการซื้อขายน้ำยางสดแทนยางก้นถ้วย และทำให้ชาวบ้านทั้งหญิงและชายในพื้นที่มีอาชีพ
"งานวิจัยหลักของผม คือการใช้ประโยชน์จากยาง เช่น ทั้งบ่อปลูกมะนาว บ่อเลี้ยงปลา น้ำยางปูบ่อสระ พื้นสนามฟุตซอล สนามเด็กเล่น เพราะเรามีบทเรียนเรื่องยางพาราราคาตกต่ำมาหลายครั้ง จะมาขายยางก้นถ้วยเหมือนเดิม ขายยางสดเหมือนเดิมคงไม่ได้ คุณค่าของงานวิจัยจึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับยาง โดยผมจะมุ่งไปที่การผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในการเกษตร เพราะในประเทศไทยมีประชากรประกอบอาชีพเกษตรกรรมถึง 30%" ผศ.ดร.อดิศัย กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
สอดคล้องกับแนวคิดของนักวิจัย สกว.อีกคนอย่าง ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลายครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กรรมการบริษัท ปัตตานีอุตสาหกรรม (1971) จำกัด ผู้ผลิตหมอนยางพาราเพื่อสุขภาพระดับมาตรฐานสากลแห่งแรกในประเทศไทย ที่เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า การแก้ปัญหายางพาราแบบยั่งยืนที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยคือการนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
ดร.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่กำลังจะก้าวข้ามจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงควรเปลี่ยนตัวเองจากการเป็นประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศเกษตรกรรมกึ่งอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนามูลค่าผลผลิตทางการเกษตรให้มีราคาสูงขึ้นเพื่อให้แข่งขันกับเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงต่ำกว่า เช่น เพราะเวียดนามหรือกัมพูชาที่กำลังตีตื้นไทยเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่นอุตสาหกรรมเครื่องนอนยางพาราจากงานวิจัยของเขา ที่เป็นการนำยางพาราปริมาณน้อยๆ มาผลิตเป็นฟูก, ที่นอนเด็ก, หมอนคุณภาพดีเพื่อจำหน่ายในราคาสูง ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบยางพาราได้ถึง 5 เท่า โดยมียอดขายในปีที่ผ่านมาเป็นเงิน 300 ล้านบาท
ดร.ณัฐพงศ์ อธิบายว่าผลิตภัณฑ์ของเขาไม่ได้ใช้ยางพารามาก คิดเป็นแค่ 30-40% เพราะเน้นการใช้เทคนิคตีฟองให้ยางมีคุณสมบัติฟองน้ำยืดหยุ่นแต่เบา เพื่อไม่ให้มีน้ำหนักมากเกินไป ควบคู่กับการวิจัยด้านคุณภาพดี ความทนทาน การกระจายแรง การกดทับไปถึงเรื่องของการออกแบบเพื่อพัฒนาตัวสินค้าให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ โดยเน้นตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพซึ่งเป็นที่นิยมของคนจีน ทำให้ในแต่ละเดือนมีออเดอร์เฉพาะหมอนมากถึง 80,000 ใบ ซึ่งต้องใช้น้ำยางข้นจากสวนยางในละแวกใกล้เคียงกว่า 3,000-5,000 ไร่ เป็นปริมาณ 200 ตันต่อเดือน
"เราไม่ควรทำอะไรง่ายๆ หรือสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำๆ อีกต่อไป เราต้องแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มแบบมากๆ แต่ต้นทุนต้องไม่เพิ่ม ต้องทำยังไงก็ได้ให้สินค้าไม่ต้องพึ่งพิงกับวัตถุดิบมากเกิน 20% ถ้าผมเป็นคนปลูกยาง สวนยางผมจะเป็นแบบออร์แกนิก ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ใส่สารเคมี แล้วเอาน้ำยางมาทำที่นอนยางออร์แกนิก ซึ่งตอนนี้มันยังไม่มีคนทำ และถ้าทำได้จริงมูลค่าก็จะเพิ่มอีก 10% จะมัวมาคาดหวังกับราคาตลาด หรือหวังให้รัฐบาลเอาเงินมาถม ขายแต่น้ำยางอย่างเดียวผมว่าคงไม่รอด เพราะที่ผ่านมาเวลาราคาขึ้นชาวบ้านก็เอาไปถอยรถป้ายแดงกัน สวนยางก็ไม่ได้มีการพัฒนาอยู่ดี ถ้าเอาไปใช้ เอาไปทำของที่มีมูลค่าเพิ่มก็จะช่วยในตัวยางพารามีคุณค่า แบบที่ไม่ต้องใช้ในปริมาณมากเลยด้วยซ้ำ" ดร.ณัฐพงศ์ แสดงทัศนะแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ส่วนจุดสุดท้ายที่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าเยี่ยมชม คือการจัดทำถุงมือผ้าเคลือบยางพาราและหมอนยางพารา ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนป่าพลู อ.จะนะ จ.สงขลา ที่นำเทคโนโลยียางครีมมิ่งของ รศ.อาซีซัน แกสมาน อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นักวิจัย สกว.มาใช้
รศ.อาซีซัน กล่าวว่า ถุงมือผ้าเคลือบยางพาราเกิดขึ้นจากกลุ่มวิสาหกิจฯ ซึ่งเดิมขายส่งยางแห้งให้กับบริษัทยางล้อรถยนต์ยักษ์ใหญ่ประสบกับปัญหาราคายางตกต่ำจึงได้เข้ามาขอคำปรึกษาและเรียนรู้วิธีการแปรรูปน้ำยางด้วยกระบวนการครีมมี่ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อนเพื่อนำน้ำยางมาทาลงที่ด้านหนึ่งของถุงมือผ้าเพิ่มมูลค่าและความทนทานให้กับการถุงมือที่ถือเป็นอุปกรณ์จำเป็นสำหรับการทำเกษตรภายใต้ชื่อ บริษัท 42 เนเชอรัล รับเบอร์ จำกัด ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่ายางพาราได้อีกเป็นเท่าตัว
นอกจากนี้ รศ.อาซีซันยังเผยด้วยว่าเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา วิสาหกิจชุมชนป่าพลูยังได้ริเริ่มการผลิตหมอนยางพารา ที่เป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งจากการวิจัยที่ในขณะนี้ได้รับความสนใจจากตลาดต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยหมอนแต่ละใบจะต้องใช้ปริมาณน้ำยางสดมากถึง 4 กิโลกรัม หรือคิดเป็นปริมาณน้ำยางข้น 2 กิโลกรัม ทำให้ในแต่ละเดือนวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้มีความต้องการใช้น้ำยางพาราข้นมากถึง 3 ตัน
"ผมว่างานวิจัยของผมน่าจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหายางได้ไม่มากก็น้อย เพราะเป็นงานวิจัยเพื่อนำยางมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งสิ้น เพราะผมมองว่าประเทศไทยผลิตน้ำยางคุณภาพดีซึ่งเป็นการผลิตในช่วงต้นน้ำได้เป็นจำนวนมาก การผลิตกลางน้ำให้เป็นยางแผ่น ยางแท่งเราก็ทำได้ดี จะขาดก็เพียงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งเราต้องหันมาจริงจังกับส่วนนี้ให้มากขึ้น และที่สำคัญต้องผลักดันให้เกิดการใช้ยางพาราในประเทศให้มากกว่านี้" รศ.อาซีซัน กล่าวทิ้งท้าย