xs
xsm
sm
md
lg

ถ่ายภาพ Zodiacal light กับวันฟ้าใส ในทิศตะวันตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพ Zodiacal light ทางทิศตะวันตก ในช่วงหัวค่ำ บริเวณดอยอินทนนท์ ซึ่งปรากฏเห็นเป็นแสงเรืองจางๆ รูปสามเหลี่ยมตามแนวเส้นสุริยะวิถี หรือเส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์(ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 30sec X 23 Images)
ช่วงนี้หลายคนคงตั้งตารอถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงรุ่งเช้าทางทิศตะวันออกกัน แต่อาจลืมนึกไปว่า ในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตกก็ยังมีวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจให้เราได้ถ่ายภาพคือ Zodiacal light หรือที่เรียกอีกอย่างว่า แสงจักรราศี นั้นเอง

ในช่วงนี้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากความกดอากาศสูงและจะยังคงได้รับอีกหลังจากนี้ ดังนั้นช่วงนี้ ตอนหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตก หลังแสงสนธยา หากท้องฟ้าปราศจากแสงจันทร์และเมฆ เราจะสามารถสังเกตเห็นแสงจักรราศี เป็นแสงเรืองจางๆ รูปสามเหลี่ยม ที่ปรากฏบนท้องฟ้ายามค่ำคืนหลังจากที่แสงสนธยาของตะวันตกดินลับฟ้าไปแล้ว โดยปรากฏอยู่ในแนวเส้นสุริยวิถีหรือเส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์

แสงจักราศีก็เป็นอีกภาพหนึ่งที่สวยไม่แพ้ ทางช้างเผือกเลยทีเดียว ซึ่งช่วงเดือนกุมภาพันธ์เกือบทุกปีก็มักจะเป็นช่วงที่ประเทศไทยมักมีท้องฟ้าใสเคลียร์มากๆ ดังนั้นเมื่อโอกาสดีๆ แบบนี้มาแล้ว เหล่าบรรดานักถ่ายดาวควรรีบหาโอกาสออกไปเก็บแสงสุดท้ายกันก่อนจะหมดหนาวนี้กันได้ครับ

แสงจักราศี (Zodiacal Light)
แสงจักราศี เป็นแสงสว่างเรืองจางๆ รูปสามเหลี่ยมที่ปรากฏบนท้องฟ้ามืดสนิทในทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าและทิศตะวันออกก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 30 นาที ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากอนุภาคของฝุ่นละอองในอวกาศกระทบกับแสงดวงอาทิตย์แล้วสะท้อนออกมารอบทิศทาง
กลุ่มของอนุภาคฝุ่นจักราศีในอวกาศที่กระจายตัวอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และดาวพฤหัสบดี
เทคนิคและวิธีการถ่ายภาพ
เอาล่ะครับ หลังจากที่เลือกสถานที่ได้แล้ว ว่าจะไปถ่ายภาพแสง Zodiacal light ทางทิศตะวันตกที่ไหนที่มืดสนิท มีฉากหน้าสวยๆได้แล้ว ตอนนี้เรามาดูวิธีการถ่ายภาพและวิธีการตั้งค่ากล้องถ่ายภาพดูกันบ้างครับ

1. สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดที่ผมมักย้ำเสมอคือ การโฟกัสดาวให้คมชัดที่สุด ซึ่งปัจจุบันเราสามารถใช้ Live view ช่วยในการโฟกัสดาวให้คมชัดที่สุด โดยการซูมที่ Live view 10X เพื่อดูว่าดาวเป็นจุดเล็กที่สุดหรือไม่ ซึ่งอาจเลือกดาวที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าบริเวณไหนก็ได้ เพื่อใช้ในการปรับโฟกัส หลังจากโฟกัสได้แล้วก็สามารถนำกล้องไปถ่ายดาวบริเวณอื่นๆของท้องฟ้าได้ทั้งหมด เพราะดาวอยู่ที่ระยะอิฟินิตีนั่นเองครับ (อย่าลืมปรับกล้องเป็นระบบถ่ายภาพแบบแมนนวล โหมด M นะครับ)
หากเลนส์ที่ใช้ในการถ่ายภาพของคุณมีระบบกันสั่น และระบบออโต้โฟกัส ให้ปิดระบบดังกล่าวทั้งหมด เนื่องจากเราจะโฟกัสดาวแบบแมนนวลทั้งหมด

ตัวอย่างภาพข้างต้นเป็นการโฟกัส โดยใช้ดาว Sirius และซูมภาพด้วย Live view และปรับภาพให้ดาวเป็นจุดเล็กที่สุด
2. คำนวณเวลาถ่ายภาพ โดยใช้สูตรการคำนวณ Rule of 400/600 (รายละเอียดตามลิงค์ http://goo.gl/5fUlJF) มาใช้ร่วมด้วย เพื่อให้เราสามารถถ่ายภาพให้ดาวยังเป็นจุดในเวลาที่นานที่สุด ซึ่งจะช่วยให้เราเลือกใช้ค่า ISO ที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพ และทำให้ได้ Signal to Noise ที่ดี

3. เลือกใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้ได้องศาการรับภาพที่กว้างมากขึ้น เพราะแนว Zodiacal light นั้นสูงจากขอบฟ้ามากพอสมควร โดยมีทิศทางตามแนวเส้นสุริยะวิถี

4. ใช้รูรับแสง (Aperture) ที่กว้างที่สุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรับแสงมากยิ่งขึ้น

5. อย่าใช้ค่าความไวแสง (ISO) สูงมากเกินไป เนื่องจากการใช้ ISO สูง นั้นเป็นการขยายสัญญาณ รวมทั้งขยายสัญญาณรบกวน (Noise) ด้วย ดังนั้นการลด ISO ก็จะช่วยลดสัญญาณรบกวนอีกด้วย ทำให้ภาพถ่ายใสเคลียร์ขึ้นกว่าการใช้ค่า ISO

ดังนั้น หลังจากที่ได้เวลาถ่ายภาพที่นานที่สุดแล้ว และใช้รูรับแสงกว้างสุดแล้ว ในการเลือกใช้ค่า ISO นั้น เราอาจเริ่มจาก ISO 2000 ถ่ายภาพดูก่อนว่าได้รายละเอียดที่ดีไม่มืด หรือ อันเดอร์มากเกินไป หากภาพยังอันเดอร์ก็ค่อยๆเพิ่มค่า ISO ขึ้นเรื่อยๆ

6. เปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction และ High ISO Speed Noise Reduction เพื่อให้กล้องช่วยลดสัญญาณรบกวนของภาพได้ดีขึ้น และการเปิดระบบ High ISO นั้นระบบของกล้องก็จะช่วยลดสัญญาณรบกวนในส่วนเงามืดทำให้ได้รายละเอียดที่ดีขึ้น เมื่อใช้ความไวแสงสูง

7. ปรับเร่ง Contrast อันนี้สำหรับมือใหม่ที่ยังไม่เคยถ่ายภาพ Zodiacal light นะครับ เพราะบางคนอาจมองไม่ออกว่าอันไหนคือแสง Zodiacal light ก็สามารถใช้วิธีการปรับเร่ง Contrast ในเมนูหลังกล้องได้ครับ
การปรับค่า Contrast ที่เมนูหลังกล้อง เพื่อให้สามารถเห็นภาพแสง Zodiacal light ได้ชัดเจนมากขี้น
มาถึงตอนท้าย ผมอยากชวนบรรดาเหล่าสาวกถ่ายดาวมาลองถ่ายภาพแสงสุริยะวิถี หรืออาจเรียกเล่นๆว่า แสงสุดท้ายกัน เพราะความสวยงามของมันก็สวยไม่แพ้ทางช้างเผือกกันเลยทีเดียวนะครับ และวิธีการถ่ายภาพก็ไม่ได้ยากอะไร ขอแค่มีเพียง กล้อง+เลนส์+ขาตั้งกล้อง เท่านี้ก็พร้อมออกไปแตะขอบฟ้ากันแล้วครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน











กำลังโหลดความคิดเห็น