***ข่าวออนไลน์ส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคนไทยยอดเยี่ยม*** จากการประกวดข่าวดิจิตอลยอดเยี่ยมแห่งปี 2559 โดย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
*** ต้อนรับศักราชใหม่ 2559 กับ SuperSci 5 ตอนพิเศษใน “ซีรีส์เที่ยวไทย” เรียนรู้วิทยาศาสตร์จากแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย ***
ส่งท้าย SuperSci ตอนพิเศษด้วยการไปเยือนอีสานใต้ และไขความงามของปรากฏการณ์แสงลอดช่อง 15 ประตูปราสาทพนมรุ้ง แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อใน จ.บุรีรัมย์ ไปพร้อมๆ กับ ดร.กวิน เชื่อมกลาง นักวิชาการศูนย์สะเต็มศึกษาแห่งชาติ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
“ปรากฏการณ์แสง ณ ปราสาทพนมรุ้ง เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า โลกหมุนรอบแกนโลกที่เอียงในขณะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ทำให้คนบนโลกเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นและตกในตำแหน่งที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัน โดยในหนึ่งปีจะมีเพียง 2 วันเท่านั้นที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงกับช่องประตูของปราสาทพนมรุ้งทั้ง 15 ช่อง จากการศึกษาข้อมูลต่างๆ มีความเป็นไปได้ว่า ปราสาทพนมรุ้งถูกออกแบบให้วางตัวทำมุม 84.5 องศากับทิศเหนือ เพื่อให้วันที่แสงจากดวงอาทิตย์ลอดผ่านประตูทั้ง 15 ช่องในช่วงต้นเดือนเมษายนนั้นตรงกับวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนตัวเข้าสู่กลุ่มดาวราศีเมษพอดี เพื่อเป็นการรับแสงแรกของวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินทางสุริยคติ" ดร.กวินระบุ
ดร.กวิน กล่าวอีกว่า แต่เนื่องการหมุนรอบแกนของโลกเป็นการหมุนแบบส่ายควงที่มีการเปลี่ยนแปลงความเอียงของแกนโลกอย่างช้าๆ ทำให้ในปัจจุบัน วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนตัวเข้าสู่กลุ่มดาวราศีเมษหรือวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินทางสุริยคติ เกิดขึ้นช้ากว่าวันที่แสงอาทิตย์ลอดผ่านช่องประตูทั้ง 15 ช่อง และจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 25,000 ปี นับจากนี้ จึงจะเป็นวันที่แสงจากดวงอาทิตย์ลอดผ่านทั้ง 15 ช่องประตูของปราสาทพนมรุ้ง เป็นวันเดียวกับวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินทางสุริยคติอีกครั้ง
"วันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและส่องแสงลอดช่อง 15 ประตูของปราสาทพนมรุ้ง มี 2 ครั้งคือ วันที่ 3-5 เม.ย.ซึ่งถือเป็นช่วงจัดงานประเพณีวันขึ้นเขาพนมรุ้ง และวันที่ 8-10 ก.ย. ส่วนวันที่ดวงอาทิตย์ตกลงในตำแหน่งที่ตรงกับประตูทั้ง 15 ช่องของปราสาทพนมรุ้ง คือ วันที่ 5-7 มี.ค. และ 5-7 ต.ค." ดร.กวินแจกแจง