พบ กทม. ป่วยไข้เลือดออกรายใหม่ถึง 1 ใน 4 จากทั่วประเทศ เร่งตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังไข้เลือดออกในเมืองหลวง ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน ประสาน รพ.เอกชน ซักประวัติทที่อยู่ผู้ป่วยไข้เลือดออกก่อนป่วย 7 วัน สกัดไข้เลือดออกแพร่ระบาดในชุมชน
วันนี้ (23 พ.ย.) ที่โรงแรมตะวันนา รามาดา กทม. นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวภายหลังเปิด “การประชุมเชิงปฏิบัติการฟื้นฟูการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกของทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว” ว่า ข้อมูลสถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่ ม.ค. - 17 พ.ย.2558 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ 111,826 ราย เสียชีวิต 108 ราย ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4,262 ราย จำนวนที่เพิ่มขึ้นเป็นผู้ป่วยในพื้นที่ กทม. มากถึง 1 ใน 4 และยังมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น การแก้ปัญหาไข้เลือดออกใน กทม. สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 13 กทม. และสำนักอนามัย กทม. จึงร่วมมือกันจัดการประชุมนี้ขึ้น เพื่อเสริมความรู้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ สมาชิกทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) และทีมควบคุมโรค ให้มีความรู้และความเข้าใจในโรคไข้เลือดออก ร่วมกันแจ้งข้อมูลการวินิจฉัยโรคและการพบผู้ป่วยที่โรงพยาบาล สอบถามประวัติผู้ป่วยที่เป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังโรค นำไปสู่การสอบสวนและควบคุมโรคไข้เลือดออกในชุมชนที่ตรงพื้นที่และรวดเร็วมากขึ้น
“ การแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชน พัฒนาเป็น “เครือข่ายเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในเมืองหลวง” หรือ “Metro DengueNet” ซึ่งจะเป็นการต่อยอดการทำงานหลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ระหว่าง 8 หน่วยงานหลัก เพื่อขยายการมีส่วนร่วมให้แน้นแฟ้นมากขึ้น เน้นพัฒนาและเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ บริษัทห้างร้าน สถานประกอบการ โรงงาน สถานศึกษา โรงพยาบาลและคลินิก โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน กทม. มากถึง 2 ใน 3 และมีส่วนสำคัญในการเฝ้าระวังและแจ้งรายงานการพบผู้ป่วยสงสัยโรคไข้เลือดออก โดยเน้นสอบถามประวัติที่พักอาศัยในระยะ 7 วัน ก่อนที่จะเริ่มมีอาการไข้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่อยู่ที่ถูกต้องแม่นยำ เป็นประโยชน์ต่อการควบคุมโรคในชุมชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องไปพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายที่มีเชื้อได้ถูกสถานที่ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเด็งกี การทำงานร่วมกันของประชาชน ชุมชน และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นหัวใจสำคํญในการป้องกันโรคไข้เลือดออก ” อธิบดี คร. กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่