ความผิดพลาดของแพทย์ และโรงพยาบาลมีให้เห็นเป็นข่าวใหญ่ขึ้นอีกครั้ง เมื่อโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งตรวจเลือดผิด ชี้ชัดคนไข้ติดเชื้อ "เอชไอวี" จนต้องทนทรมานรักษานาน 4 ปี หลังไปตรวจเช็กอีกทีกลับไม่ใช่ สะท้อนถึงความผิดพลาดทั้งๆ ที่เป็นโรงพยาบาลดัง ซ้ำยังไร้ซึ่งความรับผิดชอบ ต้องให้ผู้เสียหายไปฟ้องศาลเอาเอง จุดประเด็นวิพากษ์วิชาชีพแพทย์ ตั้งคำถามถึงมาตรฐานการตรวจ โดยเฉพาะมาตรฐานห้องแล็บในโรงพยาบาล
เมื่อ "หมอ" เชื่อถือไม่ได้
ทุกวันนี้ ความสัมพันธ์ระหว่าง "คนไข้" กับ "หมอ" รวมไปถึง "โรงพยาบาล" เริ่มไม่ค่อยจะสู้ดีนัก หากคุยกันไม่รู้เรื่องก็ต้องไปจบลงที่การฟ้องร้อง ไม่คนไข้ฟ้องหมอ หมอก็ฟ้องกลับคนไข้ ล่าสุดเกิดความผิดพลาดของผลแล็บ ชี้ชัดว่าคนไข้ติดเชื้อเอชไอวี เปลี่ยนชีวิตอันสดใส ให้กลายเป็นความทุกข์มานาน 4 ปี
ทว่า ภายหลังเมื่อลองสังเกตอาการตัวเองแล้ว ทำไมถึงสุขภาพยังดีอยู่ จึงไปตรวจกับแพทย์อีกคนที่โรงพยาบาลเดิม กลับพบว่า ไม่มีเชื้อเอชไอวี และได้รับคำตอบจากโรงพยาบาลว่า ร่างกายสามารถทำลายเชื้อเอชไอวี ทำให้ผู้เสียหายรายนี้รู้สึกว่า โรงพยาบาลปัดความรับผิดชอบอย่างมาก
เรื่องนี้ ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ "ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา" สะท้อนออกมาให้เห็นว่า แม้จะเป็น รพ.เอกชนชื่อดัง ก็ผิดพลาดได้ แต่เมื่อผิดพลาดแล้วกลับไม่มีความรับผิดชอบ ต้องให้ผู้เสียหายไปฟ้องศาลเอาเอง ขณะนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว และคงปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งยังต้องสู้กันต่อไปในชั้นอุทธรณ์ และฎีกา ไม่รู้อีกกี่ปีจึงจะสิ้นสุด เฉพาะศาลชั้นต้นก็ 3 ปีกว่าแล้ว
"ที่ผ่านมา เรื่องวินิจฉัยโรคผิดของหมอมีร้องเรียนเข้ามาเยอะ แต่ที่เยอะสุดๆ คงหนีไม่พ้น ความผิดพลาดในการทำคลอดแล้วเด็กพิการ ซึ่งตัวแม่เองนอกจากต้องเลี้ยงลูกพิการแล้ว บางรายยังถูกสามีทิ้ง มันเป็นปัญหาที่กระทบไปหมด รองลงมาคือ วินิจฉัยโรคผิด จ่ายยาเกินขนาด นอกนั้นก็จะเป็นกลุ่มคนไข้ที่ได้รับการรักษาไม่ถูกวิธี พูดง่ายๆ คือ ไม่ได้มาตรฐานนั่นเอง" ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ให้ข้อมูล
ไม่แปลกที่ประชาชนจะเสื่อมศรัทธาต่อวงการแพทย์ แม้จะมีบางส่วนพึ่งพา และเชื่อถือได้ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่พึ่งพา และเชื่อถือไม่ได้
"ในเมื่อกลไกปกติมันพึ่งไม่ได้ เราจะเห็นหลายคนเข้าไปโพสต์แชร์ข้อความขอความเป็นธรรมในโลกโซเชียลฯ มันเลยทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาต่อองค์กรแพทย์ ถ้าจะปฏิรูปต้องรื้อโครงสร้างของแพทยสภาเลย ให้คนนอกเข้าไปคานอำนาจ และมีระบบมารองรับความเสียหาย ไม่ใช่ว่าโรงพบาบาลรัฐขาดแคลนหมอ พอเกิดความผิดพลาดหรือความเสียหายต้องให้หมอกับคนไข้มาสู้กันอีก ซึ่งเราได้เรียกร้องร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายฯ มา 13 ปี ตอนนี้ก็รอแค่รัฐมนตรีนำเข้าครม. ซึ่งก็ไม่รู้ว่ารมว.สาธารณสุขคนใหม่จะให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหน" ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์เผย ก่อนจะฝากถึงกรณีล่าสุดที่เกิดจากความผิดพลาดของผลแล็บไว้ให้เป็นบทเรียน
"ควรมองไปข้างหน้า มองอย่างสร้างสรรค์ เรียนรู้จากความผิดพลาดเพื่อไม่ให้มันเกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก ไม่ใช่มามองว่าเครือข่ายฯ จ้องจับผิดหมอ หรือจะมารู้ดีกว่าหมอได้ยังไง ส่วนตัวเคยเจอหมอเข้ามาถามว่า แล้วคุณรู้เรื่องแล็บมากน้อยแค่ไหน ซึ่งไม่ควรมาตั้งคำถามแบบนี้ เราก็เลยตั้งคำถามกลับไปว่า แล้วคุณได้อะไรจากเหตุการณ์นี้บ้าง อีกอย่างในเมื่อคุณเก็บค่ารักษาแพง มาตรฐานคุณก็ต้องดีสิ นอกเก็บแพงแล้ว คุณก็ต้องมีธรรมาภิบาลด้วย เก็บแพงแล้วยังวินิจฉัยผิดก็ควรแสดงสปิริตที่จะยืดอกขึ้นรับผิดชอบ"
แชร์ความชุ่ยของหมอรักษาโรค
จากกรณีข่าว ฟ้องร้อง รพ.เอกชนชื่อดัง ตรวจเลือดผิดบอกติดเอชไอวีจนต้องรักษาถึง 4 ปี แต่สุดท้ายไม่ได้เป็น ทีมข่าว Live ได้เปิดพื้นที่บน เฟซบุ๊กแฟนเพจ ASTV ผู้จัดการ Live ซึ่งมีคนเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับความผิดพลาดของโรงพยาบาล และแพทย์ในการวินิจฉัยโรคกันเป็นจำนวนมาก โดยทีมข่าวขออนุญาตหยิบยกบางความเห็นที่บอกเล่าความผิดพลาดของการตรวจโรคมานำเสนอต่อ
"เคยคะ หมอบอกว่าแฟนพี่สาวฉันเป็นมะเร็งแล้วเขาจะตัดขาแก แต่พี่เขาไม่ยอม แกบอกว่ายอมตายดีกว่าที่จะไม่มีขาเดิน ตอนนั้นแกคิดมากเลยไปบวชเป็นพระ 6 เดือน ต่อมาก็หาย เดินได้จนมาถึงทุกวันนี้ จากนั้นเป็นคิวของน้องชาย หมอบอกว่าติดเชื้อเอชไอวี น้องเขาคิดมากจนจะทำลายชีวิตตัวเอง แถมยังไม่ยอมกินยาที่หมอให้อีก โชคดีที่เขาไม่กินยาตัวนั้น เพราะไม่นานเขาก็หายป่วย พอไปตรวจอีกที่ ปรากฎว่าไม่มีเชื้อเอชไอวี ตอนนี้แต่งงานมีลูก 2 คน อายุ 19 กับ 20 ปี เป็นช่างซ่อมรถทั้งคู่ ถ้าเชื่อหมอป่านนี้ตายกันหมดแล้ว" Siriporn Golling
"โรงพยาบาลเอกชนแถวลาดพร้าวตรวจสามีเป็นมะเร็ง พอรู้ผลเขาโทรมเร็วมาก ในใจคิดสงสัย จึงพาสามีไปตรวจที่โรงพยาบาลแถวนานา หมอบอกว่า กลืนแป้งแล้วล้างไม่หมด เป็นการตรวจผิดมากกว่า หลังจากรู้ผล สามีก็ดีขึ้นตามลำดับ ผ่านมา 10 ปี ทุกวันนี้ยังไม่ตายเลยค่ะ" Mamoshka Namibia
อย่างไรก็ดี หากมองให้รอบด้าน กระบวนการวินิจฉัยโรค ไม่ใช่มีแค่แพทย์อย่างเดียว แต่มีหลายวิชาชีพเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่ว่ากรณีไหนคงต้องไปดูต้นตอของปัญหา และจัดการแก้ไขทั้งระบบ
หมอวินิจฉัยผิด ทำชีวิตเปลี่ยน
เขียนถึงเรื่องนี้ก็ชวนให้นึกถึงเรื่องเล่าในชีวิตจริงของ "ช่อผกา วิริยานนท์" พิธีกรและนักสื่อสารมวลชนบนเวทีปลุกพลังบวก Ignite Thailand เมื่อหลายปีก่อน เธอเลือกหัวข้อ "ซ้อมใหญ่" เพื่อฉายภาพของตัวเองที่เข้าใกล้ความตายหลังจากแพทย์วินิจฉัยว่าเธอป่วย "เป็นมะเร็ง"
"ดิฉันใช้ชีวิตมาหลายสิบปี อยู่กับชีวิตตัวเอง เข้ามาอยู่ในชีวิตตัวเองทุกรูปแบบแล้วก็ยังไม่เข้าใจชีวิต จนกระทั่งคุณหมอบอกว่าดิฉันเป็นมะเร็ง ดิฉันเข้าใจชีวิตทันทีค่ะ เมื่อตัวเองเข้าใกล้ความตาย นาทีแรกที่คุณหมอบอกว่าเป็นมะเร็ง โอ้โห! ทำไมโลกมันเล็กลง ทำไมเวลามันสั้นลง เพราะเรามีความเชื่อว่าคนที่เป็นมะเร็งก็แปลว่าอีกไม่นานเราจะตาย
ถึงแม้ว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมาได้เคยสัมภาษณ์หมอ สัมภาษณ์ผู้ป่วยมะเร็ง และญาติผู้ป่วยมะเร็งมาประมาณ 50 ครอบครัว แล้วคิดว่าตัวเองเข้าใจเรื่องของมะเร็งดี แต่พอถึงนาทีที่ตัวเองเป็นมะเร็ง ดิฉัน แบบ..(เสียงสั่นเครือ) นี่พูดแล้วเหมือนวันนั้นมันกลับมา ซึ่งดิฉันพบว่าเมื่อชีวิตมันสั้นลง เมื่อความตายเดินทางเข้ามาใกล้ อะไรที่เป็นขยะในชีวิตมันจะหายไป ดิฉันถามตัวเองแล้วพบคำตอบเลยว่า อะไรคือคุณค่าแท้ อะไรคือคุณค่าเทียมในชีวิตเรา
ชื่อเสียง บริษัท กิจการ ธุรกิจ หรืออะไรก็ตามที่เราพยายามทำ มันไม่ได้แวบเข้ามาในหัวเลยค่ะ เพราะในนาทีที่เหลือน้อย ดิฉันทบทวนว่า ชาตินี้เกิดมาคุ้มค่าหรือยัง เราใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่งในชาตินี้คุ้มค่าหรือยัง เราทำหน้าที่ของเราดีแล้วหรือยัง หน้าที่ในการเป็นลูก ทำดีหรือยัง หน้าที่ในการเป็นเพื่อน ดีหรือยัง หน้าที่ในการเป็นพลเมืองของประเทศนี้ ดีหรือยัง และดิฉันก็พบว่า สิ่งที่มันเข้ามาหล่อเลี้ยงจิตใจตัวเองให้หายหวาดกลัวกับความตายที่เข้ามาใกล้ก็คืองานการกุศลที่ประดังประเดเข้ามาให้ทำ มันทำให้ดิฉันรู้สึกว่า ข้าพเจ้าพร้อมตาย เพราะชาตินี้ฉันพอจะใช้ชีวิตคุ้มค่าแล้ว คุ้มค่ากับการได้เกิดมา
คุณค่าที่แท้จริงในชีวิตของคนเรา คือการได้ใช้เวลา และพลังงานในชีวิตของเราเพื่อคนอื่นค่ะ และก่อนที่คุณจะตายคุณจะรู้สึกว่า สิ่งเหล่านั้นมันโอบกอดตัวคุณ" เธอเล่า ก่อนจะเฉลยให้ฟังว่า "ดิฉันเป็นมะเร็งแค่ 4 วันค่ะ เพราะหมอวินิจฉัยผิด เศร้าอยู่ 4 วัน แต่ก็ดีใจที่ได้ซ้อมใหญ่ ซ้อมตาย ได้เข้าใจชีวิต ได้เข้าใจความหมายของมัน ไม่ได้เข้าใจชีวิตจากชีวิต แต่เข้าใจชีวิตจากความตาย ถึงแม้ว่า 4 วันนั้นจะผ่านไปแล้ว
แต่ทุกวันนี้ดิฉันจะพยายามทบทวนความรู้สึกเหมือน 4 วันนั้นเป็นประจำทุกสัปดาห์ และทุกเดือน เพราะการที่เราได้เข้าใกล้ความตายมันทำให้เราได้เข้าใจความหมายของชีวิตและความตาย และสิ่งนี้ไม่ใช่โอกาสที่หาเอาได้ง่ายๆ เลยนะคะที่ใครสักคนจะได้ล้อเล่นกับความตาย และได้ซ้อมใหญ่กับสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นก่อนเวลาอันสมควร"
แม้การวินิจฉัยผิดของแพทย์ในกรณีข้างต้นจะเปลี่ยนวิธีคิดคนคนหนึ่งให้เข้าใจความหมายของชีวิต และความตายได้ดียิ่งขึ้น แต่คงไม่ใช่กับทุกคน เพราะการวินิจฉัยโรคผิด หรือรักษาไม่ถูกวิธี อาจทำให้ชีวิตใครบางคนมืดบอดจนต้องขุดหลุมฝังตัวเองด้วยความทุกข์ทรมาน ซึ่งไม่ต่างอะไรกับคนที่ตายทั้งเป็น
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754