xs
xsm
sm
md
lg

SuperSci: หน้าใสขาวสวยด้วย "พลาสมา"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การบำรุงผิวพรรณใบหน้าด้วยระบบพลาสมาเย็น
นับเป็นสุดยอดปรารถนาของหนุ่มสาวยุคใหม่เลยก็ว่าได้ สำหรับการมีผิวหน้าขาวกระจ่างใสอ่อนกว่าวัย ซึ่งในปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยตอบโจทย์ความต้องการเป็นจำนวนมาก รวมถึงเทคโนโลยีระบบพลาสมาเย็นทางการแพทย์ที่ขณะนี้กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ
 


SuperSci สัปดาห์นี้พาออกเดินทางไปยัง จ.เชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมชมระบบพลาสมาเย็นที่ประยุกต์ใช้ในงานทางการแพทย์เพื่อความสวยความงาม กับ รศ.ดร.ธีรวรรณ บุญญวรรณ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลาสมา พร้อมส่ง "ประวีณา พลเขตต์" ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ร่วมทดสอบประสิทธิภาพเครื่องนวดบำรุงใบหน้าด้วยระบบพลาสมาเย็น

รศ.ดร.ธีรวรรณ บุญญวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิจัยผู้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า พลาสมา (plasma) เป็นสถานะที่ 4 ของสสารนอกจากสถานะของแข็ง ของเหลว และก๊าซที่คนส่วนใหญ่รู้จัก เทคโนโลยีพลาสมาเย็น เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ก๊าซในอากาศเช่น ออกซิเจนและไนโตรเจนเกิดการแตกกระจายแบบเพิ่มอุณหภูมิ ทำให้พลาสมาที่ได้มีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิห้องปกติเพียงเล็กน้อย จึงมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้งานกับเนื้อเยื่อ เช่น ผิวหนัง หรือ ช่องปากของคนได้ ในรูปแบบของเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับการบำรุงผิวหน้าเพื่อความขาวกระจ่างใส และเครื่องมือทางทันตกรรมเพื่อยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในคลองรากฟัน

สำหรับหลักการทำงานของเครื่องพลาสมาบำรุงผิวหน้า รศ.ดร.ธีรวรรณ เผยว่า จะเป็นลักษณะของการปล่อยสนามไฟฟ้าขนาดเล็กผ่านไปยังลูกกลิ้งโลหะลักษณะมน ที่ผู้เชี่ยวชาญจะใช้ถูวนสัมผัสไปตามส่วนต่างๆ ของใบหน้า โดยสนามแม่เหล็กจะทำปฏิกริยากับละอองน้ำที่อยู่ในอากาศ เพื่อเปลี่ยนองค์ประกอบของไอน้ำให้แตกตัวเป็นไฮดรอกไซด์ ซึ่งอนูมูลที่ได้จะเข้าไปทำลายเซลล์แบคทีเรีย และเชื้อราที่ฝังอยู่ตามรูขุมขนให้หลุดลอกออก เสมือนเป็นการผลัดเซลล์ผิวเก่า เผยผิวใหม่ ทำให้ใบหน้ามีความขาวใส โดยไม่ต้องใช้ครีมบำรุง หรือสารเคมีใดๆ ทาลงบนใบหน้าก่อนการทำ ทำให้ผู้ใช้สามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดอาการแพ้ หรือระคายเคือง ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบกว่าการทำเลเซอร์หรือไอพีแอลที่นิยมในปัจจุบัน ซึ่งผลการทดสอบกับอาสาสมัครจำนวน 60 คนยังระบุด้วยว่า สามารถช่วยลดสิวให้ทุเลาลงได้ภายในการทำต่อเนื่อง ครั้งละ 20 นาที จำนวน 5 ครั้ง และจะทำให้ใบหน้าดูอ่อนกว่าวัย ลดความมันบนใบหน้าได้ภายในการทำต่อเนื่อง 10 ครั้ง

แม้จะมีประสิทธิภาพดีแต่ รศ.ดร.ธีรวรรณ ระบุว่า เทคโนโลยีพลาสมากลับเพิ่งเป็นที่นิยม โดยเริ่มมีการวิจัยและพัฒนาเป็นนวัตกรรมอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ ส่วนประเทศไทยมีสถาบันวิจัยเกี่ยวกับพลาสมาเพียงไม่กี่แห่ง โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นจุดศูนย์กลาง เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความสวยความงามรายหนึ่งซึ่งเห็นเทรนด์ของพลาสมากำลังมาแรงในตลาดโลก จึงเข้ามาขอคำปรึกษาและกระตุ้นให้นักวิจัยทำการพัฒนาเอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบพลาสมาเพื่อรองรับกับกระแสความรักสวยรักงามของคนไทยและชาวเอเชีย จนเกิดเป็นโครงการวิจัย “ระบบพลาสมาเย็นเพื่อการประยุกต์ใช้ในงานการแพทย์และทันตกรรม เพื่อพัฒนาหัวพ่นพลาสมาและหัวผลักยา” ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างหน่วยวิจัยเทคโนโลยีพลาสมาและคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศวร และมหาวิทยาลัยบูรพา โดยมี วช.สนับสนุนทุนวิจัยให้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 เป็นจำนวน 5 ล้านบาท

“การใช้พลาสมาเพื่อดัดแปรผิววัสดุ (surface modification) เป็นกระบวนการเชิงฟิสิกส์-เคมี โดยอนุภาคพลาสมาเปรียบได้กับโมเลกุลในปฏิกริยาเคมีที่ไปกระทำต่อผิววัสดุ ทำให้คุณสมบัติบางอย่างของผิวถูกเปลี่ยนแปลง ทำให้ได้วัสดุที่มีคุณสมบัติใหม่ ซึ่งนอกจากการนำมาใช้เพื่อฆ่าแบคทีเรียในรูขุมขน เพื่อบำรุงผิวหน้าแล้ว ยังสามารถนำมาใช้กับงานทันตกรรมในรูปแบบของการพ่นเพื่อฆ่าเชื้อโรคในคลองรากฟันแทนการให้ยาได้อีกด้วย โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนรอการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการที่มีกำลังซื้อสิทธิไปพัฒนาต่อ แต่ระหว่างทางก็มีผู้ประกอบการความงาม 2-3 รายในจ.เชียงใหม่ติดต่อนำเครื่องบำรุงหน้าพลาสมาไปใช้ในคลินิกแล้วเช่นกัน เพราะเครื่องได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์การอาหารและยา (อย.) และผ่านการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เป็นที่เรียบร้อย โดยมีราคาจัดจำหน่ายทั้งระบบประมาณ 3 แสนบาท ส่วนพลาสมาเพื่องานทันตกรรมยังอยู่ในขั้นทดลอง” นักวิจัย กล่าว

ด้าน ประวีณา พลเขตต์ ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงความรู้สึกเมื่อได้ทดลองบำรุงผิวหน้าด้วยพลาสมาเย็นว่าผิวหน้าว่า ขณะผู้เชี่ยวชาญลากแท่งโลหะไปตามผิวหน้าจะมีความรู้สึกอุ่นๆ ไม่ร้อนจนเกินไป และบางสัมผัสจะรู้สึกเหมือนเกิดไฟฟ้าสถิตบนผิวหน้า ซึ่งหลังจากทดลองเสร็จครั้งแรกพบว่า ผิวหน้ามีความกระจ่างใส นุ่มฟูขึ้นเล็กน้อย และไม่มีอาการแพ้หรือเจ็บปวดเกิดขึ้นแต่อย่างใด

ท้ายสุด รศ.ดร.ธีรวรรณ เผยว่า นวัตกรรมทั้ง 2 ชิ้นได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยพร้อมถ่ายทอดสู่เอกชน โดยคาดว่าเมื่ออุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก่อสร้างเสร็จ ก็จะนำไปวางเพื่อให้บริการแก่ผู้สนใจด้วย นอกจากนี้เขายังมองด้วยว่า พลาสมาสามารถพัฒนาต่อเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมได้อีกหลากหลาย ทั้งงานทางด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ, อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์, วัสดุไบโอโพลิเมอร์ หรือวัสดุย่ิอยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งอาจนำมาใช้เป็นหัวข้อการวิจัยในอนาคต
พลาสมาที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะเป็นลำแสงสีฟ้าอ่อนๆ
เครื่องมือแพทย์ระบบพลาสมาเย็นสำหรับบำรุงผิวพรรณใบหน้า
ใช้เท้าเป็นตัวควบคุมการปล่อยพลาสมา
รศ.ดร.ธีรวรรณ บุญญวรรณ









กำลังโหลดความคิดเห็น