รอยเตอร์ - โรงพยาบาล 2 แห่งในเกาหลีใต้กำลังดำเนินการทดลองรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสกลุ่มอาการทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (เมอร์ส) โดยการฉีดน้ำเลือด (blood plasma) จากผู้ป่วยที่ฟื้นตัวแล้วเข้าไปในร่างกายพวกเขา กระทรวงสาธารณสุขระบุในวันนี้ (16 มิ.ย.)
กระบวนการดังกล่าวมีขึ้นกับผู้ติดเชื้อเมอร์สที่ให้การยินยอม 2 รายโดยอยู่นอกเหนือไปจากการรักษาที่มีอยู่แล้ว ควอน จุน-วุค หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณสุขของกระทรวงฯ บอกในการบรรยายสรุปต่อสื่อ
ทั้งนี้ น้ำเลือด (Plasma หรือ Blood plasma) คือ ส่วนทั้งหมดของเลือดที่ไม่มีเม็ดเลือด ซึ่งได้แก่ น้ำเหลืองเลือด และสาร/โปรตีนชนิดทำให้เลือดแข็งตัว
“มีหลักฐานทางการแพทย์เกี่ยวกับผลลัพธ์ของการรักษาด้วยน้ำเลือด (plasma therapy) อยู่น้อยมากในหมู่ผู้เชี่ยวชาญในประเทศนี้” ควอนกล่าว แต่เสริมว่า “ทางกระทรวงฯมีความเชื่อมันอย่างยิ่งในตัวเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่กำกับดูแลการรักษานี้”
ก่อนหน้านี้การรักษาด้วยน้ำเลือดเคยถูกใช้ในผู้ป่วยโรคซาร์ส และมีผลลัพธ์เชิงบวกในผู้ป่วยขั้นรุนแรงบางคน ซึ่งส่งผลให้อัตราผู้เสียชีวิตลดลงถึง 23 เปอร์เซ็นต์ ควอน กล่าว
การรักษาด้วยน้ำเลือดไม่ได้มีนำไปทดสอบกับผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์สอย่างแพร่หลาย เนื่องจากแทบจะไม่มีการรายงานผลการศึกษาทางการแพทย์ออกมาเลย ออม จุง-ซิค อาจารย์ด้านโรคติดต่อจากวิทยาลัยการแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮัลลิม กล่าว
หลังจากเชื้อไวรัสเมอร์สปรากฏขึ้นในมนุษย์ครั้งแรกเมื่อ 3 ปีที่แล้ว จนถึงตอนนี้ยังไม่มีหนทางรักษาหรือวัคซีนที่สามารถป้องกันคนจากการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว อีกทั้งยังแทบจะไม่มีการพัฒนาวัคซีนเกิดขึ้นเลย ถึงแม้ว่าจะมีรายะละเอียดทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถเข้าถึงได้อยู่มากมายก็ตาม