xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มมูลค่าพลอยเกรดต่ำด้วย "ลำไอออน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พญาหงสา ของประดับบ้านตกแต่งด้วยพลอยแซฟไฟร์หลายร้อยเม็ดชิ้นนี้มีราคาอยู่ที่หลักล้านบาท
เพิ่มมูลค่าพลอยเกรดต่ำด้วย "ลำไอออน" เทคโนโลยีอนุภาคความร้อนต่ำพลังงานสูงทางเลือกใหม่เอาใจคนรักอัญมณี ให้ประสิทธิภาพดีกว่าการเผา "ใสกว่า-สีสดกว่า-ทุ่นเวลา-ไม่ทำให้พลอยแตก" เพิ่มราคาเศษพลอยไร้ค่าได้ 10 เท่า

ผศ.ดร.ดวงแข บุตรกูล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีรายได้จาการส่งออกพลอยประมาณ 4 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งถือเป็นสัดส่วนรายได้ที่มากพอๆ กับสินค้าทางการเกษตรเช่น ข้าวหรือยางพารา เพื่อให้รายได้มวลรวมของประเทศมากขึ้น กลุ่มผู้ประกอบการอัญมณีจึงมีเป้าหมายร่วมกัน ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกพลอยอันดับหนึ่ง ด้วยการรับซื้อพลอยหลายระดับจากทั่วโลกมาผ่านการปรับปรุงคุณภาพ ก่อนจะส่งออกขายอีกครั้งในชื่อของ "ทับทิมสยาม" อันเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก

แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าพลอยน้ำดีจากเหมืองไทยแท้หายากขึ้นทุกวัน ผศ.ดร.ดวงแข เผยว่า ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่จึงนิยมสั่งซื้อพลอยแซฟไฟร์ และเข้าไปทำธุรกิจพลอยจากเหมืองของประเทศอื่นๆ เช่น โมซัมบิก, พม่า, ลาว และแอฟริกา ซึ่งยังคงมีพลอยแซฟไฟร์อยู่มากแต่คุณภาพไม่ดีเท่า ก่อนจะนำส่งกลับมาปรับปรุงคุณภาพด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ของไทย ที่ได้รับการยอมรับว่ามีความทันสมัยและทรงประสิทธิภาพเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ด้วยกรรมวิธีการเผา, การหุง และการฉายรังสี เป็นต้น

ผศ.ดร.ดวงแข กล่าวว่า การปรับปรุงพลอยแซฟไฟร์ซึ่งเป็นพลอยเนื้อแข็ง เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมสูงสุด เพราะการให้อุณหภูมิที่สูงนับพันองศาเซลเซียสแก่พลอย จะทำให้โครงสร้างภายในซึ่งอาจมีมลทิน หรือสีรองที่มากเกินควรหายไป ทำให้พลอยมีสีสด มีความใส และมีความแข็งมากยิ่งขึ้น แต่ในบางกรณีการเผาก็อาจเป็นการทำลายโครงสร้างที่ดีของพลอยจนเกิดการแตกหัก และที่สำคัญการเผาต้องใช้เวลาในกระบวนการยาวนานหลายวัน หรือบางครั้งอาจนานนับเดือน

เพื่อพัฒนาเทคนิคการปรับปรุงคุณภาพพลอย ทีมวิจัย มศว จึงมองหาเครื่องมือใหม่ๆ ที่มีความสามารถในการทำลายมลทิน เพิ่มสีสันให้แก่พลอยโดยไม่ทำลายโครงสร้างภายใน จึงมองหาเทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกับการฉายรังสีไล่มลทินในพลอยเนื้ออ่อนซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้วจากการดำเนินการของสำนักงานเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) จนทราบว่าที่ศูนย์วิจัยฟิสิกส์และลำอนุภาคและพลาสมา คณะฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีเครื่องไอออนที่จะปล่อยอนุภาคไนโตรเจนแบบความร้อนต่ำ พลังงานสูง ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้ประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่าพลอยได้ เป็นที่มาของงานวิจัยในโครงการวิจัยการปรับปรุงคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าพลอยเซฟไฟร์สีน้ำเงินธรรมชาติด้วยเทคโนโลยี ระหว่างนักวิจัย 2 สถาบัน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย

"ในวงการอัญมณีเราจะรู้กันดีว่าพลอยยิ่งใส ยิ่งเป็นที่ต้องการ สียิ่งสดราคายิ่งแพง แต่พลอยดีๆ ตามเหมืองสมัยนี้แทบไม่ค่อยมีแล้ว ส่วนใหญ่ก็ผ่านการปรับปรุงคุณภาพเช่น การหุงพลอย การเผาพลอย หรือการฉายรังสีมาแล้วแทบทั้งนั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าพลอยทุกเม็ดที่ผ่านกระบวนการต่างๆ แล้วจะเป็นพลอยน้ำดี บางทีก็ไม่ เราจึงพยายามคิดหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพพลอยเกรดต่ำให้ขายได้ในราคาดียิ่งขึ้น ไม่ใช่ไร้ค่าจนเจ้าของต้องนำไปแปะฝาบ้านดูเล่นเพราะไร้ราคา" ผศ.ดร.ดวงแข กล่าวถึงที่มาระหว่างพาทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ เดินชมเครื่องไอออนหน้าตาสลับซับซ้อนภายในศูนย์อันประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนกำเนิดไอออน, ส่วนลำโฟกัสไอออน ที่เป็นเหมือนส่วนเร่งความเร็วและความแรงของอนุภาค และส่วนพุ่งชนวัตถุ

สำหรับกลไกที่ไอออนเข้าไปทำปฏิกริยากับพลอย ผศ.ดร.ดวงแข อธิบายว่า เป็นกลไกของการขยับแทนที่ โดยลำไอออนที่ยิงเข้าไปในเม็ดพลอยจะดันให้มวลสารที่เป็นมลทินหรือสิ่งสกปรกหรือสารสีกลุ่มรอง เช่น สีดำ ที่ทำให้พลอยแซฟไฟร์มีความคล้ำค่อยๆ เคลื่อนไปรวมกันที่ด้านหนึ่งของเม็ดพลอยเพื่อรอการตัดออกจากช่างเจียระไน ซึ่งจะทำให้พลอยที่ได้มีสีสันสดใสและมีความแวววาวมากขึ้น โดยโครงสร้างไม่เกิดการร้าวในเหมือนกับการเผาที่นิยมทำ ทำให้พลอยที่ผ่านการฉายด้วยเครื่องไอออนมีข้อดี 3 ประการ ได้แก่ มีความโปร่งใสเพิ่มขึ้น, มีสีสันเด่นชัดยิ่งขึ้น และมีสีรองน้อยลง ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าพลอยเกรดต่ำจากเดิมได้ถึง 10 เท่า

อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.ดวงแข ระบุว่า เทคโนโลยีนี้ไม่ใช่เทคโนโลยีที่จะเข้ามาแทนที่การเผาพลอย แต่เป็นเทคโนโลยีทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการที่เคยล้มเหลวกับการปรับปรุงพลอย ด้วยวิธีอื่นๆ หรืออยากลองเทคนิคใหม่ๆ เพราะการยิงไอออนเป็นกรรมวิธีปรับปรุงคุณภาพพลอยที่ตลาดยอมรับของตลาดหากไม่ปกปิดความจริง และยังไม่เป็นอันตรายเหมือนการฉายรังสี โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นพัฒนาเครื่องไอออนให้ใช้ง่าย และเปิดให้บริการแล้วกับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้เทคนิคเป็นครั้งคราว ในราคาวันละ 8,500 บาทต่อพื้นที่การวางพลอย 4 นิ้ว และจะนำไปจัดตั้งไว้ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงปี 2560 เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้นด้วย

ในโอกาสนี้ ผศ.ดร.ดวงแข ได้นำทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ชมความงามของพลอยแซฟไฟร์หลากหลายสีที่นำมาทำเป็นเครื่องประดับล้ำค่า หลากหลายรูปแบบ อาทิ หงสา, พญาหงสา ที่สนนราคาคู่ละ 1 ล้านบาทเศษ พร้อมด้วยเข็มกลัดและแหวนที่ผลิตขึ้นจากพลอยแซฟไฟร์ปรับปรุงคุณภาพด้วยลำไอออนซึ่งส่งแสงระยิบระยับสะดุดตาด้วย
พลอยที่ผ่านการยิงไอออนจะมีสีสดขึ้น มีความใสมากขึ้นและไม่แตกร้าว ทำให้การเจียระไนทำได้ง่ายและไม่เสี่ยงต่อความเสียหาย
เครื่องไอออนประกอบด้วย 3 ส่วน ด้านบนส่วนที่ชี้อยู่คือส่วนกำเนิดไอออน ต่ำลงมาเป็นท่อโฟกัสเร่งความแรงไอออน ส่วนด้านล่างสุดที่มีลักษณะเป็นฝากลม คือส่วนบรรจุพลอยสำหรับรองรับลำไอออน
ผศ.ดร.ดวงแข สาธิตวิธีการนำพลอยเข้าเครื่องไอออน
กะบะรองรับเม็ดพลอยเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการยิงไอออนขนาด 4 นิ้ว
นักวิจัยบรรจุพลอยลงไปในเครื่องไอออน ก่อนจะเดินเครื่องด้วยอุณหภูมิประมาณ 300 องศาดป็นเวลา 8 ชั่วโมง
พลอยเกรดต่ำเมื่อแรกคัด มีลักษณะไม่ต่างจากก้อนหิน
(ขวา) พลอยที่ยังไม่ผ่านการฉายไอออน (ซ้าย) พลอยที่ผ่านการปรับปรุงแล้ว
ทับทิมสยามสีแดงสด (ล่างสุดตรงกลาง) เป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลกอย่างมาก จนทำให้ผู้ประกอบการมีแนวคิดที่จะปรับปรุงพลอยทุกแหล่งบนโลก ให้มีคุณภาพดีแล้วส่งออกขายในนามคนไทยว่า ทับทิมสยาม
เมื่อนำพลอยเกรดต่ำที่มีสีหม่นและไม่มีความแวววาวอย่างด้านซ้ายไปผ่านการยิงไอออน จะทำให้ได้พลอยที่มีน้ำงามขึ้นแบบด้านขวา
(ล่าง) พลอยที่ยังไม่ผ่านการฉายไอออน (บน) พลอยที่ผ่านการปรับปรุงแล้ว
เข็มกลัดและแหวนพลอยแซฟไฟร์
พลอยแซฟไฟร์จำนวนหลายร้อยเม็ดถูกบรรจงติดลงบนปีกปักษา ซึ่งการสร้างเป็นชิ้นงานในลักษณะนี้ช่วยเพิ่มมูลค่าพลอยได้มากกว่า 10 เท่า
หงสาและพญาหงสา ตัวอย่างเครื่องประดับที่ใช้พลอยแซฟไฟร์ปรับปรุงคุณภาพมาผลิตเป็นชิ้นงาน
พลอยแซฟไฟร์หลากสีหลายร้อยเม็ดถูกนำมาทำเป็นแพนทางนกหงสาสวยงามอ่อนช้อย
ผศ.ดร.ดวงแข บุตรกูล คณะวิทยาศาสตร์









กำลังโหลดความคิดเห็น