xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่าวิกฤตยางพาราด้วย "บ่อเลี้ยงปลา-บ่อมะนาว" จากน้ำยางสด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลงด้ามขวานล่องปัตตานีดูวิสาหกิจชุมชนสายบุรี ใช้งานวิจัยเพิ่มมูลค่าสู้วิกฤติยางพารา ด้วย “บ่อยางปลูกมะนาว-บ่อเลี้ยงปลาดุกไร้คาว” สร้างกำไร 100% แถมเพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางสดจากสวนยางรอบข้างได้ถึงเดือนละ 8 ตัน

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ได้เดินทางไปยัง จ.ปัตตานี ร่วมกับทีมนักวิจัยฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อติดตามการแก้ปัญหาวิกฤติราคายางพาราตกต่ำด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งในเราได้เดินทางไปยัง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่นำน้ำยางข้นมาผลิตเป็นบ่อปลูกมะนาวและบ่อเลี้ยงปลา

ผศ.ดร.อดิศัย รุ่งวิชานิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นักวิจัยผู้ได้รับทุน สกว. กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ส่วนใหญ่เป็นประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งในละแวกนี้ไปจนถึง จ.นราธิวาสจะนิยมขายน้ำยางสดในรูปแบบของยางก้อนถ้วย สำหรับนำไปผลิตเป็นยางแท่งเกรด 20 ซึ่งมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 15 บาท ในภาวะยางตกต่ำชาวบ้านที่เดิมมีการรวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อขายน้ำยางอยู่แล้วจึงส่งตัวแทนมาขอคำแนะนำเพื่อนำน้ำยางไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์

ผศ.ดร.อดิศัย จึงได้ถ่ายทอดงานวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเคลือบสระกักเก็บน้ำด้วยน้ำยางธรรมชาติให้ ซึ่งเทคโนโลยีนี้เป็นหนึ่งในงานวิจัยมุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศในกลุ่มยางพารา โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่เป็นการสอนตั้งแต่การนำน้ำยางพาราสด มาทำให้ข้นด้วยกระบวนการครีมมี่จนเป็นน้ำยางครีม ก่อนจะนำมาใส่สารเคมีและสารคงตัวจนเป็นน้ำยางคอมปาวด์สำหรับใช้พ่นเคลือบลงบนผืนผ้าใบหรือผ้าดิบที่ตัดเย็บให้เป็นรูปกระถางก่อนจะนำไปตากแดดหรือเข้าเตาอบเพื่อให้ยางแห้ง

สาเหตุที่เลือกพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นบ่อมะนาว ผศ.ดร.อดิศัย เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่าเป็นเพราะโอกาสทางการตลาดที่ทีมากกว่าพืชอื่นๆ เพราะบางช่วงมะนาวมีราคาแพง จึงมีการส่งเสริมให้ปลูกมะนาวในวงล้อซีเมนต์มากขึ้น แต่วงล้อซีเมนต์มีน้ำหนักมาก มีความเปราะบางและต้องใช้พื้นที่มากซึ่งยากต่อการขนส่ง จึงคิดนำยางพารามาพัฒนาเป็นบ่อสำหรับการเพาะปลูกเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้สนใจแทน เพราะยางพารามีความยืดหยุ่น อุ้มน้ำได้ดี มีน้ำหนักเบา สามารถพับเก็บเพื่อขนส่งทีละมากๆได้ซึ่งเป็นผลดีต่อการจัดจำหน่าย

“ชื่อบ่อมะนาว แต่ความจริงมันใช้ปลูกอะไรก็ได้ เหมือนกระถางต้นไม้ทั่วไป แต่ยางพาราดีกว่าเพราะน้ำหนักเบา ทนทาน มีอายุการใช้งานอย่างต่ำ 3 ปี และจากการทดลองปลูกของชาวบ้านยังพบว่าต้นมะนาวที่ปลูกเจริญเติบโตเร็วกว่าปกติด้วย ซึ่งเราคาดว่าเป็นเพราะสีดำของยางพาราที่ดูดความร้อนเข้าสู่ดินทำให้รากของพืชมีการแตกแขนงเร็วและมีจำนวนมากกว่าปกติ โดยบ่อมะนาว 1วงจะใช้น้ำยาประมาณ 2.5 กิโลกรัม” ศ.ดร.อดิศัย กล่าว

ด้านนายสุไลมาน ดือราโอะ หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนสายบุรี กล่าวว่า หลังจากขอคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญและซื้อสิทธิบัตรงานวิจัยมาเริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน คุณภาพชีวิตของคนในกลุ่มฯ ดีขึ้นมากทั้งด้านการส่งเสริมอาชีพและรายได้ เพราะจากเดิมที่เคยขายยางถ้วยได้กิโลกรัมละไม่กี่บาทแต่เมื่อนำมาทำเป็นบ่อมะนาวสามารถขายได้ในราคาวงละ 300 บาท คิดเป็นกำไร 100% ซึ่งขณะนี้มียอดขายเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 1,000 บ่อ ทำให้แต่ละเดือนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสายบุรีมีความต้องการใช้น้ำยางสดสูงถึง 8 ตัน

ทั้งนี้ สุไลมาน เผยว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาร่วมกับนักวิจัย สกว. ในส่วนของการวิจัยเพื่อทำให้ยางคอมปาวด์มีอายุการจัดเก็บยาวนานขึ้นจาก 2 สัปดาห์เป็น 3 เดือนด้วยกระบวนการวัลคาไนซ์ และการวิจัยเพื่อพัฒนาเตาอบบ่อยางเพราะปัจจุบันยังคงใช้วิธีตากแดดให้แห้งทำให้การผลิตมาปัญหาเมื่อถึงฤดูฝน

ส่วนการนำยางพารามาทำเป็นบ่อเลี้ยงปลา ผศ.ดร.อดิศัย เผยว่า จะใช้วิธีการที่คล้ายคลึงกัน คือเป็นการฉาบหรือพ่นน้ำยางคอมปาวด์ลงไปบนผืนผ้าใบหรือผ้าดิบที่ตัดเย็บและบุลงไปบนขอบบ่อ ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับผู้ที่ต้องการเลี้ยงปลาแต่มีพื้นที่จำกัด โดยพื้นที่บ่อ 1 ตารางเมตรจะใช้น้ำยางประมาณ2.5 กิโลกรัม ซึ่งในโอกาสนี้นักวิจัยได้พาทีมข่าวฯ ลงพื้นที่ดูบ่อเลี้ยงปลาของจริงที่ชุมชนนำไปใช้ขยายผลด้วย

นางซัลมา ซะมาแอ หัวหน้าชุมชนใน อ.สายบุรี กล่าวว่า เธอได้นำบ่อเลี้ยงปลายางพาราขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตรมาทดลองใช้เลี้ยงปลาดุกในพื้นที่มานานกว่า 1 ปี จนถึงขณะนี้ตัวบ่อยังสามารถใช้งานได้ดี ไม่มีการรั่วซึม ทั้งที่เลี้ยงปลาดุกมาไม่ต่ำกว่าร้อยตัวและที่สำคัญปลาดุกในบ่อยังโตเร็วและไม่มีกลิ่นคาว สามารถจับกินได้ภายใน 2 เดือนและไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย

เช่นเดียวกับนางอาตีกะห์ ฮารีบิน ตัวแทนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรฮูแตปาเซ ที่ระบุว่าปลาดุกที่เลี้ยงในบ่อยางพาราโตเร็วกว่าปลาที่เลี้ยงในบ่อซีเมนต์ และไม่มีความคาว ซึ่งเธอสันนิษฐานจากประสบการณ์ว่า น่าจะเกิดจากบ่อยางพาราที่มีสีดำดูดความร้อนได้ดีกว่าจึงทำให้ปลาโตเร็ว เพราะปลาดุกโดยธรรมชาติชอบน้ำร้อน เมื่อปลาไม่เครียดจึงกินอาหารได้มาก ไม่เหลืออาหารจมทิ้งทำน้ำเน่าเสีย ตัวปลาจึงไม่มีกลิ่นคาวและโตไว สามารถจับขายได้ภายในเวลา 2.5 เดือน ในขณะที่ปลาดุกในบ่อซีเมนต์ต้องใช้เวลาเลี้ยงถึง 4 เดือน

“ถ้าเราอยากเป็นผู้กำหนดราคา ไม่อยากจะมีนั่งพึ่งพาราคาตลาด เราต้องกล้าที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ อย่างงานวิจัยของผมงาน คือการใช้ประโยชน์จากยาง เช่น การทำน้ำยางปูสระ ทำพื้นสนามฟุตซอล สนามเด็กเล่น มาจนถึงบ่อปลูกมะนาว บ่อเลี้ยงปลา ผมแค่หยิบความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีมาใส่เข้าไปให้ผลิตภัณฑ์มีคุณค่า เพราะเรามีบทเรียนเรื่องยางพาราราคาตกต่ำมาหลายครั้ง จะมาขายยางก้นถ้วยเหมือนเดิม ขายยางสดเหมือนเดิมคงไม่ได้ ต้องนำคุณค่าของงานวิจัยมาเพิ่มมูลค่าให้กับยางชาวสวนยางถึงจะรอด" ผศ.ดร.อดิศัย กล่าว























กำลังโหลดความคิดเห็น