ยางตกแค่ไหน ไม่มีหวั่น ... วิสาหกิจชุมชนป่าพลู จ.สงขลา ฮึดสู้วิกฤติยางพาราด้วยงานวิจัยวิทย์ ผลิตถุงมือเคลือบยางพารายอดถึกพ่วงหมอนยางพาราเพื่อสุขภาพส่งออก "เพิ่มมูลค่าน้ำยางได้ 6 เท่า" เพิ่มใช้ยางสดเดือนละ 6 ตัน
"เมื่อก่อนเรารวมตัวกันผลิตยางแผ่นขายให้กับบริษัทยางล้อ แต่พักหลังราคายางลดลงตลอด เราเลยต้องหาลู่ทางใหม่เผื่อจะเอาน้ำยางไปผลิตเป็นอะไรที่ขายได้ราคาดีๆ บ้าง ก็เลยวิ่งไปที่ มอ.เพราะรู้ว่าที่นี่เขามีนักวิจัยเก่งเรื่องยาง" คุณัญญา แก้วหนู กล่าวขึ้นขณะนำทีมข่าวฯ เยี่ยมชมโรงงานที่ อ.จะนะ จ.สงขลา
คุณัญญา แก้วหนู ผู้บริหาร บริษัท 42 เนเชอรัล รับเบอร์ จำกัด กล่าวว่า เดิมทีชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงจะรวมตัวกันเพื่อผลิตยางแผ่นขายให้กับบริษัทผลิตยางล้อรถยนต์ยักษ์ใหญ่ แต่เมื่อความต้องการยางพาราทั่วโลกลดลง ราคายางตก ยอดสั่งซื้อที่เคยมีมากในแต่ละเดือนจึงมีน้อยลงจนส่งผลต่อรายได้และยังทำให้มีปริมาณน้ำยางพาราสดล้นตลาด
เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ เมื่อ 3 ปีก่อนเธอจึงมีแนวคิดที่จะผันตัวจากผู้ผลิตยางแผ่นซึ่งเป็นส่วนกลางน้ำของห่วงโซ่ยางพารามาสู่ผู้ผลิตในขั้นปลายน้ำแต่ไม่มีองค์ความรู้เพียงพอ จึงติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เพื่อขอคำปรึกษา จนได้รับคำแนะนำให้เข้าพบ รศ.อาซีซัน แกสมาน ผู้เชี่ยวชาญที่ทำวิจัยเรื่องยางพารามากว่า 30 ปี ซึ่งในขณะนั้น รศ.อาซีซันได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยียางครีมมิ่งให้ จนเกิดเป็น "ถุงมือผ้าเคลือบยางพารา" ผลิตภัณฑ์ชนิดแรกของกลุ่มวิสาหกิจฯ ที่ในภายหลังได้จดทะเบียนภายได้ชื่อบริษัท 42 เนเชอรัล รับเบอร์ จำกัด
"แต่กว่าจะเป็นถุงมือผ้าเคลือบยางก็ไม่ง่าย เพราะตอนไปหาอาจารย์เราไม่รู้อะไรเลย รู้อย่างเดียวแค่อยากเอายางมาทำผลิตภัณฑ์ พออาจารย์ถามว่าอยากทำอะไรเลยต้องกลับมานั่งคิดถึง 3 เดือนแล้วจึงไปบอกใหม่ว่าอยากทำถุงมือ เพราะคนในพื้นที่ใช้กันมาก และเราเองก็รู้แหล่งที่ซื้อได้ถูกและไว้ใจได้ในสงขลา ซึ่งมันสะดวกกว่าสั่งจากกรุงเทพฯ เพราะประหยัดค่าขนส่ง" คุณัญญาเผย
ด้าน รศ.อาซีซัน แกสมาน อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นักวิจัยผู้ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ มีต้นทุนเรื่องน้ำยางและมีองค์ความรู้ด้านการผลิตยางแผ่นอยู่แล้ว จึงอยากถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่การผลิตน้ำยางข้นด้วยกระบวนการครีมมี่ แทนวิธีปั่นเหวี่ยงที่ต้องลงทุนสูงให้ เมื่อชาวบ้านทำน้ำยางข้นครีมมี่เป็น จึงต่อยอดไปสู่การทำถุงมือ
สำหรับการทำถุงมือผ้าเคลือบยาง รศ.อาซีซัน อธิบายว่า มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เพียงแค่นำน้ำยางข้นผสมสารเคมีตามสูตร ซึ่งไม่มีอันตรายต่อผู้สวมใส่ทาลงไปบนถุงมือด้านฝ่ามือจำนวน 3 รอบแล้วอบให้แห้งที่อุณหภูมิ 100 องศาเป็นเวลา 30 นาที ก็จะได้ถุงมือผ้าที่มีความแข็งแรง ทนทาน แต่ยังคงความนิ่มและกระชับที่ถือเป็นจุดเด่นกว่าถุงมือผ้าเคลือบน้ำยางยี่ห้ออื่น โดยน้ำยางข้น 1 กิโลกรัมจะทำถุงมือยางได้ประมาณ 60 คู่ และสามารถขายได้ในราคาคู่ละ 35 บาทจากปกติถุงมือผ้าคู่ละ 10 บาท
นอกจากนี้ รศ.อาซีซัน ยังได้ถ่ายทอดเทคโนโลนีทำฟองน้ำยางเพื่อผลิตเป็นหมอนยางพาราที่เป็นสินค้ายอดนิยมให้แก่กลุ่มวิสาหกิจเพิ่มเติมด้วย ตั้งแต่การตียางให้เกิดฟอง ปริมาณส่วนผสม การเลือกใช้โมลสำหรับเป็นแบบ กรรมวิธีการอบ ตลอดจนการบรรจุภัณฑ์ ซึ่งหลังจากทดลองทำและจัดจำหน่ายได้เพียง 3 เดือนก็เป็นที่สนใจของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยขณะนี้ได้รับจ้างผลิตหมอนยางพาราตามคำสั่งซื้อจากคู่ค้าในประเทศ 4 ราย และอีก 2 รายในประเทศจีนที่มีคำสั่งซื้อทั้งแบบรายเดือน และแบบรายครั้ง โดยหมอน 1 ใบซึ่งหนักประมาณ 1.2 กิโลกรัม จะใช้น้ำยางข้นประมาณ 2 กิโลกรัม และมีราคาขายอยู่ 750-890 บาท
ด้านคุณัญญา กล่าวเสริมว่า ตั้งแต่ผันตัวมาเป็นผู้ผลิต เธอและสมาชิกก็มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะนอกจะมีรายได้ดีแบบที่ไม่ผันผวนตามราคาตลาดยาง ยังถือเป็นการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรชาวสวนยางด้วย เนื่องจากในแต่ละเดือนโรงงานมีความต้องการน้ำยางพาราสดถึงเดือนละ 6 ตัน และสำคัญคือทำให้แม่บ้านในชุมชนมีอาชีพ เพราะถุงมือเคลือบน้ำยางที่ผลิตออกขายทำโดยแม่บ้านที่ผ่านการฝึกหัดจำนวน 4 ครอบครัว โดยในปีที่ผ่านมามียอดขายสุทธิรวมทุกผลิตภัณฑ์ประมาณ 5 ล้านบาท
สำหรับแผนในอนาคต คุณัญญา เผยว่า จะเร่งขยายกำลังการผลิตให้เพิ่มขึ้นเพื่อรับกระแสความคึกคักของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่นิยมซื้อหมอนยางพาราจากเมืองไทยเป็นของฝาก เพราะปัจจุบันสามารถผลิตหมอนได้เพียงวันละ 50 ใบเท่านั้น และอาจมีการเพิ่มรูปแบบของหมอนจากเดิมที่มีแบบเดียวให้มีความหลากหลายมากขึ้น พร้อมกับการหาแนวทางเพื่อลดต้นทุนการผลิตและขนส่งที่ยังคงสูงอยู่
"ถ้าจะแก้ปัญหาราคายางพาราตก เราต้องแก้ที่การเพิ่มมูลค่า ต้องพัฒนาให้มันเป็นผลิตภัณฑ์ ผมจึงเริ่มจากงานการนำงานวิจัยที่เป็นการพัฒนาสูตรน้ำยาง การพัฒนาเครื่องมือแบบง่ายๆ และเหมาะสมมาให้ชุมชนเพราะผมมีเป้าหมายที่ต้องการให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตัวเองได้บนฐานกระบวนการวิจัย แม้มันจะไม่ได้ทำให้เกิดการใช้น้ำยางสดมากเท่ากับตอนที่เขาผลิตยางแผ่น แต่มันทำให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้นและไม่ต้องเอาตัวเองไปผูกกับราคายาง จนทำให้ตอนนี้กลุ่มฯ สามารถรับซื้อน้ำยางสดจากชาวบ้านได้สูงกว่าราคากลางถึงกิโลกรัมละ 50 สตางค์และสร้างมูลค่าเพิ่มจากน้ำยางธรรมดาๆ ให้ขายในราคาที่สูงกว่าถึง 2 เท่าสำหรับถุงมือและ 6 เท่าสำหรับหมอน" รศ.อาซีซัน กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์