ดูตัวอย่าง "บ้านต้านแผ่นดินไหว" นวัตกรรมบ้านน็อกดาวน์สุดไฉไลจากวิศวกรรม ม.เกษตร น้ำหนักเบา-ติดตั้งง่าย-รับแผ่นดินไหวได้ระดับ7-ประกอบเสร็จใน 4 ชั่วโมง ช่วยชาวบ้านพื้นที่เสี่ยงอุ่นใจในราคาหลังละ 1 แสน ติดตั้งแล้วที่เชียงราย 14 หลัง
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมปฐพี ภาควิชาวิศวกรรทโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ผลงานบ้านต้านแผ่นดินไหว มีจุดเริ่มต้นจากการลงพื้นที่สำรวจความเสียอาคารบ้านเรือนชาวบ้านใน จ.เชียงราย หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงเมื่อวันที่ 5 พ.ค.57 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีบ้านเรือนเสียหายมากกว่าหมื่นหลัง เนื่องจากโครงสร้างบ้านเรือนของชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้การก่อสร้างแบบวิถีชาวบ้านโบราณ ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักวิศกรรมนักทำให้ไม่สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ เผยว่า เหตุที่บ้านเรือนของชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้ก่อสร้างตามแบบวิศวกรรมเป็นเพราะบ้านตามมาตรฐานมีราคาสูง ชาวบ้านซึ่งมีรายได้น้อยถึงปานกลางจึงเอื้อมไม่ถึง โจทย์วิจัยสำหรับการสร้างบ้านต้านแผ่นดินไหวครั้งนี้ จึงต้องมีเรื่องของราคาและงบประมาณการก่อสร้างเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นอกเหนือจากความสามารถในการรับแรงไหวสะเทือนที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก
เมื่อจุดประสงค์หลักคือการสร้างบ้านให้ชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยง รศ.ดร.สุทธิศักดิ์เผยว่า ก้าวแรกของงานวิจัยคือ การเข้าไปศึกษาในพื้นที่เพื่อกำหนดรูปแบบว่าบ้านตามที่อาศัยจริงและชาวบ้านคุ้นเคยเป็นอย่างไร แล้วถอดแบบออกมาทั้งรูปแบบที่เป็นอาคารหลังเดียว, ชนิดของกระเบื้อง, ชนิดของหลังคา ทำให้ราคาของบ้านต้านแผ่นดินไหวรุ่นแรกมีราคาสูงกว่าราคาบ้านของชาวบ้านในพื้นที่เพียงแค่ 5% เท่านั้น ซึ่งเป็นค่าที่เพิ่มมาจากการใช้เสาเสริมเหล็กที่มีความเหนียวและขนาดใหญ่ขึ้น
"รุ่นแรกเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กใช้งานได้ดีทีเดียว ราคาก็ถูก ขั้นต่อไปเราเลยมีแนวคิดที่จะผลิตบ้านสำเร็จที่ทำจากโมเดลเหล็กประกอบแบบเกือบสำเร็จรูปไปเลย เพราะชาวบ้านมีพื้นที่จำกัด สร้างบ้านได้ไม่ใหญ่โตมากอยู่แล้วฉะนั้นเสาเข็มใหญ่จึงไม่จำเป็น แล้วจะดีแค่ไหนถ้าเขาประกอบบ้านเสร็จได้ภายใน 4-5 ชั่วโมง เราจึงออกแบบบ้านน็อกดาวน์แบบใช้เหล็กพิเศษที่มีความบางและความเหนียว เกิดเป็นบ้านต้านแผ่นดินไหวรุ่นที่ 2 สนนราคาหลังละประมาณ 1 แสนบาท"
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ อธิบายว่า เหล็กชนิดพิเศษที่นำมาใช้เรียกว่า "คอยน์สตีล" เป็นเหล็กลักษณะเดียวกันกับลานนาฬิกาซึ่งมีความแข็งแรง, ความเหนียวและเบากว่าเหล็กปกติหลายเท่า มีความเค้นสูงทำให้รองรับแผ่นดินไหวได้ถึงระดับ 7 และมีราคาไม่แพงมากเพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในท้องตลาด ซึ่งคุณสมบัติเรื่องน้ำหนักเบายังทำให้การติดตั้งทำได้อย่างง่ายดายด้วยช่างชุมชนหรือแม้แต่ตัวชาวบ้านเอง
สำหรับการนำไปใช้งาน รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ เผยแก่ทีมข่าวว่า ขณะนี้มีการนำไปใช้จริงแล้วหลายพื้นที่ทั้งในส่วนของ อ.แม่สวย, อ.แม่ลาว และ อ.พาน จ.เชียงราย ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวจำนวน 14 หลัง และต่างประเทศ อย่างอินโดนีเซียที่ประสบกับภัยพิบัติอีกหลายหลัง เพราะโครงสร้างของบ้านมีน้ำหนักเบาสามารถประกอบเข้าบรรจุภัณฑ์แบบกะทัดรัดเพื่อขนส่งทางอากาศยานไปยังพื้นที่ได้โดยตรง
สำหรับโครงการในอนาคต รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ เผยว่า จะทำการวิจัยเกี่ยวกับฝ้าเพดานและผนังบ้านที่ให้ผลด้านอุณหภูมิอยู่สบายและมีน้ำหนักเบาเพิ่ม เพราะปัจจุบันยังใช้อุปกรณ์ที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไปในการตกแต่งภายใน และจะพัฒนาให้บ้านอยู่สบายและดูทันสมัยยิ่งขึ้น เพราะนอกจากการสร้างบ้านต้านแผ่นดินไหวสำหรับผู้ประสบภัยแล้ว ตัวเขาเองยังมีบริษัทรับทำบ้านในลักษณะเดียวกันสำหรับคนทั่วไปในเชิงพาณิชย์อีกด้วย
"การจะออกแบบว่าบ้านต้องรับแรงแผ่นดินไหวได้เท่าไหร่ เราไม่ได้ทำแบบสุ่มสี่สุ่มห้า เราต้องศึกษาว่าแผ่นดินไหวสูงสุดในพื้นที่เกิดได้เท่าไหร่ ถ้าเกิดได้แค่ 7 แต่สร้างรับถึง 9 ก็ไม่มีประโยชน์ เปลืองเปล่าๆ เพราะราคาของบ้านปรับขึ้นลดตามขนาดแผ่นดินไหว อย่างที่เชียงรายเกิดได้แค่ 7 เราก็สร้างแค่ 7 แต่หลักๆ คือเน้นความปลอดภัยและความเบา และที่เด่นอีกอย่างคือติดตั้งง่ายอย่างช้า 1 วัน อย่างเร็ว 4 ชั่วโมงเพราะเราไม่เจาะเสาเข็ม เราใช้การขุดฐานรากแผ่แล้วเทปูนโดยรอบ จนถึงตอนนี้ผมคิดว่ามันประสบความสำเร็จแล้วแต่ก็จะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ จนดีที่สุด"รศ.ดร.สุทธิศักดิ์กล่าว