ยังคงมีสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกถูกค้นพบและตีพิมพ์ในวารสารสัตววิทยาระดับนานาชาติอยู่เรื่อยๆ สำหรับพื้นที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา ในครั้งนี้นักธรรมชาติวิทยา อพวช. ได้ค้นพบแมลงยอดนักล่าชนิดใหม่สีสันสดใสชื่อว่า “จิ้งหรีดต้นไม้สะแกราช”
ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง หัวหน้ากองวิชาการ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. มีหน้าที่ในการดูแลความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ในประเทศไทยรวมถึงพื้นที่บางส่วนของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อติดตามสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ตลอดจนเฝ้าระวังการสูญพันธุ์และรายงานการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆ ซึ่งตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน ทีมวิจัย อพวช.ได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกมาแล้วกว่า 80 ชนิด
ดร.วียะวัฒน์ เผยว่า นักวิจัย อพวช.จะออกสำรวจพื้นที่ธรรมชาติเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งในช่วง ต.ค.ที่ผ่านมา อพวช.ก็ได้ส่งนักวิจัยลงพื้นที่สำรวจธรรมชาติในหลายๆ พื้นที่เหมือนเช่นเคย แต่ในพื้นที่ศึกษาที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา ทีมวิจัย อพวช.โดยนายภัทรวิชญ์ ดาวเรือง นักวิชาการธรรมชาติวิทยา และนายทักษิณ อาชวาคม ผู้อำนวยการ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ได้ค้นพบกับจิ้งหรีดชนิดใหม่ จึงนำกลับมาศึกษาและตั้งชื่อ พร้อมตีพิมพ์การค้นพบลงในวารสาร Zootaxa ฉบับที่ 4021 หน้าที่ 565-577 ปี 2558
จิ้งหรีดชนิดใหม่ของโลกตัวนี้ มีชื่อว่า “จิ้งหรีดต้นไม้สะแกราช” หรือในชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แคปโนกริลแลคริส สะแกราช (Capnogryllacris sakaerat Dawwrueng, Gorochov et Artchawakom, 2015) โดยชื่อหลังว่า “สะแกราช” (sakaerat) ได้ตั้งให้เป็นเกียรติว่าพบครั้งแรกที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช
ดร.วียะวัฒน์ อธิบายว่า จิ้งหรีดต้นไม้สะแกราช เป็นจิ้งหรีดต้นไม้ขนาดกลาง มีขนาดความยาวลำตัวประมาณ 2-3 ซม. มีสีสันสดใส สีพื้นฐานที่เห็นชัดเจนคือสีชมพู ตัดกับลายสีดำ ปีกมีขนาดสั้น มีลายจางๆ บนปีกคู่หน้า ปลายท้องตัวผู้มีหนามหนึ่งคู่ เอียงเข้าหากันที่ส่วนปลายแต่ไม่ทับซ้อนกัน
มีพฤติกรรมกลางวันหลบนอนด้วยการห่อใบไม้ตามพื้นป่าหรือไม้พุ่มขนาดเล็กสร้างเป็นรังนอน และทอติดกันด้วยเส้นใยเหนียวที่ถักออกจากปากและปุ่มที่ขา และจะออกหากินในเวลากลางคืนเท่านั้น และ เป็นแมลงที่สายตาดีเพราะมีตาเดี่ยว (จุด 3 จุดบริเวณหน้าผาก) ขนาดใหญ่
ดร.วียะวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จิ้งหรีดต้นไม้เป็นแมลงนักล่าที่มีขนาดตั้งแต่เล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ มันจะกินจิ้งหรีดด้วยกันเองและเป็นนักล่าที่เยี่ยมยอดมาก สังเกตได้จากหนามที่ยื่นยาวออกมาจากขาเพื่อไว้ใช้สำหรับการล๊อคเหยื่อซึ่งแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่ามันเป็นแมลงที่ปรับตัวมาสำหรับเป็นผู้ล่าโดยเฉพาะ และด้วยสีสันของลำตัวอันสดใสก็เป็นการบอกกับเหยื่อหรือศัตรูเป็นนัยว่าตัวมันเป็นแมลงที่อันตราย คล้ายคลึงกับต่อที่มีสีสด หรืองูทะเลที่มีสีสันสดใส
“จิ้งหรีดชนิดนี้ตอนนี้เราพบแค่ 2 ตัว หาค่อนข้างยากเพราะมันจะอยู่ตามป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์เท่านั้นซึ่งสะแกราชยังมีอยู่ ซึ่งความหายากทำให้องค์ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของจิ้งหรีดไม่เป็นที่รู้จักและคนก็ศึกษากันน้อยมาก เราจึงพยายามศึกษามันเพื่อที่นำองค์ความรู้ไปต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์และหาแนวทางอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพต่อไป” หัวหน้ากองวิชาการกล่าว