xs
xsm
sm
md
lg

"ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่” ตั๊กแตนสกุลใหม่ของโลกพบที่แพร่แห่งเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่ มีขนาดลำตัวค่อนข้างใหญ่ พบเฉพาะที่ ม.แม่โจ้ จ.แพร่ (ภาพโดย ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง)
รู้จัก “ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่” ตั๊กแตนไซส์ยักษ์สกุลใหม่ของโลก ผลงานการค้นพบของนักวิจัย อพวช. ผู้เชี่ยวชาญชี้มีชนิดเดียวในสกุล หวั่นสูญพันธุ์ง่ายเพราะพบแห่งเดียวในโลก ที่ป่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.แพร่ ชูเป็นแมลงชี้วัดป่าสมบูรณ์

ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง หัวหน้ากองวิชาการธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า เมื่อช่วงเดือน ส.ค. ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตแพร่เฉลิมพระเกียรติ จ.แพร่ และ อพวช. ได้ดำเนินโครงการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าเต็งรังเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ ภายในมหาวิทยาลัยโดยมี ดร.แหลมไทย อาสานอก เป็นหัวหน้าโครงการในการเข้าร่วมสำรวจและเก็บตัวอย่างสัตว์กลุ่มต่างๆ ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม, นก และแมลง

ดร.วียะวัฒน์ กล่าวว่า ในการสำรวจความหลากหลายของแมลง ในพื้นที่ดังกล่าวพบแมลงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแมลงในอันดับออทอปเทอรา (Order Orthoptera) ที่เป็นกลุ่มตั๊กแตนและจิ้งหรีดโดยพบมากถึง 27 ชนิด 27 สกุล ซึ่งหนึ่งในนั้นมีตั๊กแตนหนวดสั้นขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง มีรูปสัณฐานที่แปลกไปจากแมลงในวงศ์เดียวกัน นายภัทรวิชญ์ ดาวเรือง อาสาสมัครประจำกองวิชาการธรรมชาติวิทยา ผู้ค้นพบ พร้อมด้วย ดร.ยู สโตโรเชโก ผู้เชี่ยวชาญตั๊กแตนจากประเทศรัสเซีย จึงนำกลับมาตรวจสอบและพบว่าเป็นแมลงสกุลใหม่ของโลก

หลังจากนั้นจึงร่วมมือกับ ดร.แหลมไทย อาสานอก อาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดำเนินการตั้งชื่อและจัดทำรายงานการค้นพบตั๊กแตนสกุลใหม่จากประเทศไทยนี้ และได้รับการตีพิมพ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วในวารสาร Far Eastern Entomologist ฉบับที่ 299 หน้า 1-10 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2558 โดยให้ชื่อตั๊กแตนสกุลใหม่ว่า “ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อะนาเซดูเลีย แม่โจ้แพร่ (Anasedulia maejophrae Dawwrueng, Storozhenko et Asnok, 2015)” และทำการเซ็ทรักษาตัวอย่างทั้งสิ้น 7 ตัวแบ่งออกเป็นเพศผู้ 4 ตัว เพศเมีย 3 ตัวเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์อ้างอิง ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช.

ดร.วียะวัฒน์ เผยว่า ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่เป็นตั๊กแตนขนาดใหญ่ มีความยาวลำตัวประมาณ 4-5 ซม. ตัวสีน้ำตาล ปีกสั้นมาก บริเวณกลางปีกมีจุดสีดำ มีแถบสีขาวพาดจากหัวตำแหน่งเหนือตารวมมาทางด้านข้างของอกไปจนถึงบริเวณโคนขาคู่หลัง ขาคู่หลังสีดำสลับน้ำตาล เมื่อจับตัวผู้และตัวเมียมาเปรียบเทียบกันตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่า ส่วนตัวผู้จะมีลักษณะที่โดดเด่นตรงที่บริเวณแผ่นปิดอวัยวะสืบพันธุ์จะยื่นยาวออกมามากกว่าตั๊กแตนสายพันธุ์อื่นๆ อย่างชัดเจน

ส่วนอาหาร ดร.วียะวัฒน์ ระบุว่า ตั๊กแตนชนิดนี้จะกินใบไม้ของต้นห้อสะพายควาย, ฝรั่ง, ต้นกระทุ่มน้ำและใบไม้ยอดอ่อนของวัชพืชในป่านั้นๆ เป็นอาหารเพื่อช่วยลดการแก่งแย่งพื้นที่ของต้นไม้ ในแง่ของธรรมชาติตั๊กแตนแม่โจ้แพร่จึงเป็นทั้งผู้พิทักษ์ระบบนิเวศ และเป็นผู้ถูกล่าเพราะพวกมันเป็นอาหารอันโอชะของนกและกบด้วย

“นอกจากตั๊กแตนตัวนี้จะเป็นสกุลใหม่ของโลกที่ในสกุลมีเพียงชนิดเดียวแล้ว มันยังมีความสำคัญตรงที่เป็นแมลงเฉพาะถิ่นของไทย โดยจะพบได้เฉพาะในป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์ที่ถูกล้อมรอบด้วยพื้นที่เกษตร และพบได้เฉพาะในมหาวิทยาลัยแม่โจ้แพร่เฉลิมพระเกียรติเพียงแห่งเดียวไม่พบที่อื่นใดในโลก ซึ่งพิเศษมากเพราะพื้นที่กว่า 100 ไร่ เราสำรวจพบแค่ในบริเวณ 1 ไร่ด้วยจำนวนประชากรประมาณ 300 ตัวเท่านั้น เสี่ยงมากต่อการสูญพันธุ์หากไม่ดูแลป่าให้ดี ตั๊กแตนสกุลนี้จึงเปรียบเหมือนตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของป่า และเป็นช่วยยืนยันว่าการอนุรักษ์ป่าไม้เป็นการช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของโลกด้วย” ดร.วียะวัฒน์กล่าว
ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่แบบตัวเป็นๆ ถูกนำมาจัดแสดงที่งานมหกรมวิทยาศาสตร์ เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา
ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่แบบตัวเป็นๆ ถูกนำมาจัดแสดงที่งานมหกรมวิทยาศาสตร์ เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา
ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่แบบตัวเป็นๆ ถูกนำมาจัดแสดงที่งานมหกรมวิทยาศาสตร์ เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา









กำลังโหลดความคิดเห็น