ศูนย์วิจัยสะแกราชเปิดบัญชีทรัพยากรชีวภาพชนิดใหม่ของโลก 41 ชนิด ย้ำความเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลความหลากหลายทางชีวภาพสูงแห่งแรกในไทย บ่งถึงความสมบูรณ์ และเป็นบันไดสู่การหาอาหารชนิดให่ของมนุษย์โลก เพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มมากขึ้น
นายทักษิณ อาชวคม ผู้อำนวยการสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) แถลงข่าวเปิดตัวทรัพยากรชีวภาพชนิดใหม่ของโลกที่ถูกค้นพบและจดบันทึกใหม่โดยนักวิจัยภายในพื้นที่สถานีวิจัยสะแกราช รวมทั้งสิ้น 41 รายการ พร้อมระบุว่า การค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ในพื้นที่ป่า เป็นสิ่งบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าและทรัพยากรที่หลากหลาย
นายทักษิณระบุว่า ปัจจุบันมีการศึกษาเชิงลึกมากขึ้น นักวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศจึงค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่อยู่เสมอ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาทางชีววิทยาทั้งในเชิงนิเวศวิทยา อนุกรมวิธาน นอกจากนี้ยังเป็นบันไดที่นำไปสู่การหาอาหารชนิดใหม่ของมนุษย์โลก เพื่อรองรับกับประชากรที่มากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับวงการอาหารในอนาคต
"สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชได้รับการยอมรับจากยูเนสโก ภายใต้โปรแกรมมนุษย์และชีวมณฑล (Man and Biosphere : MAB) ให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere reserve) แห่งหนึ่งของโลก ซึ่งขณะนี้ยังได้รับการยกย่องให้เป็นสถานีวิจัยของโลกที่มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ดีเยี่ยมติด 1 ใน 25 อันดับและเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก จึงไม่แปลกที่พื้นที่สะแกราชจะมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆ อยู่เสมอ" ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสะแกราชเผย
สำหรับทรัพยากรชีวภาพชนิดใหม่ที่ค้นพบโดยนักวิจัยในสะแกราช มีทั้งสิ้น 41 ชนิด ได้แก่ กบปากใหญ่โคราช, ยีสต์ชนิดใหม่, เชื้อราบนผลไม้, เชื้อราจากดิน, อะซิติดแอซิดแบคทีเรียม, เพลี้ยอ่อน, ตั๊กแตนเขาสูง, ตั๊กแตนทีเนีย, ตั๊กแตนบิโลบัส, ตั๊กแตนปักธงชัย, ตั๊กแตนมัลติเดนติคูลาตัส, ตั๊กแตนสะแกราช, มวนmoteus, มวนพิอุส pius, มวนสยามเอนซิส siamensis, มวนเครเนียน kranion, มวน lancialium, มวน alastini, มวน barbiger, มวน gigiraffoides, มวน maculatus, มวน pleiku, มวน portentosus, มวนเสาวพฤกษ์, มวนดาวตก, มวน suparallelus, มวน castaneus, มวนสะแกราช, มวนภูวษา, มวนสีดำขนาดเล็ก, มวน schuianus, งูดินโคราช, ตุ๊กแกบินลายสามแถบ, ตุ๊กแกป่าดงพญาเย็น, ตั๊กแตนเขาสูง, ตั๊กแตน tinae, แมงช้างนภีตะภัฎ, ไรนภีตะภัฎ, ชิงช้าสะแกราช, ราชนิดใหม่ของโลกบนซากผลยางปาย และจิ้งเหลนปักธงชัยซึ่งหนึ่งเดียวที่เป็นสกุลใหม่ของโลก
ทั้งนี้ ผอ.สถานีวิจัยสะแกราชยังระบุด้วยว่า "กบปากใหญ่โคราช" เป็นทรัพยากรชีวภาพชนิดใหม่ ที่มีศักยภาพต่อการนำมาเป็นอาหารของมนุษย์มากที่สุด เพราะ กบปากใหญ่โคราชมีขนาดตัวใหญ่เท่ากบเลี้ยงหรืออาจใหญ่กว่า มีเนื้อเยอะ รสชาติดี หากนำมาเลี้ยงก็เลี้ยงได้ง่ายเพราะกินอาหารหลากหลายได้แทบทุกชนิด แต่ก็ยังไม่สามารถนำมาทดลองเลี้ยงได้ เพราะทรัพยากรชีวภาพในสะแกราชทุกชนิดมีข้อบังคับทางกฎหมายควบคุมอยู่
"ส่วนมวนที่พบมากในพื้นที่มีขนาดลำตัวค่อนข้างเล็ก ไม่เหมาะสำหรับเป็นอาหาร แต่เหมาะสำหรับวิจัยต่อเพื่อศึกษาการควบคุมแมลงศัตูพืชทางชีววิธี (bio control) นอกจากนี้ราและยีสต์ที่พบยังอาจพัฒนาไปเป็นสารย่อยสลายในอุตสาหกรรมเพื่อกำจัดขยะได้" นายทักษิณกล่าว