ขึ้นชื่อว่าอยู่ในเชตชลประทานน่าจะไม่มีปัญหาขาดน้ำ แต่ชุมชน “บ้านทับคริสต์” ใน จ.สุราษฎร์ธานี ได้ประสบความจริงด้วยตัวเองว่า แม้มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการในการอุปโภค-บริโภคและการเกษตร หากไม่รู้จักบริหารจัดการน้ำและปันน้ำอย่างเป็นระบบ
นายสมฤกษ์ ฉัตรบรรยงก์ กรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชน บ้านทับคริสต์ ต.คลองชะอุ่น อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี เล่าปัญหาชุมชนบ้านทับคริสต์ในอดีตว่า ชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ มีเพียงลำห้วยเล็กๆ เมื่อถึงหน้าแล้งน้ำก็แห้ง จึงได้ถวายฎีฏาของพระราชทานอ่างเก็บน้ำและได้รับพระราชทานอ่างเก็บน้ำคลองบางทรายนวลตามพระราชดำริ ความจุ 2.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2527 แต่ในช่วงแรกที่เริ่มปล่อยน้ำปรากฏว่าทุกครัวเรือนใช้น้ำอย่างเต็มที่จนน้ำหมดตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มปล่อยน้ำ จนเกิดการทะเลาะเบาะแว้งเพื่อแย่งน้ำใช้
“เราจะขอพระราชทานอ่างเก็บน้ำอีกก็ไม่ไหว กลุ่มคณะกรรมการจัดการน้ำชุมชนจึงต้องหารือกันและตกลงกับชาวบ้านว่าเราจะปล่อยน้ำเป็นช่วงๆ โดยจะปล่อยน้ำครั้งเดียวตั้งแต่วันอังคารถึงวันศุกร์ ในช่วงหน้าแล้งระหว่างเดือน ก.พ.-เม.ย. เท่านั้น หรือบางปีที่แล้งจัดก็อาจปล่อยถึงเดือน พ.ค. และปล่อยน้ำให้ปลายน้ำก่อน ไม่เช่นนั้นต้นน้ำจะใช้น้ำหมดไม่เหลือให้ปลายน้ำ และแต่ละครัวเรือนต้องมีสระของตัวเองเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ เมื่อถึงหน้าฝนอ่างเก็บน้ำจะรองรับน้ำฝนอย่างเดียวไม่ปล่อยออกมา” นายสมฤกษ์อธิบาย
นอกจากการเก็บน้ำสำรองจากอ่างเก็บน้ำแล้ว นายสมฤกษ์กล่าวว่า ชาวบ้านในชุมชนก็เปลี่ยนแนวทางการทำเกษตรด้วย จากเดิมที่ปลูกเฉพาะพืชเชิงเดี่ยว ก็เปลี่ยนไปเป็นเกษตรผสมผสาน หันมาปลูกไม้ดอกไม้ประดับซึ่งใช้น้ำน้อย ร่วมกับไม้ผล ยางพาราและปาล์มน้ำมัน รวมทั้งช่วยกันรักษาป่าต้นน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำที่มีพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ เพื่อป้องกันดินตะกอนสะสมในอ่างเก็บน้ำจนตื้นเขิน
ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำพระราชทานสามารถกระจายน้ำสู่พื้นที่เกษตร 3,600 ไร่ ครอบคลุมเกือบ 300 ครัวเรือน และสระน้ำของแต่ละครัวเรือนที่เชื่อมต่อกับชลประทานเป็น “ระบบสระพวง” กว่า 160 สระสามารถสำรองน้ำจากชลประทานไว้ได้ 230,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่ง นายปกิต ทนุผล ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชน เผยแนวคิดในการพัฒนาสระพวงว่า เริ่มจากเห็นคนในชุมชนทำฝายตามริมห้วยเพื่อสร้างแหล่งน้ำไว้ใช้ยามแล้ง จึงเรียนรู้ว่าแต่ละครัวเรือนต้องขุดสระไว้ใช้เอง
นอกจากนี้การบริหารจัดการน้ำยังต้องอาศัยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาช่วย โดยนายปกิตเผยว่าเมื่อก่อนไม่เคยทราบว่าบ้านใครอยู่ตรงไหน มีสระน้ำจำนวนเท่าไร ขนาดเท่าไร จนกระทั่งได้ร่วมมือกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) นำไปสู่การบริหารจัดการที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนเรื่องการปรับเปลี่ยนด้านการเกษตรนั้น ส่วนหนึ่งเพราะแต่ละครัวเรือนได้รับการจัดสรรที่ดินไม่มาก เพียงครัวเรือนละ 25 ไร่ จึงไม่คุ้มกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และเมื่อหันมาทำเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริทำให้แต่ละครัวเรือนมีรายได้ขั้นต่ำปีละเกือบ 600,000 บาท
ด้าน นางกฤษณา อาจณรงค์ ชาวชุมชนบ้านทับคริสต์และสมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ เป็นอีกครัวเรือนที่ลงทุนขุดสระสำรองน้ำจากชลประทานไว้ใช้เองมานาน 28 ปี ทำให้มีน้ำพอปลูกปาล์มที่ต้องการน้ำเสมอ อีกทั้งยังปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล และไม้ดอกไม้ประดับส่งขายไปภูเก็ต จนมีรายได้เฉพาะไม้ดอกไม้ประดับปีละ 80,000 บาท ซึ่งแนวทางทำเกษตรดังกล่าวนอกจากสร้างรายได้แล้วยังทำให้ปลอดหนี้มากว่า 10 ปีด้วย
ความสำเร็จของชุมชนบ้านทับคริสต์จนเป็นตัวอย่างให้แก่ชุมชนอื่นได้นี้ มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์จึงได้เปิดให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านทับคริสต์ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ความสำเร็จของชุมชนที่น้อมนำแนวพระราชดำริ กรอบคิดเรื่องการช่วยกันจัดระบบการใช้น้ำ และกรอบงานในการเก็บข้อมูล เรียนรู้ ทดลองจากประสบการณ์ วิเคราะห์พื้นที่และสรุปปัญหาที่แท้จริง มาพัฒนาการจัดการน้ำชุมชนจนประสบความสำเร็จ
ด้าน ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ กล่าวว่าการเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติไม่ต้องมีตึกแต่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใช้ธรรมชาติจริง หากเครือข่ายที่ไหนพร้อมก็จะตั้งเป็นตัวอย่างแก่ชุมชนอื่นๆ ที่มีปัญหาคล้ายๆ กัน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าเครือข่ายของมูลนิธิไม่มีปัญหาเรื่องภัยแล้ง หรือเมื่อถึงหน้าแล้งก็สามารถเอาตัวรอดจากปัญหาได้
“มีอ่างอย่างเดียวไม่พอ ชุมชนต้องรู้จักบริหารจัดการน้ำ ไม่ใช้อย่างเดียว ต่อให้มีอ่างเก็บน้ำแต่ไม่บริหารจัดการ น้ำก็ไม่พอใช้ จริงๆ แหล่งน้ำไม่มีปัญหา ระบบจัดการต่างหากที่มีปัญหา การจัดการต้องอาศัยคนและข้อมูล ระบบชลประทานนี่เป็นระบบน้ำขนาดเล็ก โดยส่วนตัวแล้วไม่สนับสนุนแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ เราต้องดูระบบน้ำทั้งระบบ เรามีอ่างเก็บน้ำเป็นร้อยเป็นพันอ่าง แต่ไม่รักษาป่าต้นน้ำ ตะกอนดินก็ถูกชะลงทำอ่างตื้นเขิน ที่ผ่านมาคนไม่เข้าใจ แต่เราก็ไม่มีเวลามากพอที่จะไปทั่วไทย ที่ทำได้คือทำให้เป็นตัวอย่าง” ดร.รอยบุญกล่าว
ส่วน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ กล่าวถึงชุมชนบ้านทับคริสต์ว่าอยากให้เป็นตัวอย่างแก่ชุมชนอื่นๆ ซึ่งมีอ่างเก็บน้ำไว้เหมือนเป็นธนาคารน้ำและจะเบิกมาใช้ก็ต่อเมื่อถึงหน้าแล้งเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วน้ำไม่มีแล้ง แต่หากไม่ขุดสระเก็บน้ำไว้ น้ำก็ไหลผ่านไป และนอกจากชุมชนบ้านทับคริสต์แล้วก็ยังมีชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศที่เป็นตัวอย่างในการจัดการน้ำและเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติแล้ว ส่วนไหนดีก็อยากให้เผยแพร่ยังไปส่วนอื่นๆ อยากให้ช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือ