xs
xsm
sm
md
lg

“จีเอ็มโอ” พันธุกรรมสั่งได้บนเส้นทางเห็นต่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยฝ่ายไม่สนับสนุนเห็นตรงกันว่า เกษตรอินทรีย์ คือทางออกที่ดีที่สุดของไทย  ไม่ใช่  จีเอ็มโอ
“จีเอ็มโอ” มีกระแสขึ้นมาอีกครั้งหลังจากร่างกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมถูกถอนออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการสภาปฏิรูป จนเกิดเสียงตัดพ้อของผู้ที่เห็นประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ ขณะเดียวกันฝ่ายคัดค้านมองว่าการเบรกกฎหมายเกี่ยวกับจีเอ็มโอเป็นความหวังในการป้องกันปัญหาที่จะตามมา ทีมข่าว “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” มีมุมความเห็นทั้งสองด้านว่า ทำไมผู้สนับสนุนจึงอยากให้กฎหมายนี้ผ่าน แล้วเหตุใดฝ่ายคัดค้านจึงไม่เห็นด้วย

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 ก.ค.58 คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยว และการบริการ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ขอถอน "ร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ...” ซึ่ง น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้อธิบายผ่านช่องทางเฟซบุ๊กถึงเหตุผลที่คณะกรรมการได้ถอนกฎหมายดังกล่าวไว้ 2 เหตุผล

“ไม่ผ่านด้วยกฎหมาย”
เหตุผลแรกเป็นเรื่องของกระบวนการทางการกฎหมายในการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งในการรานงานวาระปฏิรูปรอบแรกไม่มีประเด็นจีเอ็มโอแต่ได้ปรากฏในวาระสอง และในเอกสารนำส่งถึงประธาน สปช.เพื่อเข้าสู่วาระพิจารณานั้นไม่ระบุว่าจะมีร่าง พรบ.ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณา จนเกิดการอภิปรายทักท้วงและขอให้มีการชี้แจง

อีกเหตุผลคือจุดอ่อนของ พรบ.ในมาตรา 52 ที่ระบุว่า “ผู้ประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมไม่ต้องรับผิดในกรณี ที่การปลดปล่อยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมสู่สิ่งแวดล้อมและก่อความเสียหาย ต่อสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์ หรือเกิดความเสียหายแก่ความหลากหลายทางชีวภาพ ถ้าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย หรือเกิดจากการกระทำของผู้เสียหายเอง” นั้นไม่สอดคล้องหลักสากลในพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทาง ชีวภาพ และพิธีสารเสริมนาโงย่า-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ความเสียหาย

แม้ในแง่กฎหมายจะได้รับการชี้แจงไปแล้ว แต่ในแง่เทคโนโลยียังมีความเห็นต่างอย่างชัดเจน โดยในมุมของ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ผู้เชี่ยวชาญการบังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตรทรัพยากรชีวภาพ เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า จากการติดตามสถานการณ์จีเอ็มโอมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติเขียวจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 20 ปี ทำให้เขาเห็นความน่ากลัวของจีเอ็มโอว่าเป็นมากกว่าเหตุผลทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เพราะจีเอ็มโอคาบเกี่ยวถึงความมั่นคงทางอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ และบริษัทข้ามชาติที่กำลังพยายามเข้ามาแทรกแซงธุรกิจการเกษตรอันเป็นถุงเงิน ถุงทองของประเทศไทย พ.ร.บ.ปลดปล่อยจีเอ็มโอที่ถูกระงับอยู่จึงเป็นทั้งความหวังและแนวกันชนสำคัญ ที่จะป้องกันจีเอ็มโอและปัญหาที่จะตามมา

"ถ้าหาก พ.ร.บ.ถูกชงเข้าสู่สภาอีกครั้ง จะทำให้สิ่งที่วิตกที่สุดเกิดขึ้นเพราะเนื้อหาภายในร่าง พ.ร.บ. ที่ถูกเขียนขึ้นโดยคณะกรรมการชุดใหม่ซึ่งล้วนเป็นฝ่ายสนับสนุนจีเอ็มโอ ได้เปิดช่องโหว่ให้กับให้กับบริษัทผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติไว้หลายกรณี ทั้งในส่วนที่ระบุไว้ว่าหากมีการปนเปื้อนของพันธุ์จีเอ็มโอในธรรมชาติบริษัทจะไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งเหมือนกับการเขียนกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตัวเองก่อนหน้า เพราะเหตุการณ์เหล่านี้เคยเกิดขึ้นแล้วที่สหรัฐฯ จนเกิดการฟ้องร้องกันระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่และเกษตรกรนับร้อยนับพันกรณี เช่น ข้าวพันธุ์ลิเบอร์ตีลิงก์ (LibertyLink) ที่เป็นข้าวจีเอ็มโอหลุดออกไปปนเปื้อนกับข้าวในธรรมชาติ ทำให้พันธุกรรมของข้าวธรรมชาติเกิดความเสียหาย" วิฑูรย์กล่าว
ข้าวหอมนิล ข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ปรับปรุงพันธุ์ด้วยการผสมยกระดับจากธรรมชาติ
“ต้านเพราะหวั่นเกษตรกรถูกริดรอน”
สิ่งที่น่ากังวลมากไปกว่านั้นวิฑูรย์ระบุว่าคือการถูกริดรอนสิทธิของเกษตรกรที่อาจเกิดขึ้น หากมีการใช้เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอที่จดสิทธิบัตรครอบคลุมผลผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของตัวเองได้ หรือถ้าขายก็จะตกเป็นสิทธิบัตรของบริษัททั้งหมด เช่น ปลูกข้าวโพดด้วยเมล็ดที่ซื้อมาจากบริษัท M แต่เมื่อเก็บผลผลิตทั้งฝักแก่ ข้าวโพดอ่อน หรือแม้ข้าวโพดคั่วจะถูกจดเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท M ด้วย ซึ่งถ้าหากฝ่าฝืนและมีการตรวจพบจะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินหลักล้านบาท

“ตัวจีเอ็มโอแท้ๆ ผมว่าไม่น่ากลัวเท่าการคุกคามระหว่างประเทศด้วยการใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม เพราะการจะทำจีเอ็มโอต้องใช้ทั้งเม็ดเงินมหาศาล และเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งทั้งหมดถูกจดสิทธิบัตรภายใต้บริษัทยักษ์ใหญ่ของ สหรัฐฯ หมดแล้ว และขณะนี้ฝ้าย ถั่วเหลือง ข้าวโพด กว่า 90% ในสหรัฐฯ ก็ถูกผูกขาดด้วยบริษัทที่ถือสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์เกือบทั้งหมด และถ้าไทยยังดึงดันที่จะเอาจีเอ็มโอเข้ามา อีกหน่อยความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ที่ถือว่าเป็นอีกแหล่งที่มีความหลากหลายอุดมสมบูรณ์ที่สุดของโลก ก็จะต้องขึ้นกับบริษัทข้ามชาติเพียงบริษัทเดียว ซึ่งนั่นหมายถึงความมั่นคงทางอาหารของคนทั้งชาติจะต้องขึ้นอยู่กับสหรัฐฯ วันดีคืนดีหากเรามีเรื่องกัน มีประเด็นให้ถูกบีบคั้น บริษัทขายเมล็ดพันธุ์ไม่ขายเมล็ดพันธุ์ให้ก็เท่ากับเราต้องรอความอดอยาก” วิฑูรย์กล่าว

นอกจากนี้นายวิทูรย์ยังเผยด้วยว่า ผู้สนับสนุนจีเอ็มโอบางกลุ่มโฆษณาว่า จีเอ็มโอทำให้การใช้สารเคมีลดลง ไม่ต้องฉีดยาฆ่าแมลง แต่ข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้กลับพบว่า ในสหรัฐฯ มีแนวโน้มการใช้สารเคมีมากขึ้น เพราะแมลงและพืชตามธรรมชาติย่อมมีกลไกการเอาตัวรอดทำให้เกิดการดื้อยา ในขณะที่ฝรั่งเศสซึ่งไม่ยอมรับจีเอ็มโอ แต่มีวิธีการจัดการเกษตรกรรมที่ดี กลับทำผลผลิตได้ผลผลิตมากกว่าและใช้สารเคมีน้อย ดังนั้นเขามองว่าคำอ้างที่ว่า “จีเอ็มโอจะทำให้มีการใช้สารเคมีลดลง” จึงไม่น่าจะใช่ความจริง และที่ย้อนแย้งไปกว่านั้นยังมีรายงานการใช้สารเคมีของสหรัฐฯ ที่ระบุว่ามีการใช้สารเคมีมากยิ่งขึ้นด้วย

“หนุนเพราะเป็นเทรนด์เทคโนโลยีโลก”
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชมากว่า 30 ปีอย่าง ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาปรับปรุงพันธุ์พืช ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้เผยอีกมุมหนึ่งของจีเอ็มโอแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เหตุผลที่ประเทศไทยควรเดินหน้าจีเอ็มโอ มีเนื้อหาใจความหลักอยู่ 3 ประการ ประการแรก คือ จีเอ็มโอเป็นเทคโนโลยีที่มีคุณประโยชน์ต่อวงการเกษตรกรรม ประเทศเกษตรกรรมอย่างไทยจึงไม่ควรนิ่งเฉยกับเทคโนโลยีใหม่ที่จะทำให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์

"อีกทั้งจีเอ็มโอก็เป็นเทคโนโลยีที่มีการทำ บุกเบิกมานานกว่า 20 ปี และตัวอย่างเช่น มะละกอจีเอ็มโอก็มีการบริโภคแล้วทั่วไปโดยที่ไม่มีผลเสียอะไรต่อสุขภาพ เป็นแนวโน้มของโลกที่เราต้องตามให้ทันหากอยากจะเป็นครัวของโลกตามที่นโยบายของ หลายๆ รัฐบาลได้ชูธงไว้" ศ.ดร.พีระศักดิ์กล่าว
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (Biothai) ผู้เชี่ยวชาญการบังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตรทรัพยากรชีวภาพ
ประเด็นที่สอง ศ.ดร.พีระศักดิ์ระบุว่าจีเอ็มโอจะช่วยให้พืชมีคุณสมบัติที่ดี ตรงตามความต้องการ เพราะจีเอ็มโอคือการดัดแปลงพันธุกรรมพืชให้มียีนที่พึงประสงค์ หรือตัดยีนที่ไม่พึงประสงค์ออกไป เช่น การดัดแปลงพืชต้านทานยาปราบศัตรูพืช ที่เกิดจากการตัดต่อยีนของแบคทีเรียที่มีการศึกษาแล้วว่ามีความทนทานต่อเคมี ไปใส่ ทำให้พืชต้นนั้นมีความสามารถในการต้านทานยาปราบศัตรูพืชได้เองซึ่งมีผลต่อ ปริมาณการใช้ยาหรือสารเคมีที่จะลดลงเรื่อยๆ ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนการผลิต

"ประเด็นที่สามคือ จีเอ็มโอมีความปลอดภัย เพราะจากการศึกษาและอยู่ในแวดวงมานาน เห็นการซื้อขายการบริโภคในต่างประเทศมาตลอดทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่าจีเอ็มโอ ปลอดภัย อีกทั้งขณะนี้ยังค่อยๆ เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้นอย่างถั่วเหลือง ฝ้าย ในสหรัฐฯ กว่า 95% ก็เป็นจีเอ็มโอทั้งหมด จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้จีเอ็มโอเข้ามาอยู่ในชีวิตแล้ว คนไทยจึงไม่ควรหลอกตัวเองอีกต่อไป” ศ.ดร.พีระศักดิ์กล่าว

ส่วนข้อโต้แย้งที่หลายคนบอกว่าจีเอ็มโอจะเข้ามาแทรกแซงความมั่นคงทางอาหาร ศ.ดร.พีระศักดิ์กล่าวว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกทั้งหมดจริงที่เราอาจต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ตลอด แต่ที่ต้องซื้อก็เพราะว่าพืชรุ่นลูกที่ได้จากรุ่นพ่อแม่จีเอ็มโอกับพ่อแม่ ธรรมชาติ ผสมกันออกมาแล้วมันคือลูกรุ่นผสม ซึ่งผลผลิตที่ได้ย่อมด้อยกว่า แต่ทั้งนี้บริษัทขายเมล็ดพันธุ์คงไม่ได้บังคับให้เกษตรซื้อ เป็นแค่ทางเลือกที่กว้างขึ้นของเกษตรกร ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าสารเคมีที่ต้องจ่ายกับค่าเมล็ดพันธุ์ที่ต้องซื้อ การซื้อเมล็ดพันธุ์น่าจะคุ้มค่ากว่า และประเด็นสำคัญอย่างการปนเปื้อนในธรรมชาติที่หลายคนระแวง

ศ.ดร.พีระศักดิ์ อธิบายว่าการจะปฏิสนธิของพืชแต่ละสายพันธุ์ต้องใช้เซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ และเซลล์สืบพันธุ์เพศเมียที่เฉพาะเจาะจงซึ่งกันและกันอย่างมากถึงจะผสมกันติด จะเกิดการระบาดข้ามสายพันธุ์พืชไม่ได้ แต่ก็เป็นได้หากเป็นพืชสายพันธุ์เดียวกัน ทว่าพืชพื้นเมืองอย่างข้าว มะม่วง มะขามต้องปลูกด้วยเมล็ดเท่านั้น เรื่องเกสรปลิวแล้วจะทำให้เกิดการผสมข้ามพันธุ์จึงเป็นเรื่องที่เกิดได้ยาก

“ความคลุมเครือและตัวกฎหมายที่ยังไม่ยอมรับ ทำให้การทำงานของผมลำบากก ผมกล้าพูดได้เต็มปากว่าที่แล็บของผม ที่กำแพงแสนดำเนินงานวิจัยพืชจีเอ็มโอมาต่อเนื่องกันประมาณ 20 ปีแล้ว แต่มันก็คืบหน้าไม่มาก เพราะเราไม่สามารถปลูกจริงในธรรมชาติได้ ทำได้แค่ในเรือนกระจก ส่วนที่สำเร็จแล้วคือมะละกอ และที่กำลังทำวิจัยอยู่ก็มียาสูบที่ตัดต่อยีนต้านทานแมลงเข้าไป สบู่ดำกำลังอยู่ในขั้นวิจัยเพื่อตัดต่อเอายีนบางตัวที่สร้างพิษก่อมะเร็งออก รวมไปถึงยูคาลิปตัสทำพยายามจะตัดแต่งให้ยีนแทนนินมีปริมาณลดลง ซึ่งจะทำให้กระดาษที่ผลิตได้ไม่เป็นสีน้ำตาลมากเกินไป แต่กว่าจะทำได้แต่ละอย่างค่อนข้างลำบากเพราะไม่มีใครอยากให้งบวิจัย ทั้งที่รู้ว่าเป็นอนาคตของโลก ทำให้การวิจัยจีเอ็มโอของไทยยังค่อนข้างอยู่กับที่" ศ.ดร.พีระศักดิ์กล่าว
ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.ดร.พีระศักดิ์ ระบุว่า การไม่เปิดโอกาสให้ทดลองปลูกในธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องดี เพราะทำให้เราไม่มีข้อมูลทั้งข้อดีข้อเสีย ทำให้เราไม่รู้ว่าถ้าเกิดการปนเปื้อนขึ้นมาจริงๆ จะรับมืออย่างไร แต่ถ้าหาก พ.ร.บ.ปลดปล่อยพืชจีเอ็มโอออกมาจะเอื้อต่อการทำวิจัยมาก และเขายินดีทำตามกฎกติกา ขอแค่ให้อิสระในการทดลองเพิ่ม แล้วก็ยินดีทำในพืชอื่นที่ไม่ใช่พืชอาหารด้วย แต่หากใครละเมิดก็ควรจับเป็นรายๆ ไปน่าจะดีกว่า

“หนุนจีเอ็มโอเพราะให้พืชทนโรค-ได้พันธุ์ตามต้องการทันที”
ด้าน รศ.ดร.สนธิชัย จันทร์เปรม ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เผยว่านอกจากประโยชน์ทั้ง 3 ประการที่ ศ.ดร.พีระศักดิ์ได้กล่าวไปแล้ว ประเทศไทยยัง "มีความจำเป็นต้องทำจีเอ็มโอ" เพื่อรองรับกับการผันแปรของสภาพอากาศในอนาคตที่จะมีผลต่อระบบเกษตรกรรมด้วย เพราะที่ผ่านมาภาวะโลกร้อนทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ในพืชขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก นักวิทยาศาสตร์จึงจำเป็นต้องสร้างพืชที่สามารถต้านทานโรคได้เพื่อเหตุผลทาง ความมั่นคงทางอาหาร และด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปเป็นน้ำท่วมหนักและแล้งจัด ทำให้ผลผลิตที่เคยได้มีมากไม่เท่าที่ควร

"ตอนนี้เรามีโรคไวรัสในข้าว แล้วก็โรคใบขาวในอ้อยที่ถ้าติดขึ้นมาจะไม่ให้ผลผลิตเลย 2 โรคนี้เป็นโรคที่เทคนิคใดๆ ก็ไม่สามารถแก้ได้นอกจากจีเอ็มโอ ซึ่งยังมีโรคในทำนองนี้อีกมากที่ต้องการเทคโนโลยีมาช่วยอยู่ และเรายังมองไปถึงการนำพืชมาผลิตเป็นยาหรือสารสกัดวัคซีนหรือแอนติบอดีด้วย" รศ.ดร.สนธิชัยกล่าว

นอกจากนี้ รศ.ดร.สนธิชัย ยังระบุด้วยว่าการทำจีเอ็มโอมีข้อดีกว่าการปรับปรุงพันธุ์ตามธรรมชาติที่ใช้ กันอยู่หลายข้อ ทั้งทำได้เร็วกว่า แม่นยำกว่า ในราคาที่เท่ากันและยังสามารถคงพันธุ์พืชเดิมไว้ไดด้วย เพราะการจะทำจีเอ็มโอนั้นไม่ได้ทำแบบสุ่มสี่สุ่มห้าหรือทำกับพืชทุกชนิด แต่จะทำเฉพาะกับพืชเศรษฐกิจที่มีปัญหาโรคหรือแมลงศัตรู โดยเริ่มจากการศึกษาว่าพืชชนิดนั้นมีปัญหาหรือโรคอะไร แล้วจึงหายีนที่ต้องการจากพืชพันธุ์อื่น, สายพันธุ์อื่น หรือแบคทีเรียที่มีการศึกษาอย่างละเอียดแล้วมาตัดต่อเข้ากับยีนของพืชที่มีปัญหา แล้วทำการเพาะเลี้ยงในโรงเรือน เมื่อพืชรุ่นใหม่เจริญขึ้นก็จะได้พืชพันธุกรรมใหม่ตามความต้องการทันที

"ในขณะที่การปรับปรุงพันธุ์พืชที่ในปัจจุบันต้องใช้วิธีผสมทดสอบ โดยคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มียีนที่พึงประสงค์มาผสมกันจนได้รุ่นลูก ที่จะต้องผสมต่อไปอีกอย่างน้อย 2-3 รุ่นเพื่อให้ได้ลักษณะพันธุ์ที่เสถียร จากนั้นจึงทำการผสมกลับกับพ่อแม่พันธุ์เพื่อเอายีนที่ไม่พึงประสงค์ออกไป กว่าจะได้พันธุกรรมที่ต้องการ ต้องเสียเวลานาน เสียทรัพยากร และยังไม่สามารถรักษาพันธุ์ข้าวดั้งเดิมไว้ได้อีกต่างหาก เพราะการผสมหลายทอดทำให้เกิดพันธุกรรมค่อยๆ ห่างจากเดิมไปเรื่อยๆ เพราะมีการถ่ายทอดพันธุกรรมจากต้นพ่อต้นแม่ ในขณะที่จีเอ็มโอเราอยากได้ยีนอะไรเราก็ตัดเอายีนนั้นไปแปะแล้วผสมกับพ่อแม่ พันธุ์แท้ รุ่นลูกที่ออกมาก็จะได้พันธุกรรมเดิมที่มียีนดีเพิ่มขึ้นมา" รศ.ดร.สนธิชัยกล่าว

รศ.ดร.สนธิชัย ยกตัวอย่างว่าหากมีข้าวหอมมะลิพันธุ์ A แต่มีข้อเสียคือไม่ต้านทานใบไม้ เราก็เพียงแค่ตัดต่อเอายีนต้านทานใบไม้มาใส่แล้วผสมดังเดิม แค่ 1 รุ่นลูกที่ได้ก็มียีนต้านทานใบไหม้แล้วก็เป็นข้าวหอมเหมือนเดิม ในขณะที่การปรับปรงพันธุ์ธรรมดาจะต้องเอาข้าวไปผสมกับข้าวพันธุ์อื่นที่มียีนต้านทานใบไหม้ ทำให้ข้าวมียีนต้านทานใบไหม้จริง แต่ไม่สามารถรักษาพันธุ์ข้าวเดิมที่ต้องการไว้ได้ พร้อมเปรียบเทียบความปลอดภัยของจีเอ็มโอว่า คล้ายคลึงกับการกินผัก เพราะเมื่อผักถูกย่อยดีเอ็นเอของผักจะเข้าสู่ร่างกายของผู้กิน ที่จะย่อยสลายไปเองเมื่อเข้าสู่ระบบย่อยอาหาร ทำให้ไม่มีใครได้รับอันตรายจากการกินจีเอ็มโอ และจีเอ็มโอได้เข้ามาอยู่ในระบบอาหารของคนไทยนานนับ 10 ปีในรูปของถั่วเหลืองนำเข้า
ผศ.ดร.วิภา หอมหวล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร  คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร
"รายงานวิจัยหรือข่าวจากต่างประเทศที่บอกว่าจีเอ็มโอปลอดภัยมีเยอะ และส่วนตัวผมก็เชื่อมั่นว่าจีเอ็มโอไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะทุกวันนี้คนเราก็กินแต่ก็ไม่เห็นมีใครเป็นอะไร คนไม่กินซะอีกที่เป็นมะเร็ง ส่วนถ้าเป็นรายงานที่ระบุว่าสัตว์ทดลองเป็นนั่นเป็นนี่ ผมไม่คิดว่ามาจากจีเอ็มโอโดยตรง น่าจะเป็นเพราะว่าเขาได้รับอาหารชนิดนั้นๆ มากเกินไปมากกว่า และผมก็ยังยืนยันว่าจีเอ็มโอเป็นเทคโนโลยีที่เราต้องคว้าไว้ อาจจะแค่วิจัยก่อนก็ได้ เพราะถึงแม้ว่าตอนนี้คนจะไม่ยอมรับ แต่ถ้าอีก 10 ปีหน้าทั่วโลกยอมรับ เราจะทำยังไง เราจะไม่มีอะไรไปสู้เขาเลย ในขณะที่ประเทศอื่นเขามีความรู้ที่ทำไว้พร้อมแล้ว อย่างประเทศที่ประกาศตัวว่าไม่เอาจีเอ็มโออย่างญี่ปุ่นเขายังมีทำเลย" รศ.ดร.สนธิชัย กล่าว

“ศึกษาจีเอ็มโอมาทั้งชีวิตแต่ไม่เห็นเหตุผลต้องเอาจีเอ็มโอ”
ขณะที่ ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้คร่ำหวอดในวงการจีเอ็มโอมาตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาเอก กลับมีจุดยืนในการทำงานเพื่อตรวจสอบจีเอ็มโอ และเผยมุมมองแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาไทยสะดุดขาตัวเองด้วย "หล่มของผลประโยชน์" มาตลอด ทำให้ประเด็นจีเอ็มโอยังไม่เคยหายไปจากเมืองไทย แต่ในขณะเดียวกันการวิจัยก็ไม่เคยก้าวหน้า เป็นประเด็นปัญหาที่ย้อนแย้งที่สุดเท่าที่เคยเจอ

ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ เล่าว่า เมื่อครั้งเรียนและทำวิจัยระดับปริญญาเอก เขาเลือกเรียนเกี่ยวกับการดัดแปลงพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ เพราะขณะนั้นเป็นวิทยากรล่าสุด เป็นสิ่งสุดยอดสำหรับงานทางพันธุศาสตร์ แต่เมื่อเขาลองถอยออกมามองทำให้เห็นจีเอ็มโออีกมิติหนึ่งที่ไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เพราะจีเอ็มโอยังมีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหาร, กฎหมาย, การเมือง และสนธิสัญญาระหว่างประเทศทำให้ที่ผ่านมาเขายังคงมีจุดยืนอยู่ในด้านตรงข้ามกับการสนับสนุนจีเอ็มโอในประเทศไทยมาโดยตลอด เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นและประเทศไทยไม่เหมาะกับจีเอ็มโอ

ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ กล่าวว่า หากมีการอนุญาตให้ทำจีเอ็มโอในไทย เกษตรกรจะได้เงินอีกหมื่นล้าน ทว่าสิ่งที่ต้องสูญเสียไปกลับตีราคาไม่ได้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเกษตรปลอดภัย แม้จะมีการใช้สารเคมี แต่ก็ยังได้รับความไว้วางใจว่าเป็นเกษตรสีเขียว และถ้าหากธรรมชาติมีการปนเปื้อนจีเอ็มโอจะควบคุมได้ยากมาก เพราะกระบวนการที่เกิดขึ้นจะย้อนกลับไม่ได้ การปนเปื้อนจะเป็นไฟลามทุ่ง ไม่มีวิธีแก้ไขนอกจากโค่นต้นทิ้ง ความไว้วางใจของต่างชาติไม่คืนกลับมา จนในที่สุดต้องสูญเสียทั้งพันธุกรรมพืชพื้นเมืองที่ดี เสียทั้งความเชื่อมั่นในการส่งออก และยังเสี่ยงต่อการทำให้ระบบการผลิตการเกษตรล่มสลาย เพราะเกษตรกรจะปลูกพืชตามที่บริษัทขายเมล็ดพันธุ์ให้ ซึ่งมีลักษณะพันธุกรรมที่เหมือนกันหมด ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพสูญเสียไป

"เท่าที่ศึกษาและทำงานมาเกือบตลอดชีวิต ผมยังไม่เห็นเหตุผลอะไรที่เราจะนำเอาจีเอ็มโอเข้ามา ผมไม่ห่วงเลยว่าเทคโนโลยีเกษตรของบ้านเราจะล้าหลัง ผมกลัวการนำจีเอ็มโอเข้ามาแล้วรู้ไม่เท่าทันมากกว่า ผมไม่อยากให้จีเอ็มโอเข้ามาเร่งการผูกขาดความมั่นคงทางอาหารของเรา" ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์กล่าว

“แย้งจีเอ็มโอไม่ทนทาน หวั่นสูญเสียจุดแข็งพันธุกรรม”
จุดบอดอีกประการของจีเอ็มโอที่ ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์กล่าวว่าคนส่วนมากไม่ทราบ คือ พืชจีเอ็มโอไม่ทนทาน และเสี่ยงต่อการดื้อยา หากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย อย่างน้ำท่วมหรือน้ำแล้งก็สามารถตายยกไร่ได้ทันที เป็นความเสี่ยงที่ยากต่อการคาดเดาและรับผิดชอบ ฉะนั้นจีเอ็มโอจึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการยกระดับวงการเกษตร

“การที่ไทยจะนำจีเอ็มโอเข้ามา เคยดูที่อื่นหรือเปล่าว่าเขาเอากันไหม? เพราะ 64 ประเทศทั่วโลกซึ่งส่วนมากเป็นคู่ค้ากับไทย และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนมีกฎหมายและข้อบังคับกีดกันจีเอ็มโอทั้งสิ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรป จะมีก็แต่สหรัฐฯ ประเทศเดียวซึ่งเขาเป็นเจ้าพ่ออยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของสหรัฐฯ อีก เพราะประชากรของเขาเองตอนนี้ก็ออกมาต่อต้าน จนมลรัฐฮาวายมีกฎหมายห้าทำการปลูกพืชจีเอ็มโอใดๆ อีก ยกเว้นมะละกอที่ปลูกไปเป็นจำนวนมากแล้ว ขนาดคนของเขาเองยังไม่เอา ประเทศที่พัฒนาแล้วยังไม่เอา แล้วทำไมเราจะต้องดื้อด้านเอา หรือผลประโยชน์มันหอมหวานกว่า?” ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ตั้งคำถาม

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ยังระบุด้วยว่า ขณะนี้โลกกำลังเข้าสู่สงครามสิทธิบัตร ซี่งเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเป็นผลิตภัณฑ์ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ได้จดสิทธิบัตรไว้แล้วทุกกรณี ทำให้เกษตรกรที่นำมาปลูกแทบจะไม่มีสิทธิในผลผลิตของตัวเอง ทางที่ดีกว่าการนำจีเอ็มโอเข้ามาจึงน่าจะอยู่ที่ประตูแห่งเกษตรอินทรีย์ ซึ่งง่ายกว่าเพราะประเทศไทยเริ่มต้นไปมากแล้ว อีกทั้งยังเป็นแนวโน้มของโลกและขายได้ราคาดี ในขณะที่หากต้องนำจีเอ็มโอเข้ามาใช้จริงๆ ก็ควรจะกำหนดให้อยู่เฉพาะในพืชที่ไม่ใช่พืชอาหาร

“งานวิจัยชี้จีเอ็มโออันตรายต่อตับ ไต อวัยวะภายใน”
ส่วนคำกล่าวที่ว่าพืชจีเอ็มโอไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพก็ไม่ใช่เรื่องจริง โดย ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ระบุว่ามีข้อมูลจากวารสารวิทยาศาสตร์นานาชาติที่เชื่อถือได้หลายฉบับ ได้ระบุถึงความผิดปกติของอวัยวะในร่างกายอันเนื่องจากการได้รับจีเอ็มโอไว้ ชัดเจน เช่น ในปี 2550 ศ.ดร.กิลเลส อิริค ซีราลินี (Professor Gilles-Eric Seralini) และลูกทีมได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยแย้งงานตีพิมพ์ของบริษัทมอนซานโตที่ระบุว่าข้าวโพดพันธุ์ MON863 มีความปลอดภัยสามารถขายเข้าสู่ตลาดยุโรปได้ว่าไม่เป็นความจริง เพราะผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลดิบชุดเก่าซ้ำแสดงออกให้เห็นว่าหนูทดลองที่ได้ รับข้าวโพดจีเอ็มโอพันธุ์ดังกล่าว มีสัญญาณบ่งชี้ว่าตับและไตได้รับสารพิษ และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นที่แตกต่างกัน เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ผลการวิจัยก่อนหน้าจึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าข้าวโพดจีเอ็มโอปลอดภัย

อีกตัวอย่างงานวิจัยเมื่อปี 2552 อาร์ทีมิส โดนา (Artemis Dona) จากภาควิชานิติเวชวิทยาและพิษวิทยา มหาวิทยาลัยเอเธนส์ ประเทศกรีซพร้อมคณะ ได้ตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการว่า การศึกษาพืชจีเอ็มโอส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่ทำให้เห็นว่ามันมีผลกระทบต่อตับ, ตับอ่อน, ไต และระบบสืบพันธุ์ และยังอาจทำให้เลือด, ชีวเคมี และระบบภูมิคุ้มกันเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งต้องใช้การศึกษาโรคเรื้อรังจากการได้รับสารพิษในระยะยาว โดย ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ระบุว่า ยังมีงานตีพิมพ์ทางวารสารวิชาการทางวิชาการอีก 5-6 ฉบับที่ระบุในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้ผลการศึกษาของ พอล วี. (Paul V.) และคณะยังได้ยืนยันด้วยว่า การย่อยโปรตีนCry1B ซึ่งเป็นโปรตีนสารพิษจากแบคทีเรียในข้าวโพดจีเอ็มโอสายพันธุ์ MON810 ไม่สามารถถูกย่อยอย่างสมบูรณ์ได้ในระบบทางเดินอาหาร จึงมีความเป็นไปได้ที่ร่างกายจะได้รับสารพิษ เช่นเดียวกับงานวิจัยในหญิงตั้งครรภ์-ไม่ตั้งครรภ์ของกูอิมาเรส วี (Guimaraes V.) และงานวิจัยระบบการทางเดินอาหารของผู้ได้รับอาหารจีเอ็มโอของอลิส เอ.(Aris A.) ที่สรุปผลงานวิจัยออกมาในทำนองเดียวกัน

“สรุปเลยคือเรายังไม่มีความพร้อมในทุกๆ ด้านเกี่ยวกับจีเอ็มโอ คนที่มีความเชี่ยวชาญก็ไม่มี ระบบรองรับก็ไม่มี และถ้าหากปนเปื้อนการส่งออกเราจะพัง ฐานทรัพยากรเราจะพัง ระบบการผลิตเกษตรกรรมจะพัง เท่าที่เห็นข้อเสียมีมากกว่าข้อดีอยู่หลายเท่า จึงอยากให้ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องคิดเยอะๆ แล้วอยากให้ตระหนักด้วยว่าเทคโนโลยีที่ดีที่สุด อาจจะไม่ใช่เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุดก็ได้ ” ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์กล่าว

“ตัวแทนภาคเกษตรกรรมอยากทดลองปลูกจีเอ็มโอ”
ด้าน น.ส.นณิภา เลยะกุล ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาไร่องุ่นคุณธรรม จ.สระบุรี เผยว่า ส่วนตัวเธอมองจีเอ็มโอทั้ง 2 ด้าน แต่ค่อนข้างเทใจไปทางด้านสนับสนุนมากกว่า เพราะจากความรู้ที่เคยเรียนมาในระดับชั้นปริญญาโท สาขาการจัดการพืชชีวภาพและการศึกษาด้วยตัวเองเกี่ยวกับกรณีศึกษาของสหรัฐ ทำให้ภาพของจีเอ็มโอในความคิดไม่ได้น่ากลัวนัก แต่น่าจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพื่อรองรับกับจำนวนประชากรโลกที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้มีการต้องการทรัพยากรเป็นไปอย่างไม่จำกัด เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่จะถูกผลิตเป็นอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงคนทั้งโลก และยังรวมไปถึงงานด้านเกษตรอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ฝ้าย และยูคาลิปตัส
ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์  อาจารย์ประจำสาขาวิชาปรับปรุงพันธุ์พืช ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
“เหตุผลที่ค่อนข้างรู้สึกบวกกับจีเอ็มโอ เป็นเพราะป๋วยเป็นอีกคนที่กำลังมองหาเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ มาเพิ่มผลผลิต เพราะตอนนี้ประชากรโลกมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน แล้วป๋วยก็ไม่เคยเห็นว่า มีงานวิจัยอะไรที่ออกมายืนยันว่าจีเอ็มโอทำให้เกิดความเสี่ยง มีแต่คำที่บอกว่า เขาว่ามันไม่ดี ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเขาคนนั้นคือใคร แต่ถ้าได้ข้อมูลเพิ่ม ได้ทราบอะไรเพิ่มอีกนอกจากการศึกษาด้วยความชอบของตัวเองก็พร้อมที่จะปรับ เปลี่ยนแนวความคิด เพราะอาจจะมีบางอย่างที่เป็นข้อเสียแต่เขาบอกเราไม่หมดก็ได้ แต่ลึกๆ แล้วยังอยากลองจีเอ็มโอ ถ้าอีกหน่อยปลูกได้จริงอยากเอามาทดลองที่ไร่” น.ส.นณิภากล่าว

“จีเอ็มโอเหมือนโสเภณี มีอยู่แต่ทำไมไม่ทำให้ถูกกฎหมาย”
ด้านฝ่ายสนับสนุนจีเอ็มโออีกคนอย่าง ผศ.ดร.วิภา หอมหวล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากจีเอ็มโอมีด้วยกันหลายประการ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นควรผ่านการยอมรับด้วยร่าง พ.ร.บ.ก่อน เพราะจะทำให้งานวิจัยด้านจีเอ็มโอเดินหน้าจนเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะนำมาสู่การตอบคำถามสังคม และการต่อยอดเพื่อประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะช่วยพลิกโฉมหน้าการเกษตรแบบใหม่ให้ใช้สารเคมีน้อยลง และยังสามารถแก้ปัญหาพืชได้อย่างตรงจุดเช่น ทนน้ำท่วม น้ำแล้ง ทนแมลง ไปจนถึงการเพิ่มคุณค่าสารอาหาร อีกทั้งยังลดการกีดกันทางการค้า เช่น มะละกอจีเอ็มโอที่ทุกวันนี้ไม่สามารถส่งออกได้ เพราะติดปัญหาการเป็นสินค้าจีเอ็มโอลักลอบ เนื่องจากติดปัญหา พ.ร.บ. จีเอ็มโอของไทย ทั้งที่หลายๆ ประเทศเปิดรับซื้อสินค้าจีเอ็มโอ

“เอาจริงๆ พืชจีเอ็มโอในไทยก็มีที่เกษตรกรลักลอบปลูก ก็เหมือนกับโสเภณีที่เรารู้ว่าผิดกฎหมายแต่ก็ยังมี สู้เราทำให้มันถูกกฎหมายไปเลยไม่ดีกว่าหรือ มันขายได้เงินเข้าประเทศทั้งนั้น ที่ทุกวันนี้เราขายไม่ได้ ทำวิจัยไม่ได้ก็เป็นเพราะติด พ.ร.บ.มันเลยทำให้ติดอยู่อย่างนี้ ไม่พัฒนาไปไหนซักที ตอนนี้เลยค่อนข้างรับสภาพ แต่ทำแบบนี้มันเหมือนการกำจัดสิทธิคนที่เขาอยากเข้าถึงเทคโนโลยีนะ แล้วก็อยากย้อนถามว่าเกษตรอินทรีย์ที่พูดๆ กันของไทยมันอินทรีย์แค่ไหน อินทรีย์จริงหรือเปล่า” ผศ.ดร.วิภาตั้งคำถาม

ผศ.ดร.วิภา เผยว่า การวิจัยและผลิตพืชจีเอ็มโอมีความเป็นไปได้ เพราะไทยมีหน่วยงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่มีประสิทธิภาพ และถ้าหากในอนาคตดำเนินการได้จริงก็คาดหวังว่าจะได้เห็นพืชเศรษฐกิจหลายๆ ชนิดที่ถูกนำมาดัดแปลงพันธุกรรมให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ทั้งข้าวและข้าวโพดที่มักให้ผลผลิตน้อยในหน้าแล้ง ซึ่งเมื่อตัดต่อพันธุกรรมทนแล้งใส่ลงไปผลผลิตข้าวที่ได้ก็จะออกมาดี ซึ่งเธอยังมั่นใจด้วยว่าจะสามารถป้องกันและรับมือกับการปนเปื้อนในธรรมชาติ ได้ เพราะไทยเป็นประเทศขนาดเล็ก ซึ่งถ้ามีการควบคุมกรรมวิธีการปลูก และการขนส่งที่ดีย่อมทำให้มีเปอร์เซ็นต์การปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมอยู่ในอัตราน้อยจนไม่มีผลกระทบ

ส่วนข้อมูลทางการแพทย์ที่ระบุว่า จีเอ็มโอไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค ผศ.ดร.วิภา กล่าวว่า ต้องนำข้อมูลทางสถิติการบริโภคติดต่อกันอย่างน้อย 10 ปีมาดู เพราะทุกวันนี้ถั่วเหลือง น้ำนมถั่วเหลืองที่คนไทยรับประทานเกือบทั้งหมด ก็ผลิตจากถั่วเหลืองจีเอ็มโอที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น ซึ่งก็ไม่เคยมีรายงานการเจ็บป่วยหรือการทำวิจัยว่าคนที่บริโภคน้ำเต้าหู้ ติดต่อกันนาน 10 ปีสุขภาพเป็นอย่างไร แต่กรณีผู้แพ้ถั่วจีเอ็มโอที่พบบ่อยในต่างประเทศ เบื้องต้นบุคคลเหล่านั้นล้วนเป็นโรคภูมิแพ้ถั่วอยู่ก่อนแล้ว เมื่อรับประทานเข้าไปจึงเกิดอาการแพ้ได้หมดแม้ถั่วจะจีเอ็มโอหรือไม่ก็ตาม

“ถ้าคิดว่าการซื้อเมล็ดพันธุ์จะเป็นการครอบงำจนนำไปสู่การผูกขาดทางอาหาร ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะไทยเรามีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก แล้วการปลูกจีเอ็มโอก็เป็นทางเลือก ไม่มีใครบังคับ ใครอยากได้เมล็ดพันธุ์ที่ถูกแก้ปัญหามาแล้วก็ซื้อ ใครว่าซื้อแพงก็ไม่ต้องซื้อ ใช้เมล็ดพันธุ์ที่เก็บเองหรือจากราชการต่อไป เราแค่อยากให้มีเสรี แล้วก็มีพร้อมขาย เพื่อรองรับตลาดทั้งที่ต้องการจีเอ็มโอและไม่จีเอ็มโอ” ผศ.ดร.วิภากล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
น.ส.นณิภา เลยะกุล ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาไร่องุ่นคุณธรรม จ.สระบุรี








กำลังโหลดความคิดเห็น