xs
xsm
sm
md
lg

บัวกลางไพร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชี(วิทย์)วิต ตอนที่ 4 : บัวกลางไพร

การเดินเท้าต้านเขื่อนเขื่อนแม่วงก์เมื่อปีก่อน ของมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ของการอนุรักษ์ แต่จะมีสักกี่คนที่สังเกตเห็น “บัว” สาวน้อยร่างเล็ก ที่ตามติด อ.ศศิน เฉลิมลาภ ตั้งแต่ต้นจนปลายทาง ด้วยปฏิฐานการทำงานที่ไม่ต่างกัน

แม้หลายครั้งเรากำหนดเส้นทางชีวิตไม่ได้ แต่เราสามารถเรียนรู้ และวางแผนเพื่อกำหนดทิศทางชีวิตไปตามที่เราต้องการได้ สาวน้อยจากนิติ-ม.รามคำแหง ที่วันหนึ่งกลายมาเป็นนักวิชาการด้านการจัดการทรัพยากร ไม่ได้วางแผนชีวิตของเธอไว้ไกล แต่เธอบอกว่าเธอคิดแค่ช่วงใกล้ๆ ทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ เพราะเธอเชื่อว่าผลตอบแทนของการทำงานที่รัก คือ ความสุขในชีวิต

“นี่พูดแล้วยังขนลุกอยู่นะพี่... แม่เล่าว่าสัก 7-8 ขวบ บัวอ่านหนังสืออนุสรณ์งานพระราชเพลิงศพ ของคุณสืบ แล้วหันมาบอกแม่ว่า บัวอยากเป็นเหมือนคนนี้” บัว - อรยุพา สังขะมาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เล่าย้อนความฝันในวัยเด็ก

นายปรี๊ดรู้จัก “บัว” มาตั้งแต่เธอยังเป็นบัณฑิตใหม่ จากรั้วนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง แต่กิจกรรมที่ทำให้รู้จักกัน กลับต่างกันชีวิตนักกฏหมายคนละขั้ว เพราะบัวเป็นหนึ่งในน้องรักของ พี่ๆ สมาชิกกลุ่ม Siamensis ที่มักมีกิจกรรมออกไปศึกษาธรรมชาติ ถ่ายภาพ ค้นคว้าเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตที่พบในประเทศไทยมาแบ่งปันกันบนโลกไซเบอร์ บัวสนใจแมลงและนกเป็นพิเศษ เธอเคยนั่งติดตามพฤติกรรม และรูปแบบการสร้างรังของนกกระจาบแถวชายทุ่งรังสิต แล้วนำมาเขียนบทความในนามปากกาว่า “sparrow (เจ้านกกระจอก)” ซึ่งสามารถเล่าเรื่องและลำดับภาพต่างๆ ได้ละเอียดชนิดที่เรียกว่านักชีววิทยาตัวจริงต้องยกนิ้วให้

บัวเป็นตัวอย่างของปลาที่ว่ายทวนน้ำ สวนกระแสระบบการการศึกษาไทยที่ไม่ได้บูรณาการอย่างแท้จริง เพราะแบ่งแยกวิทย์-ศิลป์ ขาดออกจากัน “บัวชอบชีวะ มาตั้งแต่เด็กละพี่ แต่บัวไม่เก่งคำนวน เลยเรียนสายวิทย์ไม่ไหว แต่อ่านชีวะเยอะนะ หนังสือเกี่ยวกับสัตว์นี่เต็มบ้านเลย แต่ตอนเรียนต่อ บ้านบัวเคยมีปัญหาถูกโกงเลยเลือกเรียนกฏหมาย เพราะรู้สึกว่าเราต้องรู้กฏหมาย ไม่งั้นจะถูกเอาเปรียบ” แต่ระหว่างเรียนนิติฯ บัวก็ยังค้นคว้าหาความรู้ และยังแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านธรรมชาติ และชีววิทยาอยู่ไม่ขาด

เมื่อเรียนจบบัวค้นพบว่าชีวิตนักกฏหมายที่ต้องจับจ้องกับความผิด การแก้ต่าง และความเครียดที่รุมเร้าผู้คนในศาล ไม่ใช่ตัวตนของเธอ ความฝันและความเป็นนักธรรมชาติวิทยาในตัว ยังตามเคาะประตูให้เธอก้าวออกมาจากงานที่ทำอยู่ตลอดเวลา

“ขนาดตอนฝึกทนายนะพี่ บัวยังขอลาไปเป็นอาสาสมัครนับนกเหยี่ยว กับ ดร. ไชยยันต์ เกษรดอกบัว ที่เขาเรดาห์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนที่สำนักงานทนายเค้าฮือฮากัน คือ เค้าไม่เคยเจอทนายฝึกงานที่ขอลาไปนับนกเหยี่ยว ดังขนาดที่รุ่นน้องเข้ามาใหม่ เค้าเรียกหนูว่า พี่บัวนับเหยี่ยว (หัวเราะเสียงดัง) แต่บัวว่าคนเราต้องเข้าหาผู้รู้ บัวอยากรู้อยากเรียนอะไรจะมุ่งตรงไปที่ผู้รู้เลย เพราะเคยให้ความรู้คนอื่นผิด เพราะอ่านหนังสือแค่สองสามเล่มแล้วเข้าใจผิด จากนั้นมาบัวต้องมั่นใจว่าสิ่งที่บัวรู้ถูกต้องเพื่อจะได้ส่งต่อได้ไม่ผิดอีก ”

ด้วยความฝันในวัยเด็ก บัวเคยหอบประวัติไปสมัครงานที่มูลนิธิสืบครั้งหนึ่ง แต่ประวัติการทำกิจกรรม และแนวคิดในด้านงานอนุรักษ์ของบัวในขณะนั้นไม่เข้าตากรรมการ บัวจึงตัดสินใจหาประสบการณ์เพิ่มเติมจากการเป็นอาสาสมัครโครงการฟื้นฟูชะนีมือขาวลุ่มน้ำปาย โดยกลุ่มวิจัยภูมิรู้นิเวศและชีววิทยาอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล

“พี่รู้ไหม บัวได้เรียนรู้การอนุรักษ์สัตว์ป่าจริงๆ โปรเจกต์นี้เป็นงานที่บัวชอบมากเลยนะ ชอบที่สุดในชีวิตแล้ว ตอนเป็นทนายฝึกหัดบัวรู้ตัวเลยว่าไม่ค่อยอยากพูดอยากทำงานที่ต้องเจอคนสักเท่าไร ทำงานที่โปรเจกต์ชะนีอยู่แต่ในป่า ให้อาหารชะนี เดินหาแหล่งอาหาร มีความสุขมากนะช่วงนั้น แล้วก็ทำให้รู้ว่า เราตัดคนออกไปไม่ได้หรอก บัวไปเจอของจริง ไปอยู่กับทีมวิจัย ไปอยู่กับชาวบ้านกปาเกอะญอกับไทยใหญ่ เมื่อก่อนเราหัวรุนแรงนะ ตามข้อมูลที่อ่าน คนที่อยู่ในป่า ทำไร่เลื่อนลอย ดูเป็นเหมือนผู้ร้ายทำลายป่า เราอ่านอย่างเดียวรู้แต่จากตัวหนังสือ แต่ชีวิตจริงมันไม่ใช่”

เมื่อเจอโจทย์ใหม่ ด้วยสองตาเนื้อ ความสนใจและสิ่งที่ร่ำเรียนมามันเลยเริ่มเจอกันแบบครึ่งทาง เพื่อทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ ในสังคม

“เราเคยมองชาวบ้านแบบหนึ่ง แต่พอเราไปอยู่ไปเห็นเอง เรารู้เลยว่าเค้ามีปัญหาเยอะ แล้วก็มีวันหนึ่งที่ทำงานกันดีๆ ชาวบ้านเค้าเกิดเข้าใจผิด ก็มีปัญหาเกิดขึ้นเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อน บัวถึงได้กลับไปดูเรื่องกฏหมาย เลยเห็นว่า บ้านเรามีปัญหาเรื่องการอพยพเข้ามาตามชายแดน กฏหมายระหว่างประเทศ พื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่มีทั้งรุกเข้าไปในเขตอนุรักษ์และบางส่วนก็ถูกประกาศทับที่ทำกิน ปัญหาไม่ได้มีแค่ป่ากับสัตว์ป่า แต่มันคือเรื่องของคนกับกฏหมาย” ความสนใจและความรู้ทั้งสองศาสตร์ จึงกลายเป็นสะพานที่เชื่อมความเป็นตัวตนของบัวที่เคยแยกเป็นนักกฏหมาย และนักธรรมชาติรวมเข้าด้วยกัน

พฤษภาคม 2553 บัวหมดสัญญากับโครงการฟื้นฟูชะนีฯ พร้อมๆ กับที่มูลนิธิสืบฯ เปิดรับสมัครเจ้าหน้าที่อีกครั้ง ความหวังจะตามรอยเท้าคุณสืบเริ่มกลับมาอีกครั้ง คราวนี้บัวสั่งสมประสบการณ์ชีวิตและทักษะการทำงานในป่ามากพอ บัวจึงผ่านด่านการคัดเลือกมาได้ และยังคงยืนยันว่า “บัวชอบป่า...ไม่ค่อยอยากพูดอยากทำงานที่ต้องเจอคนสักเท่าไร” เธอจึงเลือกเป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่ป่าอุ้มผาง จ.ตาก

เมื่อเข้าไปในพื้นที่อุ้มผาง บัวพบกับวิถีชีวิตที่ใสสะอาด ภูมิปัญญาการรักษาป่าของชาวปกาเกอะญอและชาวโผร่ว 14 หมู่บ้าน รอบผืนป่า การทำงานกับชุมชนเปิดโลกบัวอีกครั้ง “เราไม่ได้ไปสอนเขาเลย เขาสอนเราทุกอย่าง ที่ประทับใจมาก คือเรื่องไร่หมุนเวียน ที่มีรอบการทำแน่นอน ไม่ใช้สารเคมีเพราะถือว่าทำร้ายผืนดิน เค้าไม่ทำลายพื้นที่ป่าเพิ่มไปเรื่อยๆ ก่อนการทำไร่เค้าต้องทำพิธีเสี่ยงทายและสำรวจสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในไร่ ดูเป็นเรื่องผีสางไสยศาสตร์ แต่จริงๆ แล้วบัวว่ามันเป็นเรื่องของการสังเกตธรรมชาติ กว่าจะได้พื้นที่ทำไร่ข้าวไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มีขั้นตอนที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและสภาพดินฟ้าอากาศที่ซับซ้อนมาก”

อย่าง ลุงสมหมาย ทรัพย์รังสิกุล ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ บ้านหม่องกั๊วะ เค้าเรียกบัวว่าลูกสาว ลุงสอนบัวตลอด สอนวิธีคิด มีวิธีบอกว่าเวลาทำงานกับชาวบ้าน ควรมีแนวคิด ควรมีวิธีพูดยังไง โดยสอนผ่านนิทาน เค้าไม่บอกเราตรงๆ เค้าสอนเราให้คิดให้ทำงานกับชุมชนได้ เค้าอยู่ในป่ามาก่อนการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ หน้าที่ของมูลนิธิสืบฯ คือการประสานงานทำให้เค้าอยู่กับธรรมชาติได้เหมือนเดิม แม้ตอนนี้คนรุ่นใหม่ก็เริ่มมีการใช้สารเคมีบ้าง แต่ลุงสมหมายและเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันก็พยายามทำให้คนอยู่ในป่าได้อย่างยั่งยืน”

ชีวิตของบัวผลิกผันอีกครั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุครั้งสำคัญ การกรำงานหนักทำให้บัวเผลอหลับใน ขี่จักรยานยนต์ตกเขาสลบไปถึง 3 วัน โชคดีที่ร่างเธอค้างอยู่ปากเหว ถ้าไถลไกลไปอีกนิดเดียว เธอคงไม่มีโอกาสได้มานั่งเล่าเรื่องราวของตัวเองให้เราฟัง เมื่อตื่นขึ้นมาผู้ใหญ่ในมูลนิธิจึงขอให้บัวย้ายกลับมาทำงานในส่วนกลาง เพราะเชื่อว่าเธอน่าจะสามารถทำงานในฝ่ายวิชาการ จากประสบการณ์การลงพื้นที่ หาข้อมูล และใช้เครือข่ายกับชุมชนชาวชีววิทยามาเสริมงานด้านการสื่อสารให้กับมูลนิธิได้ดีไม่แพ้กัน

ทุกวันนี้บัวเป็นเจ้าหน้าที่วิชาการเต็มตัว ต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูล ทำงานกับนักวิชาการจากองค์กรอื่น เป็นตัวแทนมูลนิธิขึ้นเวทีนำเสนอความคิดเห็น และพิจารณาร่างกฏหมายต่างๆ ผู้ใหญ่ในที่ประชุมมักเข้าใจผิด เพราะเห็นบัวเป็นแค่สาวน้อยตัวเล็กๆ บางครั้งนึกว่ามูลนิธิสืบฯ ส่งเด็กฝึกงานมาประชุม แต่เมื่อเธอนำเสนอสิ่งที่คิดก็ต้องอึ้ง เพราะบัวเล็กๆ ดอกนี้ แกร่งกว่าที่ทุกคนคิด

“ตอนงานเดินเท้าต้านเขื่อนแม่วงก์ ก่อนหน้านั้น เราต้องลงพื้นที่ ศึกษาเส้นทางน้ำ คุยกับผู้เกี่ยวข้อง ศึกษาทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้ เตรียมข้อมูลอย่างดี เพราะเราไม่ได้แค่เดินต้านเขื่อน แต่พอถึงตรงไหน เราก็นำเสนอข้อมูลทางการวิชาการ และแนวทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่กระทบกับป่าเท่าการสร้างเขื่อนบริเวณนั้น เราพยายามยันด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และการบริหารจัดการน้ำไปพร้อมกัน”

บัวเล่าว่าตอนนั้น บัวมีหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการ ต้องเดินถือโทรศัพท์กับวิทยุตาม อ.ศศิน ตั้งแต่ต้นทาง คุยโทรศัพท์ตลอดทั้งวัน ต้องประสานงานว่า ตอนนี้ขบวนเราถึงไหนแล้ว จะพักที่ไหน แผนเป็นอย่างไร คนมารอให้กำลังใจเยอะมาก เดินจนลืมเหนื่อย แต่ก็กลัวนะเพราะคนที่ไม่เห็นด้วยก็มี แต่ อ.ศศิน ให้ข้อคิดที่บัวยึดไว้เป็นคำสอนว่า “เราต้องทำงานให้เต็มที่ เหมือนที่พี่สืบเคยทำ คนที่บอกว่าทำงานให้กับพี่สืบ ก็ต้องทำแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพันเหมือนพี่สืบ คุณทำเต็มที่รึยัง ถ้ายัง...คุณจะเอาเกียรติภูมิที่ไหนมาบอกว่าทำงานให้พี่สืบ”

“บางทีคนชอบถามว่า อ้าวงานนั้น งานนี้ ทำไมไม่ไปต้าน? หายหน้าไปไหน? จริงๆ งานของมูลนิธิสืบฯ มีเป้าหมายในผืนป่าตะวันตกเป็นหลัก และทำงานประสานกับองค์กรอนุรักษ์อื่นๆ ทั้งงานด้านส่งเสริมการอนุรักษ์ และการตรวจสอบร่างกฏหมายต่างๆ ที่มีผลต่อทรัพยากรของประเทศ คนทั่วไปอาจจะจำได้แค่การเดินเท้าต้านเขื่อนแม่วงก์ แต่จริงๆ แล้วทุกวันนี้เรามีงานต่อเนื่อง อย่างตอนนี้บัวกำลังติดตามร่าง พรบ. อุทยานฯ ที่อาจจะเปิดช่องให้เอกชนสัมปทานพื้นที่ในอุทยานฯ เก็บเกี่ยวผลประโยชน์มากเกินไป”

เมื่อถามถึงอนาคต บัวบอกว่ายังอีกไกล แต่ทุกวันนี้มีความสุขและสนุกกับงานที่ทำมากๆ เพราะเธอมีต้นแบบที่อยากก้าวตามอีกท่าน คือ อ.รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบฯ “อาจารย์เป็นต้นแบบของหญิงแกร่งในวงการอนุรักษ์ มีชีวิตสมถะ อาจารย์มักห่ออาหารมาทาน ปลูกผักผลไม้บางอย่างทานเองที่บ้าน ในที่ประชุมอาจารย์มีวิธีนำเสนอที่ประนีประนอม หากอาจารย์พูดทุกคนจะตั้งใจฟัง เพราะมักเสนอทางออกดีๆ ให้ที่ประชุมเสมอ ทุกวันนี้บัวก็พยายามทำตาม อย่างปั่นจักรยานไปทำงาน ห่อข้าวไปกินเอง ลดใช้พลาสติก คือเราบอกคนอื่นให้รักษาสิ่งแวดล้อม เราไม่ทำเองนี่ไม่ใช่เนอะ ส่วนเรื่องการวางตัวยังต้องปรับอีกนิด เพราะบางทีก็เผลอบัวบู้เกินตัว จนพี่ๆ ต้องสะกิด....เฮ้ยยย ตัวเล็กใจเย็นๆ” บัวปิดบทสนทนาด้วยเสียงหัวเราะเขินๆ

เกี่ยวกับผู้เขียน

“ปีย์ชนิตว์ เกษสุวรรณ” เจ้าของนามปากกาว่า “นายปรี๊ด” เป็นนักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา มีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์หลากหลาย เช่น งานเขียนบทความ งานแปลสารคดี ทำสื่อของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ และนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากเรื่องใกล้ตัว









กำลังโหลดความคิดเห็น