สมาชิกกลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพเผยแพร่สถานการณ์การระบาดของ “เครย์ฟิช” กุ้งเอเลี่ยนที่ถูกส่งเสริมให้เลี้ยงตามนาข้าวด้วยฉายาใหม่ว่า “ล็อบสเตอร์น้ำจืด” แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้เป็นเรื่องน่าห่วง หวั่นระบบนิเวศพัง ทำกุ้ง หอย ปู ปลาประจำถิ่นสูญพันธุ์ ทั้งที่เป็นสัตว์น้ำรสชาติจืดชืด ไม่อร่อย ตลาดที่ต้องการมีน้อย
กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม (Siamensis) เสนอสถานการณ์ของกุ้งเครย์ฟิช (Crayfish) ว่าเริ่มระบาดไปตามแหล่งน้ำ อีกทั้งแสดงความเป็นห่วงว่าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นหรือเอเลี่ยนสปีชีส์ชนิดนี้ ที่ถูกส่งเสริมให้เลี้ยงในนาข้าวด้วยฉายาว่า “ล็อบสเตอร์น้ำจืด” จะปรับตัวในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ และรุกรากสิ่งมีชีวิตประจำถิ่นจนสูญพันธุ์
ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สอบถามเพิ่มเติมไปยัง ผศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญและติดตามสถานการณ์กุ้งเครย์ฟิชมาเป็นเวลานานนับ 20 ปี กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของกุ้งเครย์ฟิชอยู่ในระยะน่าเป็นห่วง เพราะเริ่มแพร่กระจายลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เห็นได้จากการโพสต์บอกเล่าเรื่องราวของการพบเจอกุ้งหน้าตาประหลาดคล้ายกุ้งลอบสเตอร์ตามแหล่งน้ำจืดของเมืองไทย ที่พบมากขึ้น
ทว่าเหตุการณ์ดังกล่าวกลับไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดคิด เพราะ ผศ.ดร.อภินันท์ เผยว่าได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เพราะคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรชาวรากหญ้าส่วนใหญ่ จำเป็นต้องคำนึงถึงเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มากกว่าการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
“การระบาดของกุ้งเครย์ฟิชหรือกุ้งลอบสเตอร์น้ำจืดเกิดจากความตั้งใจไม่ใช่การเผลอทำหลุด เพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนมีการเคลื่อนไหวของหลายสื่อ รวมทั้งเกษตรกรเองที่ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชร่วมกับการปลูกข้าวในท้องนาที่เป็นระบบเปิด เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้กุ้งเครย์ฟิชหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งถือว่ารวดเร็วมาก เพราะกุ้งเครย์ฟิชเข้ามาสู่ตลาดปลาสวยงามตั้งแต่ 2539 แต่มักจะถูกเลี้ยงในตู้ปลาไว้ดูเล่นสวยงาม หรือเลี้ยงในบ่อของฟาร์มสำหรับขายเป็นอาหารซึ่งอยู่ในระบบปิด” ผศ.ดร.อภินันท์กล่าว
ผศ.ดร.อภินันท์กล่าวว่า กุ้งเครย์ฟิชในประเทศไทยมีอยู่ 2 สายพันธุ์คือ กุ้งเครย์ฟิชจากสหรัฐฯ ซึ่งถูกนำเข้ามาเพื่อการวิจัย และกุ้งเครย์ฟิชจากออสเตรเลียซึ่งถูกลักลอบเข้ามา โดยกุ้งเครย์ฟิชที่กำลังเกิดปัญหาอยู่ขณะนี้คือกุ้งเครย์ฟิชออสเตรเลีย ซึ่งการแพร่พันธุ์ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติของกุ้งเครย์ฟิชออสเตรเลียเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะเป็นสายพันธุ์ที่กินอาหารได้หลากหลาย ตั้งแต่หอย สาหร่าย ลูกปู ลูกกุ้งด้วยกันเอง หรือแม้กระทั่งตัวอ่อนของแมลงน้ำ ซึ่งถือเป็นตัวควบคุมสมดุลของระบบนิเวศ
“ด้วยความที่เครย์ฟิชออสเตรเลียเป็นสัตว์ในเขตอบอุ่น เมื่อนำมาเลี้ยงในไทยจึงมีข้อได้เปรียบสัตว์น้ำประจำถิ่นบางอย่าง เพราะนอกจากจะขายได้ในราคาที่แพงกว่าแล้ว เครย์ฟิชในเมืองไทยยังออกไข่ได้มากถึงคราวละ 300-400 ฟองแถมยังผสมพันธุ์ให้ลูกได้หลายครั้งในรอบปี มากกว่าแหล่งที่มันเคยอยู่ เพราะสภาพอากาศเอื้ออำนวย ที่น่าห่วงคือมันกินทุกอย่างแม้แต่ตัวอ่อนแมลงน้ำ ซึ่งเป็นอาหารของปลา เราจึงต้องมานั่งคิดกันได้แล้วว่าถ้าวันหนึ่งมันกินอาหารได้เยอะกว่า แย่งที่อยู่อาศัยได้เก่งกว่า ปู กุ้ง ปลา หรือแม้แต่หอยที่อยู่ในกลุ่มประชากรเดียวกัน กินอาหารคล้ายๆ กัน มีการปรับตัวมานับร้อย นับพันปีร่วมกัน จะอยู่ต่อได้อย่างไร แน่นอนว่าคงได้เห็นการสูญพันธุ์แน่ๆ แถมพวกมันยังปรับตัวเก่ง สืบพันธุ์ ออกลูกหลานได้ไวมาก จึงค่อนข้างน่าเป็นห่วง” ผศ.ดร.อภินันท์กล่าว
ผศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.อภินันท์กล่าวว่าปัญหาการระบาดของกุ้งเครย์ฟิชลงสู่ธรรมชาติในประเทศไทย ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาตรการจัดการชัดเจน และยังไม่มีการศึกษาผลลัพธ์ที่ตามมา นักวิทยาศาสตร์จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่า กุ้งเครย์ฟิชออสเตรเลียที่พบในไทยเป็นแค่ “เอเลี่ยนสปีชีส์” (Alien Species) หรือสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (Invasive Alien Species) มีเพียงกรณีศึกษาในกลุ่มประเทศยุโรปและญี่ปุ่นที่ระบุไว้ชัดเจนว่า กุ้งเครย์ฟิชเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์สำหรับประเทศเหล่านั้น เนื่องจากกลุ่มประเทศดังกล่าวมีกุ้งเครย์ฟิชพันธุ์พื้นเมืองซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกรุกราน ในขณะที่ไทยไม่มีกุ้งเครย์ฟิชพื้นเมือง
“ส่วนตัวผมเห็นว่าสิ่งที่น่ากลัวมีอยู่ด้วยกัน 2 ประการคือ การสร้างพันธะสัญญาแบบลูกโซ่ของกลุ่มเกษตรกรที่ถูกพ่อค้าแม่ค้าล่อลวงว่า กุ้งเครย์ฟิชคือลอบสเตอร์ เมื่อเลี้ยงจนโตแล้วจะขายได้ราคาดีถึงตัวละ 2,000-3,000 บาท ซึ่งความจริงเป็นแค่เรื่องลวงโลก นิยายขายฝัน เพราะตลาดของลอบสเตอร์เครย์ฟิชมีแคบมาก และรสชาติก็ไม่ได้ดีเหมือนกุ้งปกติ และอีกประการที่สำคัญมาก คือ เรื่องของสิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจกลับคืน เพราะกุ้งเครย์ฟิชเหล่านี้กินทุกอย่าง และแข็งแรงมากมีโอกาสที่จะรุกรานสัตว์น้ำของเราสูง” ผศ.ดร.อภินันท์ กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์