xs
xsm
sm
md
lg

SuperSci: 10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ “แมงกะพรุน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.ศุภณัฐ ไพโรหกุล ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชวนรู้จัก “แมงกะพรุน” สัตว์โลกตัวบาง ที่ไม่ได้มีดีอยู่แค่ในชามเย็นตาโฟ และไม่ได้ร้ายจนกลายเป็นเพชฌฆาตเสมอไป กับ 10 ข้อควรรู้ที่สรุปมาเพื่อให้ทุกคนเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น



SuperSci สัปดาห์นี้พาทุกคนดำดิ่งลงไปรู้จักกับสัตว์โลกดึกดำบรรพ์อย่าง “แมงกะพรุน” กับผู้เชี่ยวชาญด้เนวิทยาศาสตร์ทางทะเลอย่าง นายวุฒิชัย เจนการ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ ดร.ศุภณัฐ ไพโรหกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวของแมงกะพรุนให้ทุกคนได้ทราบกันแบบละเอียดทุกซอกทุกมุม

1.แมงกะพรุนคืออะไร ?

นายวุฒิชัย เจนการ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า แมงกะพรุน (jellyfish) คือสัตว์รูปร่างคล้ายวุ้น มีทั้งที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดและน้ำเค็ม มีลักษณะเด่นตรงส่วนที่มีลักษณะคล้ายร่มและหนวด โดยหนวดส่วนใหญ่มักมีเข็มพิษ (nematocyst) ที่ถ้าหากไปสัมผัสจะทำให้แสบคันปวดแสบปวดร้อน นักวิทยาศาสตร์ได้แยกแมงกะพรุนแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
Credit Photo : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
 
 
กลุ่มแรกคือ ไซโฟซัว (spyphozoa) ที่จะแบ่งออกได้เป็นกลุ่มย่อย 2 กลุ่ม คือ แมงกะพรุนที่ใช้กิน เช่น แมงกะพรุนหนัง, แมงกะพรุนลอดช่อง ส่วนอีกกลุ่มคือ แมงกะพรุนไฟ ที่มีหนวดยาว มีพิษร้ายแรง
Credit Photo : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
 
 
กลุ่มต่อมา คือ ไฮโดรซัว (hydrozoa) ตัวเด่นๆ คือ โปรตุกีสแมนออฟวอร์ (Portuguese man of war: Blue bottle) แมงกะพรุนพิษแรงที่มักลอยตามผิวน้ำ และแว่นพระอินทร์ แมงกะพรุนตัวกลมหลากสีสันสวยงามทั้งม่วงและน้ำเงิน
Credit Photo : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
 
 
กลุ่มสุดท้ายคือ คิวโบซัว (Cubozoa) ที่จะแบ่งออกเป็นอีก 2 กลุ่มย่อย คือ คิวโบซัวชนิดมุมตัวด้านหนึ่งมีหนวดหลายเส้น อาทิ แมงกะพรุนกล่อง (box jellyfish) ที่จะให้พิษเร็ว อาจทำให้เหยื่อตายได้ภายใน 2-10 นาทีเพราะพิษจะเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตทำให้เม็ดเลือดแดงแตกตัว และคิวโบซัวชนิดมุมตัวมีหนวดเส้นเดียว อาทิ แมงกะพรุนอิรุคันจิ (Irukandji) แมงกะพรุนมีพิษร้ายแรงเทียบเท่าแมงกะพรุนกล่อง ต่างที่พิษจะออกฤทธิ์ก็ต่อเมื่อสัมผัสแล้ว 20 นาที

 
2.แมงกะพรุนยิงพิษเข้าสู่เหยื่อได้อย่างไร ?
 
รองอธิบดีฯ ระบุว่า แมงกะพรุนแทบทุกตัวมีพิษ และมีพิษทั้งตัว จะมากที่สุดบริเวณหนวด ส่วนที่หัวร่มก็มีแต่น้อย พิษจะแรงหรือไม่แรงขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยบางสายพันธุ์ที่มีพิษมากในพื้นที่ 1 ตารางนิ้วของหนวดอาจมีเข็มพิษได้มากกว่า 1 ล้านอันซึ่งมีขนาดเล็กมากจนตาเปล่ามองไม่เห็น โดยมีกลไกการแทงเข็มพิษ ที่เรียกว่า นีมาโทซิส (nematocyst )เหมือนกับ “ไกปืน” ที่เป็นหัวรับสัมผัสยื่นออกมา จากเซลล์ที่เรียกว่า “ไนโดไซต์” (cnidocyte) หากเหยื่อไปสัมผัสหรือสะกิดแมงกระพรุนเพียงเล็กน้อย เข็มก็จะถูกยิงออกมา


3.แมงกะพรุนทุกชนิดมีพิษถึงตายหรือไม่

ดร.ศุภณัฐ ตอบคำถามนี้ทันทีว่า “ไม่จริง” แม้แมงกะพรุนทุกตัวจะมีพิษทำให้ปวดแสบ ปวดร้อนหรือคันแต่ก็ไม่ทำให้ถึงตาย มีแมงกะพรุนเพียงแค่ 2 ชนิดเท่านั้นที่พิษรุนแรงทำให้ถึงตายได้ คือ แมงกะพรุนกล่อง และแมงกะพรุนอิรุคันจิ ซึ่งแมงกะพรุนกล่องนี่เองที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในไทยเพราะพบได้ง่ายในแถบอ่าวไทย ในขณะที่อิรุคันจิจะพบได้ยากกว่ามาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่แต่ละบุคคลด้วย หากคนไหนมีอาการแพ้มากก็อาจเสียชีวิตได้เช่นกัน แม้จะไม่ใช่พิษจากแมงกะพรุน 2 ชนิดแรก

นายวุฒิชัยได้เผยสถิติผู้เสียชีวิตจากพิษแมงกะพรุนที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลจากจากโรงพยาบาลต่างๆ ในเขตชายฝั่งทะเลตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบันว่า ขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิตแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ราย โดยเกาะพะงัน จ.พังงา เป็นพื้นที่ที่มีผู้เสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่องมากเป็นอันดับหนึ่ง คือ มากถึง 4 ราย ตามมาด้วยทะเลเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และทะเล จ.กระบี่ ซึ่งเหตุสลดที่เกิดล้วนเกิดขึ้นในหน้าฝนตั้งแต่เดือน เม.ย.-ต.ค.
Credit Photo : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
4.แมงกะพรุนกินได้ไหม?

“ผมเชื่อว่าคุณเคยกินแมงกะพรุนในเย็นตาโฟ เพราะฉะนั้นแน่นอนว่ามันกินได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะกินแมงกะพรุนได้ทุกชนิด” ดร.ศุภณัฐกล่าว พร้อมอธิบายต่อว่า แมงกะพรุนที่นิยมกินเป็นอาหาร มีชื่อว่า แมงกะพรุนลอดช่อง เป็นแมงกะพรุนขนาดกลางมีพิษอ่อน หาได้ง่ายทั่วไปตามแนวชายฝั่งท้องทะเลปกติ
นายวุฒิชัยเพิ่มเติมว่าในช่วงหน้ามรสุมฝั่งอ่าวไทยบริเวณ จ.สุราษฎร์ธานีจะพบแมงกะพรุนลอดช่องจำนวนมากจนเกิดเป็นการประมงแมงกะพรุนสำหรับการส่งออกไปยังประเทศจีนเพื่อทำอาหาร และส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพื่อใช้ผลิตเป็นอาหารเสริมคอลลาเจนที่หญิงสาวนิยมรับประมานเพื่อความสวยความงาม ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้ว่าไทยเป็นผู้ส่งออกแมงกะพรุนมากเป็นอันดับ 7 ของโลก


5.แมงกะพรุนที่มีข่าวว่าพบเยอะทุกปี คืออะไร

ในแต่ละปีในช่วงปลายฤดูร้อน ต้นฤดูฝนจะเป็นช่วงที่พบแมงกะพรุนมากที่สุด นับหมื่นหรือแสนตัวลอยอยู่ที่ระดับผิวน้ำ เช่นปีนี้ที่เกิดขึ้นใน จ.ตราด นักวิทยาศาสตร์เรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า แมงกะพรุนบลูม (bloom) ที่แปลว่ามีมาก โดยสกุลที่พบบ่อยที่สุดคือ Catostylus sp. ส่วนสาเหตุการเกิดยังไม่มีคนทราบว่าเกิดเพราะอะไร แต่น่าจะเป็นเพราะช่วงนั้นปริมาณอาหารในท้องทะเลมีมาก แมงกะพรุนจึงเพิ่มขึ้นตามกลไกธรรมชาติ
สำหรับประเทศไทยพบแมงกะพรุนได้ทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยฝั่งอ่าวไทยจะพบแมงกะพรุนมากในช่วงเดือน ก.ค. ถึง ก.ย.และในฝั่งอันดามันจะมาในช่วงรอยต่อฤดูร้อนและฤดูฝนคือในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. หรือบางปีอาจยาวไปจนถึง พ.ย. เลยก็มี

6.แมงกะพรุนที่ตัวใหญ่ที่สุด ในโลกใหญ่ขนาดไหน?

จากการค้นพบที่มีการบันทึกไว้ แมงกะพรุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ แมงกะพรุนไลออนเมน หรือ ไซยาเนีย (Cyanea) ที่มีความยาวส่วนหัวมากถึง 40 เมตร และหนวดยาวได้ถึง 37 เมตร


7.แมงกะพรุนที่ตัวเล็กที่สุด
คือ แมงกะพรุนอิรุคันจิ (irukandji) มีขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตรหรือเล็กเพียงเมล็ดถั่วเท่านั้น ในขณะที่ความเป็นพิษอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกเพราะพิษของมันทำให้ถึงตายได้
Credit Photo : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
 
8. แมงกะพรุนตัวที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก
 
แมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก เป็นแมงกะพรุนขนาดกลางขนาดประมาณฝ่ามือ ที่ ดร.ศุภณัฐ เผยว่าเป็นแมงกะพรุนกล่อง สายพันธุ์ไคโรเนกซ์ เฟลกเคอไร (Chironex fleckeri) ซึ่งถูกบันทึกให้เป็นสัตว์ใน 10 อันดับที่มีพิษร้ายที่สุดในโลก เพราะถ้าหากไปสัมผัสจะทำให้เหยื่อตายแน่นอนภายใน 10-15 นาที โดยผู้ที่โดนจะมีอาการจุกเสียด หายใจติดขัด จนเสียชีวิตในที่สุด เพราะน้ำพิษของแมงกะพรุนมีฤทธิ์ทำลายเม็ดเลือดแดงที่มีประสิทธิภาพสูง

9.ถ้าเจอแมงกะพรุนควรทำอย่างไร?

นายวุฒิชัย กล่าวว่า ทางที่ดีที่สุดคือ ตั้งสติแล้วขึ้นจากน้ำให้พ้นบริเวณ เพราะถึงแม้แมงกะพรุนจะตายแล้ว แต่หนวดของแมงกะพรุนยังปล่อยพิษได้อยู่ได้อีกนานประมาณ 6-10 ชั่วโมง และแนะนำให้แต่งกายแบบระมัดระวัง เช่น ชุดดำน้ำแขนยาวขายาวในช่วงแมงกะพรุนบลูม เพราะเข็มพิษของแมงกะพรุนในความจริงมีขนาดเล็กมากระดับมิลลิเมตร แค่เพียงถุงน่องบางๆ ก็ไม่สามารถยิงผ่านได้ และข้อสำคัญคือไม่ควรใช้มือเปล่าสัมผัสแมงกะพรุนเด็ดขาดเพราะแม้แต่ส่วนหัวที่ดูเรียบเกลี้ยงเกลาก็มีเข็มพิษซ่อนอยู่

10.ถ้าโดนแมงกะพรุนจะต้องปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร?

ดร.ศุภณัฐ เผยว่าวิธีมาตรฐานคือราดบริเวณที่สัมผัสด้วยน้ำส้มสายชู หรือใช้น้ำทะเลราด ห้ามใช้น้ำเปล่าล้างเด็ดขาด เพราะน้ำเปล่า จะกระตุ้นให้เข็มพิษแทงออกมามากขึ้น ซึ่งนายวุฒิชัยอธิบายว่า น้ำส้มสายชูจะเข้าไประงับให้เข็มพิษส่วนที่ยังไม่ทำงานให้ไม่ทำงาน ไม่ได้ทำให้เข็มพิษหลุดหรือสลายไปอย่างที่คนส่วนมากเข้าใจ ดังนั้นเมื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วจึงควรรีบนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลทันที แต่ทั้งนี้ นายวุฒิชัยยังระบุด้วยว่า การใช้น้ำส้มสายชูจะให้ผลการรักษาดีเฉพาะกับพิษแมงกะพรุนประเภท ไซโฟซัว และ คิวโบซัวเท่านั้น แต่สำหรับแมงกะพรุนกลุ่มไฮโดรซัวโดยเฉพาะโปรตุกีสแมนออฟวอร์ การราดน้ำส้มสายชูจะยิ่งกระตุ้นให้เข็มพิษทำงานได้ดีขึ้น ทางที่ดีจึงควรรู้จักแมงกะพรุนเบื้องต้นและสังเกตป้ายเตือนสถานการณ์แมงกะพรุนบริเวณชายหาดก่อนลงเล่นน้ำ

นอกจากนี้นายวุฒิชัยบอกวิธีสังเกตแมงกะพรุนง่ายๆ ว่าตัวที่มีพิษร้ายมักมีหนวดยาวรุ่มร่าม แต่ก็ไม่เสมอไปทางที่ดีอย่าเล่นน้ำทะเลบริเวณที่เป็นฟองคลื่นเพราะจะมีโอกาสพบกับแมงกะพรุนและงูทะเลได้มากกว่าบริเวณอื่น
ทั้งนี้ นายวุฒิชัย ยังคาดการณ์ด้วยว่าขณะนี้ปริมาณของแมงกะพรุนในทะเลไทยกำลังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแมงกะพรุนกล่องที่ได้รับการแจ้งเตือนว่าพบบ่อยครั้งจนต้องมีหน่วยงานออกจัดเก็บเพื่อระวังความปลอดภัยให้ประชาชน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องของระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารที่เปลี่ยนไปจากเดิม

“เพราะในธรรมชาติแมงกะพรุนเป็นอาหารของเต่าทะเล ซึ่งขณะนี้เหลืออยู่น้อยมาก เพราะหญ้าทะเลซึ่งเป็นทั้งอาหารและที่อยู่ของมันลดลง เมื่อผู้บริโภคมีน้อยปริมาณแมงกะพรุนจึงมีมากเกินปกติ จนท้ายที่สุดมนุษย์เองก็กลายเป็นผู้รับเคราะห์ การรักษาระบบนิเวศ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงเป็นหนทางที่ประชาชนทุกคนควรจะช่วยกัน และขณะนี้ในส่วนของ ทช.เองที่ดูแลเกี่ยวกับองค์ความรู้ทั้งหมดในทะเล ก็ได้ร่วมมือกับสำนักระบาดวิทยาเพื่อศึกษาพิษและข้อมูลทางชีววิทยาของแมงกะพรุนในท้องทะเลไทยให้มากขึ้น รวมไปถึงแนวทางในการนำแมงกะพรุนไปใช้ประโยชน์ในกรณีที่มีการบลูมมากเกินไปด้วย” นายวุฒิชัย กล่าวทิ้งท้าย
นายวุฒิชัย เจนการ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ดร.ศุภณัฐ โชว์แมงกะพรุนสกุล  Catostylus sp. ที่มักพบบ่อยในตอนแมงกะพรุนบลูม








กำลังโหลดความคิดเห็น