ชมความงาม “ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์” ฝนดาวตกที่คนไทยตั้งฉายาว่า “ฝนดาวตกวันแม่” ซึ่งมีจำนวนสูงสุดคาบเกี่ยวในคืนวันที่ 12 ส.ค. และเป็นปรากฏการณ์ที่ชาวแถบซีกโลกเหนือให้ความสนใจ เพราะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน ขณะที่เมืองไทยอยู่ในช่วงฤดูฝนที่ต้องรอลุ้นท้องฟ้าโปร่ง
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ระบว่า ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseids) เป็นปรากฏการณ์ฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ โดยสังเกตเห็นได้ทุกปีระหว่างวันที่ 17 ก.ค.-24 ส.ค. และเกิดฝนดาวตกมากสุดในช่วงวันที่ 12-13 ส.ค. ซึ่งคาดว่ามากถึง 100 ดวงต่อชั่วโมงในช่วงเกิดสูงสุด
ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์มีจุดศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวเพอร์เซอุส (Perseus) มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทั่วทุกภาคของไทย ทว่าในช่วงเกิดปรากฏการณ์นี้เป็นช่วงฤดูฝนของไทย แต่นายศุภฤกษ์ระบุว่า ประชาชนในซีกโลกเหนือให้ความสนใจต่อฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์มาก เนื่องจากในแถบซีกโลกเหนือเป็นช่วงฤดูร้อน
ทั้งนี้ ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจรเมื่อ 20 ปีก่อน เมื่อโลกโคจรผ่านเข้าไปบริเวณที่มีเศษฝุ่นเหล่านี้ จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ สังเกตเห็นฝุ่นของดาวหางลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบ