xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก "พรบ.สัตว์ทดลอง"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประเด็นร้อนกรณี “นิสิตหนุ่มต่อกระดูกสัตว์เป็นงานอดิเรก” ทำให้หลายคนตื่นตัวและอยากทำความรู้จัก “พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558” อีก พรบ.สำคัญของคนทำงานด้านวิทย์ที่เรียกได้ว่าเพิ่งคลอดและบังคบใช้แบบสดๆร้อนๆเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ส่วนจะมีเนื้อหาใจความอย่างไรทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้รวบรวมมานำเสนอ

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2558 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติ แห่งชาติให้ตรา “พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558” และมีผลบังคับใช้180 วันหลังประกาศพระราชบัญญัติ ทว่า พรบ.ฉบับนี้กลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ในโอกาสที่ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงได้ประมวลหลักใหญ่ใจความที่ผู้เกี่ยวข้องควรรู้มานำเสนอ

ผศ.ดร.ประดน จาติกวนิช ผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ กล่าวว่า พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า พรบ.สัตว์ทดลอง เป็น พรบ.ที่คณะกรรมการศูนย์สัตว์ทดลอง ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิได้ดำเนินการร่างและผลักดันด้วยการทำประชาพิจารณ์ร่างเป็นทอดๆ มาไม่ต่ำกว่า 10 ปี โดยเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2558 ที่ผ่านมา

ผศ.ดร.ประดน อธิบายว่า สัตว์ทดลองลองหมายถึงสัตว์กระดูกสันหลังทุกชนิดยยกเว้นคน และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางชนิด ที่มีการเลี้ยงหรือการนำมาใช้เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พรบ.สัตว์ทดลองจึงมีบทบาทควบคุมงานอะไรก็ตามที่มีการนำสัตว์ทดลองมาใช้ทั้งในแง่ของงานวิจัย งานทดสอบ งานผลิตชีววัตถุ งานสอน หรืองานดัดแปลงพันธุกรรม ให้ผู้ทำงานกับสัตว์ทดลองปฏิบัติต่อสัตว์ด้วยความเมตตา ดูแลสัตว์ให้มีสุขภาพดี ไม่ติดเชื้อ หรือหากจำเป็นต้องฆ่าให้ตายก็ต้องทำด้วยวิธีสากลที่กำหนดไว้ เพื่อให้สัตว์ทรมานน้อยที่สุด

การดำเนินการต่อสัตว์ด้านการพัฒนาสายพันธุ์ การเพาะสายพันธุ์ การศึกษาเซลล์ต้นกำเนิดและอื่นๆ ตามที่ พรบ.กำหนด ผศ.ดร.ประดน เผยว่า หัวหน้าโครงการจะต้องแจ้งการดำเนินงานต่อกรรมการควบคุมของต้นสังกัด และจะต้องดำเนินการโดยผู้มีใบอนุญาตเท่านั้น ซึ่งผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตจะต้องเข้าอบรมกับสถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (สพสว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นเวลา 2 วัน และทำสอบข้อเขียนให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจึงจะได้รับใบอนุญาต ที่มีอายุใช้งาน 4 ปี ซึ่งขณะนี้มีผู้ได้รับใบอนุญาตทั่วประเทศแล้วประมาณ 3,000 คนโดยส่วนใหญ่เป็นบุคคลากรในแวดวงการศึกษา

ผศ.ดร.ประดน เผยว่า ข้อดีของการที่ประเทศไทยมี พรบ.สัตว์ทดลอง มีหลายประการที่ชัดเจนที่สุดคือ การสร้างความตระหนักถึงจรรยาบรรณของผู้ใช้สัตว์ ให้มีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ พรบ.ยังเป็นดั่งมาตรฐานรับรองที่ทำให้สากลเชื่อว่าผลวิจัย หรือสัตว์ทดลองจากประเทศไทยมีมาตรฐาน มีการควบคุมดูแลอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมให้งานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติมากขึ้น อันจะส่งผลถึงระดับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยในเวทีโลก นอกจากนี้การมีกฎหมายควบคุมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรยังทำให้กลุ่มผู้พิทักษ์สัตว์ต่างๆ เกิดความมั่นใจ และเป็นการแสดงออกให้เห็นว่าที่ผ่านมาคณะกรรมการศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติไม่เคยนิ่งเฉยต่อการร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้สัตว์ทดลอง

อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.ประดน เผยว่า พรบ.สัตว์ทดลองยังคงมีช่องโหว่ในหลายๆ ด้าน เช่น ชนิดพันธุกรรมสัตว์ที่ในบางครั้งนักวิจัยจำเป็นต้องใช้ แต่อยู่นอกเหนือจาก พรบ. ซึ่งในข้อนี้ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการควบคุมสัตว์ทดลองต้นสังกัดว่าจะอนุโลมได้หรือไม่ และอีกช่องโหว่ที่ใหญ่ที่สุด คือในส่วนหนี่งของ พรบ.บัญญัติไว้ว่าผู้ที่จะใช้สัตว์ทดลองในงานสอน จำเป็นต้องได้รับการอบรมและขอใบอนุญาตจาก สพสว. ซึ่งกระทำได้ยาก ในกรณีผู้สอนเป็นครูที่กระจายตัวอยู่ตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะการอบรมและสอบใบอนุญาตแต่ละครั้งคณะกรรมการ สพสว. สามารถไปจัดสอบได้แค่เพียงจังหวัดใหญ่ๆ ตามภูมิภาคและการสอบมีค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจเป็นภาระที่มากเกินไปของครูในชนบท

“เมื่อก่อนเราใช้แค่จรรยาบรรณ ทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่าควรจะต้องทำอย่างไรกับสัตว์ทดลอง แต่ตอนนี้มี พรบ. ทำให้ทุกอย่างดูเป็นทางการมากขึ้น ซึ่งจุดนี้จะส่งผลดีทั้งในแง่ความเชื่อถือของต่างประเทศและการควบคุมเอาผิด แต่ไม่อยากให้มองว่า สพสว.ตั้งตัวเป็นตำรวจสัตว์ทดลอง เราไม่ได้จ้องจับผิดใคร แต่สิ่งที่เราต้องการคือให้ทุกคนที่ทำงานกับสัตว์ทดลองปฏิบัติในระเบียบเพราะสัตว์ทดลองก็เป็นสิ่งมีชีวิต มีจิตใจ ไม่ต่างไปจากเรา” ผศ.ดร.ประดน กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

อ่าน พรบ.สัตว์ทดลองฉบับเต็มที่ >> พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558

อ่านระเบียบการสอบและข้อมูลเกี่ยวกับใบอนุญาต >> การขอรับใบอนุญาตใช้งานสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์
ผศ.ดร.ประดน จาติกวนิช ผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ









กำลังโหลดความคิดเห็น