xs
xsm
sm
md
lg

"ต่อกระดูกสัตว์" รากความรู้ในเงาทารุณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โครงกระดูกสัตว์ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลังพฤติกรรมความนิยมชมชอบ "การต่อกระดูกสัตว์" ที่ออกจะพิลึกพิลั่นของนิสิตหนุ่มคนหนึ่งถูกแพร่ออกไป หลายสายตาที่จับจ้องมายังนักชีววิทยาก็ไม่เหมือนเดิม บ้างก็ถูกเหมารวมว่าโรคจิต บ้างก็ถูกหางเลขว่าทารุณสัตว์ ทั้งที่ความจริงแล้วอาจไม่ใช่ หากแต่เป็นความจำเป็นในความจำใจเพื่อแลกกับความรู้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในโลก

เพื่อทำความเข้าใจกับวิธีการศึกษาเชิงนี้ให้มากขึ้น ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงได้เดินทางไปยังภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในสถานศึกษาที่ยังคงมีการเรียน การสอนเกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์เบื้องต้นด้วยวิธี "ต่อกระดูก" เพื่อพูดคุยถึงหลักปฏิบัติและประโยชน์ที่ได้รับกับผู้เชี่ยวชาญ

ดร.ธนะกุล วรรณประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกายวิภาคศาสตร์ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง กล่าวว่า การศึกษากายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) ด้วยวิธีการต่อกระดูกเป็นการเรียนการสอนที่ทำกันทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสำหรับภาควิชาฯ เอง ก็ได้ดำเนินการเรียนการสอนในรูปแบบนี้มาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี

ดร.ธนะกุล เผยว่า วัตถุประสงค์ของการต่อกระดูก เพื่อให้นิสิตได้ศึกษาระบบโครงร่าง (Skeletal system) ของสัตว์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทางกายวิภาคศาสตร์อันเป็นองค์ความรู้พื้นฐานของวิทยาศาสตร์ชีวภาพหลายสาขา โดยเฉพาะนิสิตที่ต้องการศึกษาต่อทางด้านสรีรวิทยา, ชีววิทยาการแพทย์ หรือแม้แต่ทางด้านของพฤติกรรมและวิวัฒนาการของสัตว์ โดยจะบรรจุอยู่ในรายวิชากายวิภาคศาสตร์พื้นฐาน (Basic Anatomy) และวิชาสัตว์มีกระดูกสันหลัง (Vertebrate) ซึ่งจะเปิดเพียงปีการศึกษาละ 1 ครั้ง เป็นวิชาบังคับสำหรับนิสิตระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 3

สำหรับการต่อกระดูกสัตว์ ดร.ธนะกุล เผยว่าโดยทั่วไปจะแบ่งสัตว์มีกระดูกสันหลังออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ ปลา, สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก, สัตว์เลื้อยคลาน, สัตว์ปีก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม โดยจะใช้วิธีการโดยทั่วไป คือ เริ่มต้นด้วยการลอกหนังและกล้ามเนื้อออก, จากนั้นจึงล้างและฟอกกระดูกให้สะอาดและขาว แล้วทำการต่อโครงกระดูก ก่อนจะส่งให้อาจารย์ซักถามความเข้าใจและพิจารณาให้คะแนนตามความถูกต้อง, ความสะอาดและความคิดสร้างสรรค์ โดยมีข้อกำหนดชัดเจนว่าสัตว์ที่นำมาใช้จะต้องเป็นสัตว์ที่ตายแล้ว โดยอาจเป็นซากสัตว์ตายที่พบโดยบังเอิญ หรือซากสัตว์ที่ทำเรื่องขอมาจากหน่วยงานต่างๆ ไม่มีการสนับสนุนให้ซื้อมาฆ่า หรือฆ่าสัตว์ด้วยตัวเองอย่างเด็ดขาด

เมื่อนิสิตส่งผลงานแล้ว ดร.ธนะกุล เผยว่า กระดูกที่ต่อได้ถูกต้องและสวยงามจะถูกส่งเข้าจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ของตึกชีววิทยา 1 ของภาควิชาฯ หรือนำไปบริจาคให้กับมหาวิทยาลัยอื่นเพื่อการศึกษา ส่วนกระดูกที่ต่อได้ถูกต้องแต่สวยงามรองลงมาจะถูกนำมาใช้สำหรับการสอนในภาคทฤษฎีและวิชาอื่นๆ ส่วนกระดูกที่ผุพังหรือเสียหายมากจนซ่อมแซมไม่ได้จะถูกคัดทิ้งไปตามขั้นตอน

"เราจะย้ำเสมอว่าให้ใช้สัตว์ที่ตายแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฆ่าใหม่ เพราะเป็นการผิดจรรยาบรรณการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เราไม่ได้ต้องการความสดใหม่ เราต้องการแค่โครงกระดูก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะฝึกฝนให้นิสิตเรียนรู้ลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์จากโครงกระดูกจริง  สามารถเชื่อมโยงกับการเรียนภาคทฤษฏีได้ รวมถึงเรียนรู้ขั้นตอนและเสริมประสบการณ์ในการต่อโครงกระดูก" ดร.ธนะกุล กล่าว

ดร.ธนะกุล เผยขณะเดินนำชมตัวอย่างโครงกระดูกสัตว์ซึ่งเป็นผลงานของนิสิตว่า การทำงานเกี่ยวกับสัตว์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องง่าย มีระเบียบและแบบแผน เพราะปัจจุบันมีพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2558 ควบคุม โดยจะแบ่งส่วนเป็นการใช้สัตว์เพื่อการสอน, การใช้สัตว์เพื่อการวิจัย และการเลี้ยงสัตว์ทดลอง ซึ่งผู้ที่จะทำงานในลักษณะดังกล่าวได้จะต้องเป็นผู้สอบได้ใบอนุญาตใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ตามที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 2558 โดยจะต้องเข้าอบรมกับสถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (สพสว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นเวลา 2 วันและสอบทฤษฎีให้ผ่านตามเกณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่มีใบอนุญาตจะเป็นอาจารย์ที่ใช้สัตว์ในการเรียนการสอน, เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่นิสิตนักศึกษาทุกคน การต่อกระดูกสัตว์จึงมักให้มีการดำเนินงานภายในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย โดยมีอาจารย์หรือผู้ช่วยอาจารย์คอยควบคุม

นอกจากจะต้องมีใบอนุญาตใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์แล้ว ดร.ธนะกุลเผยว่าการดำเนินการใช้สัตว์ทดลองเพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ยังต้องมีคณะกรรมการกลางของคณะคอยตรวจสอบด้วยว่าวิชาอะไรต้องใช้สัตว์ชนิดใด, ใช้เพื่ออะไร, ใช้กี่ตัว, มีสิ่งอื่นทดแทนได้หรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ผ่านการพิจารณาก็จะไม่สามารถใช้สัตว์ทดลองหรือเปิดการสอนรายวิชานั้นๆ ได้ และถ้ามีการการุณยฆาตก็จะต้องทำให้ถูกวิธีตามคู่มือระดับสากลที่กำหนดไว้เช่น สัตว์จำพวกหนูอาจใช้สารเคมีฉีดเข้าช่องท้อง หรือสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจะใช้การรมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้สัตว์ทรมานน้อยที่สุด และยังคงรักษาสภาพของอวัยวะภายในได้

สำหรับความกังวลต่อการใช้สัตว์ทดลองในอนาคตที่อาจยุ่งยากขึ้น ดร.ธนะกุล เผยว่า ทางจุฬาฯ ไม่น่าจะมีกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับใดๆ เพิ่มเติมเพราะปกติการทดลองหรือกระทำการใดๆ ต่อสัตว์ทดลองถือเป็นเรื่องสำคัญและให้ความเข้มงวดมาโดยตลอด ซึ่งโดยปกติจะดำเนินการภายใต้หลัก 3Rs คือ Refinement การปรับปรุงวิธีการปฏิบัติต่อสัตว์ให้เหมาะสม, Replacement การหลีกเลี่ยงหรือใช้สิ่งอื่นทดแทนการใช้สัตว์ เช่น ใช้แบบจำลองในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือโมเดล 3 มิติ ในการสอน และ Reduction คือการใช้จำนวนสัตว์ทดลองให้น้อยลงแต่ยังคงประสิทธิภาพของการสอนและการวิจัยไว้ เช่นเดิมอาจใช้กระต่าย 1 ตัวต่อผู้เรียน 3คนมาเป็นกระต่าย 1 ตัวต่อเด็ก 8 คน เป็นต้น

"ตัวผมเองก็เลี้ยงทั้งสุนัขและกระต่าย เห็นข่าวแล้วค่อนข้างสะเทือนใจ เห็นกันอยู่ว่าถ้าเด็กเขาทำจริงก็บาปทั้งทางศาสนาและผิดทั้งทางจรรยาบรรณการใช้สัตว์ แต่ก็ไม่อยากให้เหมาว่านักชีวะทั้งหมดเป็นนักฆ่า อยากให้ดูที่เจตนา วัตถุประสงค์และความจำเป็นมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ยาหลายชนิดที่คนใช้กัน ก่อนจะนำมาใช้ในคนได้ ก็ต้องผ่านการศึกษาในสัตว์ทดลองมาก่อน แล้วเรื่องจรรยาบรรณการใช้สัตว์ก็เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งโลกคำนึงถึง มิเช่นนั้นคงไม่มีกฎระเบียบมากมายขนาดนี้ แต่ถ้าถามว่าอยากทำไหม ไม่อยากทำนะ แต่มันจำเป็นเพราะมันคือการศึกษาที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราก็แทนคุณด้วยการพยายามสอนเด็กให้ดีที่สุดและภาควิชาก็จัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่สัตว์ทดลองเป็นประจำทุกปี" ดร.ธนะกุล กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
โครงกระดูกสัตว์ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โครงกระดูกแมวที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ฯ
โครงกระดูกแมวที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ฯ
โครงกระดูกแมวที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ฯ
โครงกระดูกปลาที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ฯ
โครงกระดูกจระเข้ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ฯ
โครงกระดูกไก่ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ฯ
โครงกระดูกเต่าที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ฯ
โครงกระดูกควายที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ฯ
ดร.ธนะกุล วรรณประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย









กำลังโหลดความคิดเห็น