xs
xsm
sm
md
lg

จากกรณี "นิสิตต่อกระดูกแมว" ผู้เชี่ยวชาญชี้ใช้สัตว์ทดลองต้องมีใบอนุญาต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จากกรณีนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง โพสต์ภาพกระดูกแมวพร้อมคำบรรยายทำนองว่า นำแมวมาจากข้างบ้านโดยที่เจ้าของไม่ทราบ แม้โดนตำหนิว่าป่าเถื่อนและโหดร้าย แต่สุดท้ายได้นำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของคนบนโลกโซเชียลที่กำลังทวงถามถึงความเหมาะสมและการบังคับใช้พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงต่อสายตรงไปยัง ผศ.ดร.ประดน จาติกวนิช ผู้บริหารศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ, รศ.สพ.ญ.ดร.อัจฉริยา ไศละสูต อาจารย์ประจำภาควิชาพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพูดคุยถึงหลักจริยธรรมการใช้สัตว์ทดลองและพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2558 (พรบ.สัตว์ทดลอง) จากกรณีที่เกิดขึ้น

ผศ.ดร.ประดน กล่าวว่า กรณีที่นิสิตที่ใช้แมว, กระต่าย หรือสัตว์อื่นๆ มาทำเป็นโมเดลโครงกระดูกยังไม่สามารถตัดสินได้ว่าผิดหรือถูก เพราะยังไม่มีคำยืนยันจากการสอบสวนอย่างเป็นทางการ แต่ปกติการทำงานทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องใช้สัตว์ทดลองจะต้องมีการขออนุญาตอย่างชัดเจน และทำโดยผู้มีใบอนุญาตด้านการทำงานกับสัตว์ทดลอง หรือทำภายใต้การควบคุมของผู้เชี่ยวชาญหรือสัตวแพทย์ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ พรบ.สัตว์ทดลอง

ผศ.ดร.ประดน อธิบายว่า การนำสัตว์ทดลองมาใช้จะต้องคำนึงถึงสุขภาพทั้งกายและใจของสัตว์ ต้องดูแลให้สัตว์มีสุขภาพดี ไม่ติดเชื้อโรค ไม่กระทำการทรมาน หรือหากท้ายที่สุดต้องทำการการุณยฆาตก็ต้องทำตามวิธีที่กำหนดไว้เพื่อให้สัตว์ได้รับความเจ็บปวดทรมานในระยะสั้นและน้อยที่สุด และที่สำคัญต้องเป็นการได้สัตว์มาอย่างถูกวิธี

"ปกติคนที่จะทำงานประเภทนี้ได้ต้องมีใบอนุญาตใช้สัตว์ทดลอง ซึ่งผมคิดว่าเด็กคนนี้ไม่น่าจะมี เขาคงไม่รู้ว่าต้องขออนุญาต และถ้าวิธีการฆ่าเป็นจริงตามที่เขาตอบโต้กับเพื่อนในเฟซบุ๊กจะเข้าข่ายทรมานสัตว์ด้วย แต่ผมว่าเราก็ยังไม่ควรไล่ประณาม ควรสอบถามให้รู้ชัดเสียก่อน ว่าที่ทำทำไปเพื่ออะไร เป็นการทำเพื่อโครงการวิจัยศึกษาหรือไม่ ถ้าใช่ก็ต้องดูไปที่โครงการโครงการ ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการและอาจารย์ผู้รับผิดชอบ จะอยู่ดีๆ มาฆ่าเพราะความชอบมันคงไม่ถูก แต่ก็เป็นบทเรียนที่ดีที่จะทำให้หน่วยงานต่างๆ เห็นความสำคัญของการใช้สัตว์ทดลองมากขึ้น" ผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติกล่าว

เช่นเดียวกับ รศ.สพ.ญ.ดร.อัจฉริยา ไศละสูต อาจารย์ประจำภาควิชาพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวว่า ตามปกติการใช้สัตว์เพื่อการศึกษา สัตว์ตัวนั้นจะถูกเรียกว่าสัตว์ทดลอง ซึ่งผู้ที่ทำงานกับสัตว์ทดลองทุกคน จำเป็นต้องทำตามข้อบัญญัติของ พรบ.สัตว์ทดลองอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้นจะถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งในกรณีนิสิตคนนี้ถือว่าผิดหลักและยังอาจเข้าข่ายลักทรัพย์ผู้อื่นด้วยหากแมวที่นำมาทำเป็นแมวของข้างบ้านจริง อย่างไรก็ดีต้องได้ฟังข้อสรุปจากเด็กและภาควิชาก่อนจึงจะพิจารณาได้มากกว่านี้

ในส่วนของ รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การใช้สัตว์ทดลองนั้นจะดำเนินการสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ เพราะปัจจุบันมี พรบ.สัตว์ทดลอง 2558 ควบคุมอยู่ โดยพรบ.ได้กำหนดไว้ว่าผู้ที่จะนำสัตว์ทดลองมาใช้เพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัย, การเรียนการสอน จะต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์ ใช้สัตว์อย่างถูกต้องตามขั้นตอน ใช้เท่าที่จำเป็น และก่อนที่จะเปิดรายวิชาหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ของทุกคณะ ทุกภาควิชาจะต้องผ่านการอนุญาตจากคณะกรรมการการใช้สัตว์ทดลองของสถาบันนั้นๆ ก่อน ที่ผู้ใช้จะต้องระบุให้ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรว่า จะใช้สัตว์ทดลองอะไร, เพื่ออะไร, ใช้กี่ตัว, ใช้อย่างอื่นทดแทนได้ไหม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควร

นอกจากนี้ รศ.น.สพ.ปานเทพ ยังระบุด้วยว่า การสอนให้ผู้เรียนตระหนักถึงคุณค่าของสัตว์ทดลองก็เป็นสิ่งสำคัญ และต้องเน้นย้ำให้กระทำกับสัตว์ด้วยความอ่อนโยน ไม่ทำให้สัตว์เจ็บปวด หรือถ้าหากจำเป็นต้องการุณยฆาตก็ต้องทำให้ถูกวิธีและใช้ให้เกิดประโยชน์สุงสุด

"สำหรับบทลงโทษ ส่วนตัวยังไม่ขอด่วนสรุปเพราะไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าผู้ที่จะทำงานกับสัตว์ทดลองได้ต้องเป็นผู้ที่มีอนุญาตใช้สัตว์ทดลองและมีจรรยาบรรณซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ต้องสั่งสอน และคาดว่าหากมีการเอาผิดจริงและนิสิตคนดังกล่าวมีการทำผิดตามที่ระบุจริงน่าจะได้รับโทษหลายกระทง เพราะการทำผิดพรบ.สัตว์ทดลอง2558 เป็นความผิดโทษคดีอาญา และยังเข้าข่ายผิดพรบ.คุ้มครองสัตว์ และคดีลักทรัพย์ด้วย" รศ.น.สพ.ปานเทพ กล่าวทิ้งท้าย
ผศ.ดร.ประดน จาติกวนิช ผู้บริหารศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ
รศ.สพ.ญ.ดร.อัจฉริยา ไศละสูต อาจารย์ประจำภาควิชาพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย









กำลังโหลดความคิดเห็น