ใกล้สำเร็จ! นักวิจัย มข.เดินหน้าค้นหาตัวบ่งชี้มะเร็งท่อน้ำดีจากเลือดและปัสสาวะ จ่อพัฒนาชุดตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีภาคสนาม แบบใช้ง่าย-อ่านผลง่าย-ไม่ต้องใช้หมอ ช่วยชาวอีสานกลุ่มเสี่ยงรู้ตัวก่อนมะเร็งคุกคามทันท่วงที หวังลดสถิตินักเปิบปลาร้าเสียชีวิตจากพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีปีละ 20,000 คน
ผศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ปัญหาที่น่าเป็นห่วงที่สุดของคนอีสาน คือ ปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เพราะคนอีสานมีวิถีชีวิตการกินที่ผูกพันกับปลาร้า, ปลาส้มดิบ และปลาจ่อมซึ่งเป็นอาหารที่ยังไม่ถูกปรุงให้สุก คนอีสานจึงมีความเสี่ยงต่อการได้รับไข่พยาธิหรือพยาธิเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะพยาธิใบไม้และพยาธิตัวจี้ด
ผศ.ดร.วัชรินทร์ กล่าวว่า เมื่อคนรับพยาธิเข้าสู่ร่างกายผ่านการกิน พยาธิก็จะเข้าไปอาศัยอยู่ในท่อทางเดินน้ำดี ซึ่งร่างกายจะส่งสัญญาณว่าพยาธิที่เข้ามาอยู่คือสิ่งแปลกปลอมทำให้เกิดกลไกการอักเสบ หากไม่มีการถ่ายพยาธิ หรือกินยารักษา และผู้ป่วยคนนั้นยังคงกินอาหารที่ปนเปื้อนพยาธิเข้ามาเรื่อยๆ ก็จะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อการอักเสบเพิ่มขึ้นและสะสมเรื้อรังไปเรื่อยๆ อีกประมาณ 20-30 ปี การอักเสบนั้นจะพัฒนากลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่ายากต่อการรักษาหากมะเร็งล่วงเข้าสู่ระยะท้าย ทำให้โรคมะเร็งท่อน้ำดีกลายเป็นโรคมรณะที่ทำให้ประชากรชาวอีสานเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1 คือมีผู้ป่วยเป็นมะเร็งท่อน้ำดีที่เสียชีวิตประมาณ 20,000 คนต่อปี
“ดิฉันเป็นคนอีสานแต่กำเนิดค่ะ แล้วก็รู้ดีว่ามะเร็งท่อน้ำดีนี่แทบจะเป็นโรคที่มาพร้อมกับคนอีสานเลย เพราะคนบ้านเรานิยมกินปลาร้า ปลาส้ม ตัวปลาร้าไม่ค่อยน่ากลัวเพราะหมักนานพยาธิตายหมดแล้ว ตัวที่น่ากลัวที่สุดคือปลาส้ม เพราะหมักแค่ 2-3 วันแล้วก็นำมากิน จึงไม่แปลกที่ประชากรชาวอีสานจำนวน6 ล้านคน จาก 20 ล้านคนจะเป็นกลุ่มเสี่ยงและเสียชีวิตลงปีละเกือบๆ 20,000 คน งานวิจัยที่ทำมาจึงเป็นการศึกษากลไกการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีของผู้ที่มีพยาธิใบไม้ตับซึ่งค้นพบว่าโปรตีนหรือยีนบางตัวมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง” ผศ.ดร.วัชรินทร์ กล่าว
ผศ.ดร.วัชรินทร์ เผยว่า งานวิจัยก่อนหน้าของเธอที่เป็นการศึกษากลไกการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีของผู้ที่มีพยาธิใบไม้ตับ ทำให้เธอพบกับโปรตีนและยีนบางตัวที่มีความสำคัญและนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ 2 ประการ ประการแรก คือ นำยีนมาใช้เป็นเป้าหมายในการรักษาได้ เพราะยีนตัวที่พบมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดมะเร็ง จะพบเฉพาะในเซลล์มะเร็งเท่านั้น เซลล์ปกติไม่มี จึงเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้กับการออกแบบการรักษาด้วยการให้ยายับยั้งโปรตีนที่เป็นตัวดำเนินกิจกรรมของยีนตัวดังกล่าวเพื่อจะฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะดีกว่าการรักษาในปัจจุบันที่ยาจะเข้าไปฆ่าเซลล์ปกติด้วย
ประโยชน์อีกประการ คือ เมื่อยีนนี้เกี่ยวกับการเกิดมะเร็งมันจะเพิ่มจำนวนตัวเองขึ้นตลอดระยะเวลาของการเป็นมะเร็งฉะนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่โปรตีนตัวนี้จะถูกหลั่งออกมาในเลือดหรือปัสสาวะด้วย ซึ่งประโยชน์ในข้อนี้ ผศ.ดร.วัชรินทร์ กำลังนำมาขยายผลต่อด้วยการวิจัยหาตัวบ่งชี้ว่ามีโปรตีน, สาร, หรือตัวบ่งชี้ชีวภาพอื่นๆ อะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งที่จะหลุดออกมากับเลือดและปัสสาวะ เพราะการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีที่ใช้ในปัจจุบันจะทำด้วยการอัลตร้าซาวด์ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเข้าถึงยาก มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องเดินทางไปทำยังโรงพยาบาล
“ปกติการตรวจเราก็จะใช้วิธีอัลตร้าซาวด์ค่ะ แต่คน 6 ล้านคน ไม่รู้ว่าซาวด์อีกกี่สิบปีถึงจะครบทุกคน แล้วชาวบ้านที่เขาอยู่ไกลๆ เขาก็มาตรวจไม่ได้แน่ จุดมุ่งหมายแท้ๆ ของงานวิจัยจึงเป็นการผลิตชุดตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี แบบที่ใช้ง่ายๆ อาสาสมัครก็ใช้ได้ลงไปตรวจให้กับชาวบ้าน เพราะถ้ายิ่งรู้เร็ว เขาก็มีสิทธิรักษาได้เร็ว เป็นการรักษาชีวิต เราจึงต้องทดลองอย่างหนักว่าในฉี่หรือเลือดของผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งท่อน้ำดีจะมีตัวบ่งชี้ชีวภาพอะไรบ้าง ซึ่งจากการทดลองกับผู้ป่วยเสี่ยงกว่าพันคนทำให้เราพอจะทราบแล้วว่าตัวบ่งชี้ที่เราตามหามีอะไรบ้าง แต่ก็ยังผลิตชุดตรวจไม่ได้ค่ะ ต้องทำการทดลองให้กลุ่มประชากรกว้างขึ้น และครอบคลุมในหลายๆ พื้นที่ขึ้นไปอีกก่อนจะนำไปทำเป็นชุดตรวจ และถ้ามันสำเร็จก็จะเป็นประโยชน์มากสำหรับชาวอีสาน เพราะยิ่งคัดกรองได้เร็ว ก็จะยิ่งรักษาได้อย่างทันท่วงทีและมีสิทธิ์หายได้สูงเพราะส่วนมากที่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็งท่อน้ำดีมะเร็งก็ลามไประยะสุดท้ายแล้ว” ผศ.ดร.วัชรินทร์ กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ ผศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 6นักวิจัยสตรีผู้ได้รับทุนโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ประจำปี 2558 ด้วย