โลกกำลังเดินหน้าด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างไม่มีขีดจำกัด เพื่อตอบสนองความต้องการและความสะดวกสบายของผู้ใช้งานยุคไอที ในขณะที่ผู้พัฒนาบางส่วนได้หลงลืมไปว่าในสังคมนี้ยังมี "ผู้พิการทางสายตา" ที่ต้องการนวัตกรรมขั้นพื้นฐานสำหรับการดำเนินชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป
SuperSci สัปดาห์นี้อาสาเป็นกระบอกเสียงให้ผู้พิการทางสายตา ได้สะท้อนถึงปัญหาและความต้องการทางเทคโนโลยีที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น กันที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ถ.พระราม 6 กรุงเทพมหานคร แหล่งรวมเสียงสะท้อนที่ดีที่สุดของผู้พิการทางสายตา
ปิยะณัฐ ทองมูล พนักงานชั่วคราวโรงเรียนสอนคนตาบอด กล่าวว่า ในชีวิตประจำวันของเขาจำเป็นต้องอาศัยรถโดยสารประจำทางมาทำงาน เพราะเขาเป็นเป็นผู้พิการทางสายตาไม่สามารถขับรถได้ ปัญหาสำคัญที่ต้องพบทุกวันคือการไม่รู้สายรถประจำทางที่เข้ามาจอดเทียบท่า ทำให้ต้องถามคนที่อยู่บริเวณสถานีรถประจำทางเดียวกันว่ารถที่จอดอยู่คือรถสายอะไร ซึ่งเขารู้สึกเกรงใจและเป็นภาระของผู้อื่น มากไปกว่านั้นหากบริเวณนั้นไม่มีใครอยู่เลย เขาก็จะไม่สามารถขึ้นรถได้ทำให้การเดินทางล่าช้าไปกว่าเดิม
"ถ้าเป็นป้ายที่ขึ้นประจำ ผมไม่มีปัญหาหรอกครับ เพราะก็จะมีคนที่ขึ้นรถในเวลาเดียวกันคอยบอก คอยพาขึ้น แต่ผมก็เกรงใจเขาเหมือนกัน ตอนหลังผมเลยใช้วิธีฟังเสียงเครื่องรถ เพราะรถแต่ละสายจะใช้ยี่ห้อรถต่างกันก็แก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นที่รถเยอะๆ แบบอนุสาวรีย์ชัยนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย ไปไม่ได้ รถเยอะมาก ต้องถามอย่างเดียว ผมเลยอยากให้มีเทคโนโลยีแบบรายบุคคลไปเลย ที่สามารถบอกกับเราได้ว่า รถที่กำลังมาเป็นรถสายอะไร แล้วก็ไปไหนได้ในเวลาสั้นๆ อาจจะใช้เทคโนโลยีบาร์โค้ดหรืออะไรก็ได้ ถ้ามีจะเป็นประโยชน์กับผมและคนอื่นๆ อีกมาก" ปิยะณัฐ กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
เช่นเดียวกับ นายรองสันต์ อมรเมฆพงศ์ ครูสอนคอมพิวเตอร์ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด ที่กล่าวแก่ทีมข่าวว่า ส่วนตัวเขามักใช้บริการรถแท๊กซี่สำหรับการเดินทาง มีรถแท๊กซี่เจ้าประจำที่มักว่าจ้างให้เดินทางด้วยอยู่เสมอ แต่ในบางครั้งก็จำเป็นต้องใช้แท๊กซี่ทั่วไป ซึ่งเขาไม่ทราบว่ารถแท๊กซี่จะมาเมื่อไร และคันที่กำลังเรียกเป็นรถแท๊กซี่หรือรถส่วนบุคคล ซึ่งถ้ามีแอปพลิเคชันหรือเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการได้จะเป็นสิ่งที่ดีมาก
อีกปัญหาที่นายรองสันต์สะท้อนแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ คือ ความยากลำบากในการเลือกซื้อของและสั่งอาหาร เพราะไม่ทราบว่าของที่อยู่ตรงหน้าคือสินค้าชนิดใด หรือของที่ต้องการเลือกซื้ออยู่ที่ใด ซึ่งถ้ามีโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันที่สามารถถ่ายรูปแล้วต่อสายไปยังสายด่วนที่สามารถช่วยตอบคำถามได้ก็จะช่วยเติมเต็มให้ชีวิตผู้พิการทางสายตา สามารถใช้ชีวิตอย่างมีอิสระเหมือนคนธรรมดาได้มากขึ้น
ในส่วนของ นายวีระศักดิ์ ตั้งพูลพันธุ์ ประธานสาขากรุงเทพ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เผยว่า นอกเหนือจากเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยให้ชีวิตประจำวันของคนตาบอดดีขึ้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่คนตาบอดทุกคนอยากได้ คือ ความรู้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าคนจะมีความรู้ได้จากการอ่านหนังสือ ซึ่งแน่นอนว่าคนตาบอดทำไม่ได้ ทำให้ที่ผ่านมาคนตาบอดกว่า 60% ถูกปฏิเสธการจ้างงานเพราะไม่สามารถเข้าถึงเอกสารได้ จึงอยากให้ผู้ที่มีความสามารถ ช่วยพัฒนาโปรแกรมอ่านเอกสารที่สามารถแสกนตำราเรียน หรือเอกสารราชการต่างๆ เป็นภาษาเสียงสำหรับการใช้งานในผู้พิการทางสายตา ที่นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้พิการมีความรู้มากขึ้นแล้ว ยังทำให้ผู้พิการมีอาชีพอันเป็นการลดภาระของสังคม
"ผมอยากให้คนปกติทราบว่าคนตาบอดทุกคนนั้นอยากมีความรู้ อยากช่วยเหลือตัวเอง ไม่มีใครอยากเป็นภาระ แต่ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีที่มาช่วยพวกเราจากฝีมือคนไทยมีน้อยเหลือเกิน ถ้ามีก็เป็นของต่างประเทศที่มีราคาแพงและเข้าถึงได้แค่ผู้พิการบางกลุ่ม อย่างที่เมืองนอกเขาจะมีแอปคอยบอกเลยว่าที่ๆ คุณกำลังเดืนไปคือที่ใด รอบข้างเป็นร้านขายอะไร มีอุปสรรคอะไรข้างหน้าหรือไม่ ซึ่งดีมากและผมหวังเหลือเกินว่าวันหนึ่งจะมีเทคโนโลยีดีๆ แบบนี้ในบ้านเรา ผมขอเป็นกำลังใจให้นักพัฒนาเทคโนโลยีทุกคนครับ" นายวีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์