xs
xsm
sm
md
lg

บุกเขาใหญ่ตามนักวิจัยสำรวจ "ราแมลง"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เยาวชนในโครงการถนนนักวิจัยรุ่นเยาว์ปี 2 ขะมักเขม้นกับการสำรวจหาราแมลง
บุกป่าเขาใหญ่สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ "ราแมลง" สิ่งมีชีวิตร่วมโลกขนาดจิ๋วกับเหล่านักวิทย์น้อยในโครงการถนนนักวิจัยรุ่นเยาว์ปีที่ 2 ส่วนจะสำรวจด้วยวิธีไหน? ทุลักทุเลเพียงใด? และเด็กๆ จะได้พบกับราแมลงชนิดใดบ้าง ร่วมติดตามไปพร้อมกับเรา


ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ติดตามเยาวชนในโครงการถนนนักวิจัยรุ่นเยาว์ เข้าร่วมกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีความรู้ ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ ที่ผ่านการสอบคัดเลือกจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จำนวน 50 ชีวิตมาร่วมกิจกรรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยตรงกับนักวิจัย ในช่วงเดือน ต.ค. 58 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. จ.ปทุมธานี และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
ตัวอย่างราแมลงบางส่วนที่เก็บได้จากเขาใหญ่
สำหรับไฮไลท์ของค่ายถนนนักวิจัยรุ่นเยาว์ที่พลาดไม่ได้ คือ การเดินป่าสำรวจราแมลง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ซึ่งได้นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการราแมลง สวทช.มาดำเนินกิจกรรมและกำกับการให้ความรู้ด้วยตัวเอง และเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างก็บอกแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่ารู้สึกตื่นเต้น เพราะนอกจากจะได้เห็นราแมลงของจริงที่ไม่ใช่ภาพจากหนังสือแล้ว นี่ยังถือเป็นการเดินป่าครั้งแรกของหลายๆ คน

ก่อนการสำรวจราแมลง นักวิจัย สวทช.ได้ให้ความรู้แก่เยาวชนพร้อมเทคนิคการหาราแมลงตามธรรมชาติ พร้อมแจกจ่ายอุปกรณ์การเก็บตัวอย่าง อาทิ กล่องพลาสติกเก็บราแมลง, แว่นขยายพร้อมไฟฉาย, กรรไกร, ช้อนสแตนเลส พร้อมด้วยเสื้อกันฝนและถุงกันทากเพื่อป้องกันอันตรายจากทากดูดเลือดสัตว์เจ้าถิ่นแห่งป่าเขาใหญ่ ซึ่งเยาวชนต่างก็ให้ความสนใจและปฏิบัติตามเป็นอย่างดี
แว่นขยายพร้อมไฟฉายในตัวช่วยให้เยาวชนจำแนกได้ว่าสิ่งที่ตนเองเก็บมาคือราแมลงหรือไม่
สำหรับพื้นที่เก็บราแมลงในครั้งนี้ เราจเข้าไปเก็บที่บริเวณด่านช้าง ริมถนนสายหลักอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นทางลึกเข้าไปประมาณ 800 เมตร โดยเจ้าหน้าที่ได้แบ่งเยาวชนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 25 คน เพื่อเดินสำรวจคนละเส้นทาง ก่อนจะทยอยปล่อยแถวเข้าป่าไปทีละคู่ช้าๆ เพื่อมุ่งหาราแมลงอันเป็นจุดมุ่งหมายของภารกิจสำคัญ

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์เดินสำรวจราแมลงไปพร้อมๆ กับ น้องต้นตาล ด.ช.ทวีสิน รัตนะ ร.ร.พระปฐมวิทยาลัย จ.นครปฐม และ น้องซัน ด.ช.นล สุภาสืบ ร.ร.กรุงเทพคริสเตียน ที่ต่างก็เผยว่าเป็นประสบการณ์การค้นหาราแมลงครั้งแรกในชีวิต ทั้งคู่ก้มหน้าก้มตาสำรวจราแมลงตามใต้ใบไม้และบนพื้นดินอย่างขยันขันแข็ง แต่เวลาผ่านไปนานนับครึ่งชั่วโมงก็ยังไม่มีใครพบราแมลงเลยสักตัว ประกอบกับเม็ดฝนที่ตกโปรยปรายหนักขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การทำงานในป่ายิ่งยากลำบาก

"หายากครับ ต้องตาดีมากๆ แต่ผมจะหาไปเรื่อยๆ จะพยายามพลิกใบไม้กับที่ชื้นๆ ดูเยอะๆ เพื่อเพิ่มโอกาสการเจอแบบที่พี่ๆ นักวิจัยบอก" น้องต้นตาลกล่าวแก่ทีมข่าวฯ ขณะง่วนอยู่กับการหาราแมลง ซึ่งหลังจากนั้นเขาก็ไม่ผิดหวัง เพราะได้พบกับราแมลงถึง 3 ตัว เช่นเดียวกับเพื่อนคนอื่นๆที่เริ่มพบราแมลงมากขึ้นอันสังเกตได้จากเสียงเฮของเด็กๆ ที่ดังขึ้นในป่าเป็นระลอก จนเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ต้องปรามให้ดีใจกันแบบเบาเสียงอย่างเอ็นดู เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนสัตว์ป่าชนิดอื่นอันเป็นข้อควรปฏิบัติของการเดินป่า

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจการเดินป่าเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง เยาวชนได้นำราแมลงที่สำรวจได้มารวมกัน ซึ่งก็ไม่ทำให้ใครผิดหวังเพราะเยาวชนสามารถเก็บตัวอย่างราแมลงได้มากถึง 60 ตัวอย่าง ซึ่งทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้คัดเลือกและเก็บภาพราแมลงเด่นๆ ที่มีความสำคัญและมีความสวยงามจำนวน 10 ตัวอย่างมาฝาก

ราแมลงทั้งหมดที่นำเสนอได้ผ่านการระบุชนิดพันธุ์โดย สุชาดา มงคลสัมฤทธิ์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. หรือ "อาจารย์เปิ้ล" ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญราแมลง
จิบเบลลูลา สปีชีส์ (Gibellula sp.)
จิบเบลลูลา สปีชีส์ (Gibellula sp.)
บิววาเรีย บาสเซียนา (Beauveria bassiana)
โอฟิโอคอร์ไดเซปส์ อายแรงไจเอนซีส (Ophiocordyceps irangiensis)
โอฟิโอคอร์ไดเซปส์ อายแรงไจเอนซีส (Ophiocordyceps irangiensis)
จิเบลลูลา เพอชา (Gibellula pulchra)
ไอซาเรีย สปีชีส์ (Isaria sp.)
เมตาไรเซียม สปีชีส์ (Metarhizium sp.)
ไอซาเรีย เทนนูเปส (Isaria tenuipes)
ไอซาเรีย เทนนูเปส (Isaria tenuipes)
โอฟิโอคอร์ไดเซปส์ ซูโดลอยดีไอ (Ophiocordyceps pseudoloydii)
เฮอซูเทลลา สปีชีส์ (Hirsutella sp.)
ตัวอย่างราแมลงที่เก็บได้จะถูกบรรจุไว้ในกล่องพลาสติกแยกกัน
นักวิจัยไบโอเทค ร่วมกันตรวจสอบราแมลงที่เยาวชนเก็บมาได้ว่าเป็นชนิดใดบ้าง
การหาราแมลง จะต้องใช้สมาธิ นั่ง และกวาดสายตาไปรอบๆ บริเวณที่มีความชื้นทั้งบนดินและใต้ใบไม้
เยาวชนเข้าสำรวจพื้นที่ป่าเก็บราแมลง ท่ามกลางฝนที่ตกโปรยปราย
สุชาดา มงคลสัมฤทธิ์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช.









กำลังโหลดความคิดเห็น