“ตอนเป็นนิสิตผมเรียนไม่เก่งแถมยังไม่ขยัน พอได้มาสอนเลยตั้งใจว่าจะต้องเป็นอาจารย์ที่ดี และสอนเด็กอยู่เสมอว่าอย่ากลัวคนเก่ง ให้กลัวคนขยัน พร้อมสรรหาวิธีการสอนใหม่ๆ มาใส่เข้าไปในบทเรียน เพื่อให้ลูกศิษย์ของผมได้รับความรู้ที่ดีที่สุดจากครูคนนี้ไป” ถ้อยคำหนึ่งจาก “อาจารย์นัน” ผู้เชี่ยวชาญด้านผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กมือทองของไทย ผู้ค้นพบผีเสื้อกลางคืนนามพระราชทาน ที่วันนี้เปิดโอกาสให้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สัมภาษณ์ระหว่างการลงพื้นที่สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ ณ พื้นที่ป่าเขาเขียว จ.ชลบุรี
สำหรับแวดวงการศึกษาอนุกรมวิธานของแมลง นักกีฏวิทยาส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับแมลงจำพวกด้วง, ผึ้ง, ผีเสื้อกลางวัน และผีเสื้อกลางคืนขนาดใหญ่ จนหลงลืมไปว่ายังมีแมลงอีกกลุ่มใหญ่อย่าง “ผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก” ที่แทบจะไม่มีใครศึกษา เพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับเจ้าแมลงปีกบางกลุ่มนี้ให้มากขึ้น ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงสัมภาษณ์พิเศษ “อาจารย์นัน” หรือ รศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว อาจารย์นักวิจัยหนุ่มใหญ่ ประจำภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผีเสื้อกลางคืน เพื่อบอกเล่ามุมมองเกี่ยวกับชีวิต และการทำงานของ “นักกีฏวิทยา”
นายนันทศักดิ์ ผู้ไม่เคยรู้ตัวเองว่าชอบเรียนอะไร
“คุณรู้ไหม? ตอนเด็กๆ วิทยาศาสตร์ไม่เคยอยู่ในหัวผมเลย” คำตอบปนเสียงหัวเราะกล้อมแกล้มของอาจารย์นันถูกปล่อยออกมาทันทีเมื่อทีมข่าวถามถึงความชื่นชอบวิทยาศาสตร์ในวัยเยาว์
อาจารย์นัน เล่าว่า ครั้งจำความได้ตั้งแต่เรียนชั้นประถม เขาเป็นคนชอบเรียนทุกอย่าง แต่เรียนแบบกว้างๆ และไม่รู้ว่าตัวเองสนใจวิชาใดเป็นพิเศษ จนขึ้นชั้น ม.4 ที่ต้องเลือกเรียนตามสายวิชา ก็ได้เลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ตามความถนัดที่ได้ติดตัวมาจากการเข้าค่ายอนุรักษ์ แต่สามปีในชีวิต ม.ปลาย เขาก็เริ่มรับรู้ว่าไม่ชอบการคำนวณ และไม่ถูกกับวิชาฟิสิกส์ ประกอบกับได้ซึมซับวัฒนธรรมของการเรียนชีววิทยาจนเกิดเป็นความชอบ
เมื่อถึงสนามสอบเอนทรานซ์จึงตั้งเป้าหมายเล็กๆ ว่าจะเรียนชีววิทยา ซึ่งก็ได้สมใจโดยสอบติดคณะที่เลือกเป็นอันดับ 1 และเริ่มต้นการเป็นนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี 2534
สอบได้เป็นเรื่องตลก สอบตกเป็นเรื่องธรรมดาจึงได้ F มา 9 หน่วยกิต
“ตอนที่เรียนอยู่ที่คณะวนศาสตร์ ผมได้เรียนหลายๆ ด้านโดยเฉพาะชีววิทยาป่าไม้ซึ่งเลือกเป็นสาขาวิชาเอก มีการเรียนด้านต้นไม้ในป่า, ด้านสัตว์ป่า, โรควิทยาป่าไม้ และด้านแมลงป่าไม้ ซึ่งผมชอบและค่อนข้างถนัดนะ แต่ส่วนที่ไม่ถนัดมันก็ยังไม่ถนัดอยู่ดี (หัวเราะ) แคลคูลัสกับเคมีเลยทำให้ผมได้ F มา 2 ตัว รวมๆ แล้วก็ 9 หน่วยกิต หืดขึ้นคอเลยทีเดียวกว่าจะเรียนจบ แต่ก็เป็นประสบการณ์ดีๆ ในความไม่ดี ที่ทำให้ผมเข้าใจลูกศิษย์มากขึ้น แต่ไม่ต้องติด F จะดีกว่านะ เพราะมันทำให้เกรดตอนจบ ป.ตรีของผมไปได้ดีสุดแค่ 2.39 ซึ่งมันน้อยจนแทบจะเรียน ป.โท ไม่ได้”
ถึงแม้วิชาคำนวณจะไม่ค่อยญาติดีกับเขา กลับทำให้พรสวรรค์และความสามารถด้านแมลงในตัวของนิสิตนันทศักดิ์ชัดเจนขึ้น โดยอาจารย์นัน เผยว่า การเรียนปริญญาตรีในช่วงชั้นปีที่ 3 และปีที่ 4 เป็นช่วงเวลาที่มีค่าที่สุดของเขา เพราะมีโอกาสได้ฝึกงานและรับความรู้จาก รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมด ผู้เป็นอาจารย์คนแรกที่สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนด้านแมลงของเขา
ความชอบ "แมลง" เพิ่งเด่นชัดตอนเรียนปริญญาโท
ด้วยความที่เกรดตอนจบปริญญาตรีค่อนข้างน้อย ทำให้อาจารย์นันไม่สามารถเรียนปริญญาโทได้ทันที จึงสมัครเข้าเป็นผู้ช่วยนักวิจัยให้กับ รศ.ดร.วาลุลี โรจนวงศ์ ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร ผู้เชี่ยวชาญด้านเพลี้ยอ่อน เพื่อสานต่อความชอบต่อแมลง ซึ่งประจวบเหมาะพอดีกับช่วงที่ รศ.ดร.วาลุลี ประกาศรับนิสิตชายที่มีความรู้เรื่องแมลงเพื่อช่วยงานวิจัยแมลงหางดีดซึ่งเป็นงานวิจัยร่วมทุนกับประเทศเกาหลีใต้ ทำให้อาจารย์นันได้รับโอกาสและได้ร่วมเดินทางไปทำวิจัยจนเป็นนักกีฏวิทยาเต็มตัว เพราะเป็นบัณฑิตหนึ่งในสองครจากภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ในขณะนั้นที่มีความสนใจเกี่ยวกับแมลง
วันเวลาผ่านไปเกือบ 2 ปี การทำงานอย่างขยันขันแข็งของอาจารย์นัน ทำให้ รศ.ดร.วาลุลี หมดข้อกังขาเรื่องเกรดปริญญาตรีอันน้อยนิดและเปิดโอกาสให้เรียนต่อระดับปริญญาโทควบคู่กับการทำงาน อาจารย์นันจึงได้เข้าเรียนระดับปริญญาโทด้วยสาขาวิชาเอกชีววิทยาป่าไม้เช่นเดิม แต่เพิ่มเติมมาด้วยสาขาวิชาโทกีฏวิทยา โดยมุ่งเน้นไปที่การศึกษาเกี่ยวกับ “แมลงทับขาแดง” ในป่าเต็งรัง สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา โดยมี รศ.ดร.วาลุลี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านอนุกรมวิธานที่สำคัญที่สุดในชีวิตของอาจารย์นัน จนจบการศึกษาระดับปริญญาโทในปี 2542 และเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำที่ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสนทันที
ตกกระไดพลอยโจนให้ต้องศึกษา “ผีเสื้อกลางคืน” เพราะอยากเรียนปริญญาเอก
“เหมือนโลภนะ คือจบโทแล้วแต่ใจก็อยากจะต่อเอกอีก แต่ตอนนั้น รศ.ดร.วาลุลี ท่านเกษียณอายุราชการพอดีไม่รับนิสิตแล้ว ผมจึงต้องหาอาจารย์ที่ปรึกษาท่านใหม่ ผมเลยเดินไปหา ศ.ดร.อังศุมาลย์ จันทราปัตย์ ภาควิชากีฏวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานไรศัตรูพืช ไปเรียนท่านว่าผมอยากเรียนปริญญาเอกด้านอนุกรมวิธาน ซึ่งท่านก็ใจดีมากและรับผมเป็นศิษย์แถมยังแนะนำให้ทำวิจัยเกี่ยวกับผีเสื้อหนอนม้วนใบ"
"บอกตามตรงว่าผมแทบไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับผีเสื้อขนาดเล็ก แต่ถ้าอยากเรียนปริญญาเอกก็ต้องทำเรื่องนี้ เลยเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ที่ทำให้ผมต้องมาคลุกคลีกับผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก เพราะตอนนั้นแทบไม่มีใครศึกษาผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กเลย ปัจจุบันก็เช่นกัน ผมจึงไปขอความรู้และฝากตัวเป็นศิษย์กับ อาจารย์องุ่น ลิ่ววานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก จากกรมวิชาการเกษตรด้วยคำถามคำแรกที่ไปถามอาจารย์ว่า … อาจารย์ครับทำวิจัยเรื่องหนอนผีเสื้อม้วนใบนี่มันยากไหมครับ ?” อาจารย์นันย้อนวันวานให้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ฟังด้วยสีหน้าเปื้อนสุข
ด้วยองค์ความรู้และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเรื่องผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กในไทยมีไม่เพียงพอ ศ.ดร.อังศุมาลย์ จึงได้ติดต่อไปยัง ศ.ดร.ริชาร์ด บราวน์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหนอนม้วนใบ จากมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี สหรัฐฯ ให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม ซึ่งอาจารย์นันเผยว่าได้รับโอกาสที่ดีมาก เพราะนอกจาก ศ.ดร.บราวน์ จะบินจากสหรัฐฯ มาที่ไทยเพื่อสอนเขาตั้งแต่การเก็บตัวอย่าง, การจัดตัวอย่าง, การศึกษาอวัยวะสืบพันธุ์ของหนอนม้วนใบแบบบุกป่าฝ่าดงกันถึงที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรีแล้ว การศึกษาในครั้งนี้ยังทำให้ได้เดินทางไปทำวิจัยอยู่ที่มิสซิสซิปปี สหรัฐฯ เป็นเวลา 1 ปีด้วย รวมระยะเวลาการศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ 4 ปีครึ่ง ซึ่งการวิจัยเพื่อทำปริญญาเอกทั้งหมดทำไปควบคู่กับการสอนนิสิต
เป็นคนไทยคนเดียวที่วิจัยหนอนผีเสื้อม้วนใบ
“ดูเหมือนจะเวอร์เกินไป แต่ก็จริงครับ เพราะผีเสื้อม้วนใบในไทยน่าจะมีผมคนเดียวที่ศึกษา และผีเสื้อกลางคืนก็มีคนไทยไม่กี่คนที่สนใจ เพราะส่วนใหญ่จะไปศึกษาผีเสื้อกลางวันกันซะหมด ทั้งที่ความจริงแล้วผีเสื้อกลางคืนมีมากกว่าผีเสื้อกลางวันประมาณ 10 เท่า ตอนนี้ถ้ามีใครสนใจผมก็จะเชียร์ให้มาทำวิจัยเกี่ยวกับผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก แต่ถ้าเป็นทั่วทั้งโลกแล้วนักวิจัยผีเสื้อกลางคืนก็มีอยู่หลายคน ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีน ชาวญี่ปุ่น และยุโรปบ้างประปราย ซึ่งเราก็มีเครือข่ายการวิจัยร่วมกัน บางครั้งก็มีการทำวิจัย ออกภาคสนาม เก็บตัวอย่างและตีพิมพ์วารสารวิชาการระดับนานาชาติอันเป็นหน้าที่ของนักกีฏวิทยาด้วยกันบ้าง เป็นมิตรภาพที่ดีที่เกิดขึ้นจากการทำงาน”
วิจัย VS งานสอน ชอบอะไรมากกว่ากัน ?
“ผมว่าแยกออกจากกันไม่ได้อย่างเด็ดขาด ทั้งงานวิจัยและงานสอนเป็นส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพราะตอนที่ผมเป็นนิสิตผมเรียนไม่เก่ง พอได้มาสอน ได้เป็นอาจารย์เลยตั้งใจไว้ว่าจะต้องเป็นอาจารย์ที่ดี จะทำทุกอย่างให้ลูกศิษย์เข้าใจ และผมจะชอบสอนพวกเขาว่าอย่ากลัวคนเก่ง ให้กลัวคนขยัน มิเช่นนั้นจะถูกแซง เพราะตอนเรียนผมไม่ขยัน การสอนของผมจึงเป็นการสอนให้เด็กเข้าใจง่ายๆ ด้วยการหาภาพสวยๆ ที่ถ่ายเองตอนออกภาคสนามทำวิจัย เรื่องราวที่ได้เจอระหว่างทาง หรือคลิปต่างๆ มาสอนพวกเขา เพราะตอนผมเรียนมีแต่แผ่นใส ยังมีรูปภาพแมลงสีสวยๆ ไม่มากนัก และงานวิจัยก็อยู่ในสายเลือด ทุกวันนี้ถ้ามีโอกาสผมก็ยังชอบออกป่าและพยายามให้เด็กๆ ได้ไปด้วย ให้พวกเขาได้ออกไปดูโลกข้างนอก เพราะความรู้ใหม่ๆ ที่ได้จากการวิจัย ผมก็ไม่ได้เอาไปไหน เอามาสอนให้พวกเขาอยู่ดี เลยบอกว่ามันแยกออกจากกันไม่ได้”
ออกภาคสนามบ่อยๆ มีเหตุการณ์น่าประทับใจที่อยากเล่าสู่กันฟังบ้างไหม ?
อาจารย์นัน กล่าวว่า เรื่องหวาดเสียว หรือเรื่องตื่นเต้นสำหรับเขาไม่ค่อยมี แต่มีบรรยาการการทำวิจัยที่อยากแชร์ให้ทุกคนฟัง คือมีครั้งหนึ่งผมได้ไปทำวิจัยแบบบูรณาการกับนักวิจัยคนอื่นๆ ที่มีความถนัดแตกต่างไปคนละด้าน แล้วออกเดินทางไป 2 วัน 1 คืนเพื่อไปทำวิจัย ณ ที่แห่งหนึ่งบนความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,350 เมตร แล้วไปตั้งแคมป์อยู่บนนั้นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ บนนั้นมีทั้งนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้, ด้านเกษตร, ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสัตววิทยา ซึ่งทำให้การวิจัยสิ่งๆ หนึ่งมันประสบความสำเร็จและรอบด้านมาก ซึ่งเขาอยากเห็นภาพแบบนี้มากในวงการวิจัยไทย อยากเห็นการแชร์ความรู้ การทะลายกำแพงและทิฐิที่กั้นระหว่างมหาวิทยาลัยต่างๆ ออก ซึ่งถ้าทำได้ วงการวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยจะพัฒนาได้อีกไกล
นักกีฏวิทยาต้องทำอะไรบ้างเวลาออกภาคสนาม?
อาจารย์นัน เผยว่า สถานที่ที่เดินทางไปทำวิจัยเกี่ยวกับผีเสื้อกลางคืนบ่อยที่สุด คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยจะเดินทางไปทุกๆ 2 เดือน คราวละ 4 วัน 3 คืน โดยจะทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน แบ่งเป็น ตอนกลางวัน จะสำรวจโดยการเดินไปตามถนนที่อยู่ชายป่า (เดินเทรล) เพื่อเก็บตัวอย่างหนอนผีเสื้อกลางคืน พร้อมๆ กับชนิดพืช เพราะ ปัจจุบันยังมีข้อมูลน้อยมาก ควบคู่ไปกับการถ่ายรูปแมลงต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประกอบการสอน โดยการเก็บตัวอย่างหนอนและใบพืชจะทำให้ตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าผีเสื้อชนิดนั้นๆ อาศัยอยู่ในระบบนิเวศแบบใด ซึ่งอาจนำไปสู่การจำลองสิ่งแวดล้อมเพื่อเพาะเลี้ยงต่อไปในอนาคต
ส่วนตอนกลางคืน อาจารย์นันจะตั้งกับดักแสง (Light Trap) ในป่าโดยจะผูกเปลและนั่งเฝ้าเป็นเวรยามเก็บข้อมูลอยู่ตรงนั้นผลัดกันกับนักวิจัยคนอื่นทุกๆ 2 ชั่วโมง โดยจะเลือกเก็บเฉพาะแมลงตัวที่เด่นๆ หายาก หรือยังไม่เคยเจอ เพื่อนำมาศึกษาต่อในห้องปฏิบัติการ โดยตัวเต็มวัยที่เก็บได้จะนำมาเซ็ทเพื่อเก็บไว้เป็นตัวอย่างเพื่อการศึกษา โดยตั้งใจว่าจะเก็บตัวอย่างผีเสื้อกลางคืนไปเรื่อยๆ ให้ทั่วประเทศไทย
“ผีเสื้อกลางคืนสิรินธร” ผีเสื้อสกุลใหม่นามพระราชทานคือที่สุดของความภูมิใจ
“เมื่อปี 2555 ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนชัยพัฒนา จ.จันทบุรี ร่วมกับคุณคำรณ เลียดประถม เพื่อนที่ทำงานด้านสัตว์ป่า ไปตั้งกับดักแสงอยู่ที่หน้าศาลาทรง 8 เหลี่ยมที่เคยใช้รับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แล้วคุยกันเล่นๆ ว่าถ้าหาผีเสื้อชนิดใหม่ของโลกสวยๆ ได้สักตัว แล้วนำมาตั้งชื่อเป็นพระเกียรติให้กับสมเด็จพระเทพฯ ได้คงดีไม่ใช่น้อย ซึ่งพอจบประโยคได้ไม่นานก็มีผีเสื้อตัวหนึ่งสีส้มสวยมากบินมาเกาะที่กับดัก ซึ่งผมมองครู่เดียวก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก"
"ตอนนั้นขนลุกมาก ได้แต่รีบเก็บมาศึกษาต่อในห้องปฏิบัติการ แล้วก็เป็นแบบนั้นจริงๆ แต่เหนือคาดกว่านั้นเพราะไม่ใช่แค่เป็นชนิดใหม่ของโลก (สปีชีส์) แต่ยังเป็นผีเสื้อสกุลใหม่ (Genus) ของโลกด้วย ซึ่งตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาก็ไม่เคยเก็บตัวอย่างได้อีก และการค้นพบในครั้งนั้นยังทำให้อาจารย์นันฉุกคิดถึงผีเสื้อเก่าๆ ที่เคยเก็บไว้ในคอลเลกชันที่เดินทางไปเก็บตัวอย่างที่เขานัน และสถานีวิจัยและฝึกอบรมเกษตร จ.ตราด จึงนำมาตรวจสอบซ้ำและได้พบว่าในกล่องแมลงของเขา ยังมีผีเสื้อกลางคืนชนิดใหม่ของโลกอีก 2 ชนิด"
“แมลง” คือ ส่วนหนึ่งของชีวิตแต่ไม่ใช่ทั้งหมด
“นักวิจัยบางคนบอกว่ารักงานยิ่งกว่าภรรยา แล้วสำหรับผม แมลงคืออะไร?” อาจารย์นันทวนคำถามช้าๆ ก่อนจะตอบออกมาว่า ”สำหรับผมไม่ใช่นะ แมลงมันก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มันฝังอยู่ในตัวแล้วเพราะเป็นสิ่งที่เรารักและชอบ แต่ยังไงก็ไม่มีทางสำคัญไปมากกว่าครอบครัว ครอบครัวสำหรับผมสำคัญที่สุด และที่ผมเป็นอาจารย์นันทุกวันนี้ได้ก็เพราะด้วยการสนับสนุนที่ดีจากครอบครัวและภรรยาที่น่ารัก ผมโชคดีที่มีครอบครัวที่น่ารักและเข้าใจการทำงานของผม และอย่างที่บอกคือจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ค่อยมีคนมาสานต่อ หรือสนใจการทำงานเกี่ยวกับผีเสื้อกลางคืนสักเท่าไร มันจึงเป็นสิ่งที่คอยย้ำเตือนว่าผมจะยังหยุดการค้นหาและการทำวิจัยเพียงแค่ตรงนี้ไม่ได้ ผมยังต้องเดินหน้าต่อ” รศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์